สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คสช. กับเศรษฐกิจพอเพียง (จบ)

คสช. กับเศรษฐกิจพอเพียง (จบ)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เนื่องจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงครอบคลุมหลายด้านจากระดับบุคคลไปจนถึงระดับชาติ

และ คสช. คงอยู่ต่อไปอีกไม่นาน สิ่งที่ คสช. ทำได้คงเป็นการปูฐานในบางด้านให้แก่รัฐบาลต่อไป หาก คสช. ประสบความสำเร็จในด้านการกวาดล้างกลุ่มต่างๆ ที่กระทำความฉ้อฉลและในด้านการออกกฎเหล็กที่จะป้องกันมิให้คนฉ้อฉลชนะการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป เศรษฐกิจพอเพียงจะได้ส่วนประกอบสำคัญของฐานทางด้านคุณธรรมซึ่งมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ในช่วงเวลาเดือนกว่าที่ คสช. เข้ามาคุมอำนาจ งานทางด้านกวาดล้างดูจะคืบหน้าเป็นอย่างดี แต่ยังไม่มีอะไรบ่งชี้เกี่ยวกับงานทางด้านออกกฎเหล็กซึ่งหากทำไม่ได้เมืองไทยจะไม่มีทางหลุดพ้นจากวังวนของวงจรอุบาทว์และสุดท้ายก็จะกลายเป็นชาติล้มเหลว

เนื่องจากทหารเป็นแกนนำของ คสช. หลัง คสช. ยุติการทำงาน ทหารในฐานะฟันเฟืองสำคัญของชาติยังอยู่ต่อไป ฉะนั้น จึงขอย้ำเน้นสองงานที่ทหารควรทำได้แก่ เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่สังคมโดยเฉพาะในด้านการรักษาระเบียบวินัย และปูฐานด้านเศรษฐกิจพอเพียงให้ทหารเกณฑ์ นั่นคือ หลังจากปลูกฝังระเบียบวินัยและฝึกการใช้อาวุธให้ทหารเกณฑ์เสร็จแล้ว นายทหารควรปูฐานทางด้านการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงให้พวกเขาก่อนปลดประจำการ จะทำเช่นนั้นได้ นายทหารต้องแตกฉานในด้านแนวคิดและเชี่ยวชาญในด้านการนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

เมื่อวันศุกร์ที่แล้วเสนอข้อคิดเกี่ยวกับมาตรการทางด้านคุณธรรม หากเราจะปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจระบบตลาดเสรีที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันไปสู่แนวเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้จะพูดถึงอีก 4 ด้านอันได้แก่ ความรู้ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันและความพอประมาณ ซึ่ง คสช. อาจเริ่มปูฐานให้รัฐบาลต่อไป

ด้านความรู้เป็นเรื่องครอบจักรวาลซึ่งในยุคนี้มีฐานเป็นข่าวสารข้อมูลที่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีใหม่เอื้อให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงข่าวสารข้อมูล การเข้าถึงได้ง่ายมีข้อดี แต่มักมีปัญหาแฝงมาด้วยโดยเฉพาะเรื่องข่าวสารข้อมูลกับเยาวชนซึ่งจะต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเขายังขาดวุฒิภาวะที่จะแยกแยะและสร้างภูมิปัญญาขึ้นมาเองได้ ด้วยเหตุนี้การศึกษาจึงมีความสำคัญยิ่งขึ้น แต่แนวคิดและการจัดการศึกษาของไทยดูจะสับสนวุ่นวายจนจับต้นชนปลายไม่ถูก คสช. จะเริ่มงานทางด้านนี้อย่างไรคงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ขอฝากข้อคิดไว้สองอย่างว่า การศึกษาส่วนใหญ่มิได้เกิดขึ้นในสถาบัน หากเกิดขึ้นในบ้านและในสังคมรอบด้านของเยาวชน และปริญญาอาจมิใช่ตัวชี้วัดภูมิปัญญาและความสามารถในการประกอบสัมมาชีพ

