สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สะสมความพร้อม

สะสมความพร้อม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




บทเรียนความสำเร็จของเอลอน มัสก์ ที่เขียนไว้ใน “ไอทีไร้พรมแดน” ฉบับที่แล้วอาจทำให้ผู้อ่านหลายๆ ท่านแปลกใจ

ในบทบาทอันหลากหลายของเขา ทั้งโปรแกรมเมอร์ นักคิดค้น วิศวกร ฯลฯ รวมไปถึงบทบาทในการเป็นมหาเศรษฐีเพราะความสำเร็จเป็นตัวเงินของเขา

องค์ประกอบที่ผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยมีอะไรบ้าง เราจะมาหาคำตอบกันในฉบับนี้ เริ่มจากข้อแรก “ต้องกล้าทำฝันให้เป็นจริง” ซึ่งความฝันของเอลอนนั้นเกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกแห่งหนึ่งนั่นคือมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่บ่มเพาะนักธุรกิจดอทคอมมาแล้วหลายคน

เอลอนยอมทิ้งปริญญาเอกจากสแตนฟอร์ดเพื่อมาบุกเบิกเพย์พัลในวัย 28 ปี คล้ายคลึงกับเจอรี่ หยางผู้ก่อตั้งยาฮูที่เป็นศิษย์เก่าร่วมสถาบัน ซึ่งได้ความคิดริเริ่มมาจากในรั้วมหาวิทยาลัยแล้วนำมาสานต่อจนเป็นธุรกิจได้สำเร็จ

จะว่าไปแล้วความฝันของเด็กมหาวิทยาลัยนั้นมีมากมาย แต่จะมีสักกี่คนที่ทุ่มเทและเอาจริงเอาจังกับความฝันของตัวเองจนกลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้จริงๆ แต่การกล้าตามความฝันของเขานั้นต้องแลกมาด้วยการทำงานหนัก หามรุ่งหามค่ำชนิดที่แทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนตลอดสัปดาห์เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้อง

ประการที่ 2 คือการใส่ใจกับทรัพยากรมนุษย์ เพราะในยุคที่เราต้องแข่งขันกันด้วยสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ การเพิ่มมูลค่าให้บริษัทจึงขึ้นอยู่กับทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้จากบุคลากรแต่ละคนนั่นเอง ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดซับซ้อนและไม่ได้เป็นการแข่งขันในเชิงปริมาณว่ามีคนมากน้อยแค่ไหน แต่เป็นประสิทธิภาพที่ได้จากคนจำนวนเท่ากันมากกว่า

ที่สำคัญบุคลากรที่มีคุณภาพจะช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น เพราะในอดีตการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จได้สัก 70% เช่นทำสินค้า 10 ตัวแต่สำเร็จได้จริงแค่ 7 ตัวก็ถือว่าเยี่ยมยอดแล้ว

แต่ในทุกวันนี้ การปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ที่เหลืออีก 3 ตัวล้มเหลวลงไปนั้นอาจหมายถึงหายนะขององค์กรได้ทันทีเพราะการแข่งขันที่รุนแรงและฐานการตลาดที่ใหญ่กว่าในอดีตหลายเท่า สินค้าที่มีปัญหาเพียงตัวเดียวจึงอาจฉุดให้องค์กรไม่อาจฟื้นสู่สภาวะปกติได้อีกเลย

ประการที่ 3 ต้องจับสัญญาณได้เก่ง และแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นสัญญาณบวกและอะไรที่ตรงกันข้าม ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างมากมายถึงองค์กรที่จับสัญญาณได้ผิดพลาดเช่นปล่อยให้ครีเอทีฟหรือบริษัทโฆษณาชี้นำผลิตภัณฑ์ของตัวเองมากเกินไป จนได้รางวัลสร้างสรรค์โฆษณามากมาย แต่ไม่มีผู้บริโภคคนใดจดจำแบรนด์เหล่านั้นได้เลย

การทุ่มงบให้กับผลิตภัณฑ์ใดๆ โดยหลงไปกับแคมเปญต่างๆ ที่ใช้งบประมาณมหาศาลจึงไม่ใช่ทางออกของการลงทุนซึ่งต้องตอบคำถามต่อไปนี้ได้อย่างชัดเจนว่า

- จะมีผลต่อลูกค้าของเราหรือไม่ ลูกค้าจะได้รับอะไร จะเพิ่มมูลค่าให้ลูกค้าได้หรือไม่

- จะเพิ่มมูลค่าให้สินค้าหรือบริการที่เราทำหรือไม่

- สินค้าและบริการของเราที่ให้ลูกค้ามี Advantage เหนือคู่แข่งหรือไม่

ประการที่ 4 ต้องไม่ตามกระแสเท่านั้น เช่นวันนี้เรื่องทีวีมีประมูลดิจิทัลทีวีกว่า 30 ช่อง จากฟรีทีวี 5-6 ช่องกลายเป็น 40 กว่าช่อง การกระโดดเข้าใส่ธุรกิจใหม่ๆ โดยที่ยังมีฐานลูกค้าเท่าเดิมคือ เงินโฆษณาที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นจึงหมายความว่าต้องมีอีกหลายคนเจ็บตัวในธุรกิจนี้

การตามกระแสจึงไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จได้เหมือนคนที่ทำมาก่อน เพราะหากเราไม่มีจุดเด่นที่ชัดเจนใดๆ การตามกระแสโดยไม่ดูตาม้าตาเรือจึงกลายเป็นจุดสิ้นสุดของธุรกิจเราเองได้เช่นกัน

ประการสุดท้าย แม้เราจะทำธุรกิจอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤติ แต่ผมเชื่อว่าในทุกวิกฤติก็ย่อมต้องมีโอกาสเสมอหากเรามั่นใจว่ามี Core Competency เป็นของตัวเองได้ และหากเราเตรียมพร้อมได้ดี ถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องเติบโตเราก็จะมีความพร้อมสะสมไว้เพียงพอแล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สะสมความพร้อม

view