สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฟิวเจอร์สป่วนตลาดหุ้น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
รศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช



เมื่อฟิวเจอร์สหรือตราสารอนุพันธ์ทางการเงินชนิดอื่นเพิ่มอำนาจให้แก่นักเก็งกำไร

ทำให้เกิดความกังวลว่าการสร้างตราสารอนุพันธ์จะก่อให้เกิดความผันผวนแก่ตลาดหุ้นหรือไม่ จึงมีงานศึกษาหลายชิ้นที่วัดความผันผวนของราคาหุ้นเมื่อมีการสร้างตราสารอนุพันธ์ขึ้น

จนกระทั่งถึงวันนี้มีงานที่พบหลักฐานว่าตราสารอนุพันธ์อาจเพิ่มความผันผวน หรือลดความผันผวนของตราสารหลักได้ โดยมีสองทฤษฎีเป็นหลักคือ ทฤษฎีที่ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายของนักลงทุนที่มีข้อมูล และไม่มีข้อมูล พูดง่ายๆ ก็คือหากนักลงทุนที่มีข้อมูลย้ายการเทรดจากในหุ้นมาเทรดฟิวเจอร์สของหุ้น ความผันผวนของหุ้นจะลดลง เนื่องจากกลไกการกำหนดราคาเสนอซื้อแล้วเสนอขายในตลาดหุ้นจะแคบลง เนื่องจากราคาหุ้นที่ซื้อขายจะถูกกำหนดในช่วงราคาเสนอซื้อและขาย เมื่อช่วงราคาแคบลง การแกว่งตัวของราคาหุ้นก็จะอยู่ในช่วงแคบๆ นี้ด้วย ในทางตรงข้ามถ้านักลงทุนที่ไม่มีข้อมูลหรือแมงเม่าย้ายมาเทรดฟิวเจอร์สกัน ราคาหุ้นก็จะแกว่งตัวสูงขึ้นเนื่องจากช่วงราคาเสนอซื้อเสนอขายถ่างขึ้น

ในประเทศไทยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาประเด็นนี้ ล่าสุด คุณปวีณา นุชอยู่ มหาบัณฑิตของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จับประเด็นฟิวเจอร์สของหุ้น ซึ่งเริ่มซื้อขายกันในตลาด TFEX ตั้งแต่ พศ. 2549 ปัจจุบันมีปริมาณการซื้อขายกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการซื้อขายของฟิวเจอร์สในตลาด TFEX

นอกจากปริมาณการซื้อขายที่สูงแล้ว การทดสอบความผันผวนของราคาหุ้นโดยผ่านสัญญาฟิวเจอร์สของหุ้นยังมีความเหมาะสมในการทดสอบทฤษฎีที่ผมกล่าวมาข้างต้นมากกว่าสัญญาอื่นเช่น SET50 หรือโลหะ เพราะสามารถระบุนักลงทุนที่มีข้อมูลได้แน่นอน นั่นคือผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้นั่นเอง

การศึกษาของคุณปวีณาพบข้อสรุป 3 ประการคือ

หนึ่ง ความผันผวนในตลาดหุ้นลดลง ดังนั้นฟิวเจอร์สไม่ได้ป่วนตลาดหุ้น แถมยังทำให้ตลาดหุ้นสงบลงด้วย

สอง เมื่อตรวจสอบด้วยการวัดค่าเฉลี่ยของช่วงราคาเสนอซื้อเสนอขายในหุ้นก็พบว่าแคบลงด้วย

ทั้งสองหลักฐานบ่งชี้ว่าน่าจะมีการเคลื่อนย้ายของนักลงทุนที่มีข้อมูลจากตลาดหุ้นปสู่ฟิวเจอร์ส ซึ่งน่าจะเป็นข่าวดีของผู้ซื้อหุ้นและเป็นข่าวร้ายแก่บรรดา Market Maker ในตลาดฟิวเจอร์ส ปวีณาจึงได้ทดสอบการส่งผ่านข้อมูลระหว่างสองตลาดนี้ และได้ข้อสรุปสุดท้าย

สาม ไม่พบหลักฐานการส่งผ่านข้อมูลระหว่างสองตลาด อย่างไรก็ตามการทดสอบที่ใช้นั้นเป็นการใช้ข้อมูลรายวัน ดังนั้นการส่งผ่านข้อมูลอาจเกิดขึ้นแต่ในช่วงเวลาที่เร็วมาก ในตลาดที่มีประสิทธิภาพเราอาจต้องวัดกันด้วยการเปรียบเทียบข้อมูลรายนาที ซึ่งผู้ที่สนใจในประเด็นเหล่านี้สามารถขยายความได้ต่อไป

รายละเอียดงานวิจัยของคุณปวีณาสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://bit.ly/1ut4TOq


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฟิวเจอร์ส ป่วนตลาดหุ้น

view