ทุกคนรู้แล้วว่าความมีเหตุผลคืออะไรและสำคัญอย่างไร แต่ยุคนี้มีหลายอย่างที่เป็นผลลัพธ์ของความไร้เหตุผลโดยเฉพาะโครงการประชานิยม การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจและนโยบายภาคพลังงาน คสช. ได้ยกเลิกโครงการประชานิยมเลวร้ายไปบ้างแล้ว อาทิเช่น การรับจำนำข้าวซึ่งหากดำเนินต่อไปจะทำลายสังคมไทยแน่นอน แต่เท่านั้นยังไม่พอ คสช. ต้องยกเลิกอีกหลายโครงการ ในช่วงนี้ คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ารัฐวิสาหกิจตกอยู่ในสภาพถูกแร้งรุมทึ้งด้วยค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของกรรมการ ผู้บริหารและที่ปรึกษา ก่อนยุติการทำงาน คสช. ควรวางฐานการบริหารจัดการใหม่โดยกำจัดพวกแร้งให้หมดไปและไม่เปิดทางให้แต่งตั้งพวกแร้งเข้ามารุมทึ้งสมบัติของชาติอีก สำหรับภาคพลังงาน รายงานบ่งว่า คสช. กำลังพิจารณารื้อและปูฐานกันใหม่ เนื่องจากภาคนี้มีความสำคัญสูงมากและมีความไม่ชอบมาพากลจากการขายหุ้นให้เอกชนเมื่อหลายปีก่อน คสช. คงต้องสะสางให้เกิดความกระจ่างและปูฐานอย่างมั่นคงก่อนยุติการทำงาน

ทางด้านการมีภูมิคุ้มกัน บทความประจำวันที่ 13 มิถุนายนได้เสนอให้ใช้พื้นที่ทหารสร้างศูนย์ปฏิบัติภูมิปัญญาชาติไทย หากทหารเริ่มทำนำร่องในเร็ววันและยังมีความเชื่อมั่นในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การขับเคลื่อนให้เกิดภูมิคุ้มกันย่อมสำเร็จไปได้ขั้นหนึ่ง การยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวและการระดมสมองเพื่อออกแบบนโยบายในภาคนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสม นอกจากนั้น ยังควรรื้อโครงการบริหารจัดการน้ำที่จะทำด้วยเงินกู้จำนวนมหาศาลและควรเริ่มการปฏิรูปที่ดินตามแนวที่คณะกรรมการและสมัชชาปฏิรูปได้เสนอไว้

ความพอประมาณเป็นด้านเดียวที่ไม่มีอยู่ในแนวคิดเศรษฐกิจตลาดเสรีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันและเป็นเสมือนยอดที่ต่อออกไปเพื่อทำให้ระบบตลาดเสรีเหมาะสมกับสภาพของสังคมโลกที่มีทรัพยากรลดลงแต่มีคนเพิ่มขึ้น ในสภาพเช่นนี้ ระบบตลาดเสรีจะต้องยึดความพอประมาณแทนการขับเคลื่อนด้วยการบริโภคที่เพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด ความพอประมาณวางอยู่บนฐานของความจำเป็นในการดำเนินชีวิตซึ่งเรามักมองที่ปัจจัยสี่อันมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและการรักษาพยาบาล นอกเหนือจากนั้นก็มีการสื่อสาร การขนส่งและอุปกรณ์สำหรับประกอบอาชีพ ความพอประมาณอาจเกิดขึ้นได้โดยความสมัครใจและโดยการใช้แรงจูงใจจากภาครัฐ ภาพที่เราเห็นเป็นประจำย่อมชี้ชัดว่าคนส่วนใหญ่มักบริโภคเกินความจำเป็น ฉะนั้น รัฐมีบทบาทสำคัญในการจำกัดการบริโภคส่วนที่เกินความจำเป็นนั้น ในระบบตลาดเสรี ภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญเพราะมันเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าจะบริโภคสินค้าหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ คสช. ควรเริ่มระดมสมองและปูฐานเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบภาษีที่จะเน้นความสำคัญของการเก็บภาษีการบริโภคเกินความจำเป็นเพิ่มขึ้น

หวังว่าการที่หัวหน้า คสช. อ้างถึงเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีส่วนประกอบห้าด้านเป็นประจำคงมิใช่เป็นการกระทำจำพวกท่องศีลห้า นั่นคือ ท่องได้แต่มักไม่ปฏิบัติ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คสช. เศรษฐกิจพอเพียง

view