สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิรูป-ไม่นอกกรอบเสี่ยงล้มเหลวซ้ำปี49

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นสำหรับโครงสร้างของการปฏิรูปการเมือง หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวภายในสัปดาห์นี้ โดยสาระสำคัญจะอยู่ที่การตั้ง “สภาปฏิรูปการเมือง”

สำหรับโครงสร้างของสภาปฏิรูปที่มีการพูดถึงกันมาก คือ การกำหนดให้สมาชิกสภาปฏิรูปจำนวน 250 คน มาจาก 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ส่วนที่ 1 จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน โดยจะให้แต่ละจังหวัดเลือกกันให้ได้ 5 คนก่อนที่ คสช.จะเลือกให้เหลือ 1 คนต่อไป ส่วนที่ 2 อีกจำนวน 173 คน จะมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการจำนวน 10 ชุด เลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมให้ได้ชุดละ 50 คนรวมเป็น 500 คน จากนั้น คสช.จะเลือกให้เหลือ 173 คน ในขั้นตอนสุดท้าย

ขณะเดียวกัน ในสภาปฏิรูปจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคณะ ประกอบด้วย กรรมาธิการจำนวน 35 คน มีที่มาจากสมาชิกสภาปฏิรูป 20 คน คณะรัฐมนตรี 5 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5 คน และ คสช. 5 คน โดยมีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญและเสนอให้สภาปฏิรูปลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่

หากมองถึงโครงสร้างของการปฏิรูปการเมืองดังกล่าวนับว่าไม่ได้มีความแตกต่างกับ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.) เมื่อปี 2549 มากนัก เพราะในครั้งนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็เข้ามากำกับการได้มาซึ่ง ส.ส.ร.และการจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึง 3 ด้าน ดังนี้

1.คมช.มีอำนาจคัดเลือกผู้ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ 200 คน ให้เหลือ 100 คน เพื่อเป็น ส.ส.ร.

2.ประธาน คมช.มีอำนาจแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จำนวน 10 คน จากทั้งหมด 35 คน โดยส่วนที่เหลืออีก 25 คน มาจากความเห็นชอบของที่ประชุม ส.ส.ร.

3.หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ ส.ส.ร.ให้ความเห็นชอบไม่ผ่านการทำประชามติ คมช.สามารถประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อนำรัฐธรรมนูญที่เคยบังคับใช้ในอดีตมาทำการปรับปรุงและประกาศใช้ได้
จากภาพรวมของโครงสร้างสภาปฏิรูปการเมืองที่ คสช.เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้น ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าการปฏิรูปการเมืองที่กำลังทำในปัจจุบันจะสามารถสร้างความแตกต่างจากในอดีตเพื่อให้การปฏิรูปครั้งนี้มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุดได้อย่างไร


สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นผลให้การปฏิรูปการเมืองผ่านกลไกสภาปฏิรูปอาจคว้าน้ำเหลว คือ การมีอำนาจในลักษณะนามธรรมของสภาปฏิรูปเหมือนกับ ส.ส.ร.

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 รัฐธรรมนูญชั่วคราวออกแบบให้ ส.ส.ร.มีอำนาจจำกัดเฉพาะแค่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น โดยครั้งนั้น คมช.จินตนาการว่าถ้ารัฐธรรมนูญสามารถสร้างสถาบันการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาได้ รวมไปถึงการบัญญัติถ้อยคำที่เป็นการเพิ่มอำนาจประชาชนลดอำนาจฝ่ายการเมืองจะสามารถนำมาซึ่งการปฏิรูปประเทศที่แท้จริงได้

ทว่าในความจริงกับความฝันกลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ประกอบกับได้สร้างองค์กรอิสระขึ้นมามากมาย แต่มีบทเรียนให้เห็นมาแล้วว่ารัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่เสือกระดาษเท่านั้น

ปัญหาของการทำให้รัฐธรรมนูญไม่เกิดความศักดิ์สิทธิ์สมดังเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ คือ การละเว้นไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและรัฐสภา

ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 167 กำหนดให้มีกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลัง หรือการไม่เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อควบคุมการใช้งบประมาณของภาครัฐตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ก็ไม่เห็นมีใครถูกลงโทษฐานไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแม้แต่รายเดียว เป็นต้น ยังไม่นับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนไว้หลายมาตรา แต่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติกลับไม่ได้ให้ความสนใจ

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปการเมืองในเชิงปฏิบัติได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับถ้อยคำในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการมีกฎหมายระดับรองจากรัฐธรรมนูญอย่าง “พระราชบัญญัติ” ด้วย เพราะพระราชบัญญัติจะเป็นตัวกำหนดแนวทางการนำทฤษฎีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญไปแปลงให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

ถ้า คสช.ยึดรูปแบบและธรรมเนียมเดิมๆ ที่คิดว่า “รัฐธรรมนูญ คือ หัวใจการปฏิรูปการเมือง” อาจเป็นผลให้การปฏิรูปประเทศไปไม่ถึงฝั่งฝันได้ ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วจากเมื่อปี 2549

ปี 2549 คมช.ออกแบบให้ ส.ส.ร.และ สนช.แยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่ง คมช.กำหนดให้ สนช.ทำหน้าที่เฉพาะการตรากฎหมาย ส่วน ส.ส.ร.มีอำนาจแค่การตรารัฐธรรมนูญ

การให้สองสภามีความเป็นเอกเทศระหว่างกันทำให้การปฏิรูปไม่เกิดการบูรณาการเท่าที่ควร

กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ให้อำนาจแก่ ส.ส.ร.ในการเสนอกฎหมายให้ สนช.เป็นผู้พิจารณายกเว้นกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ด้วยอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.ร.ย่อมเป็นผู้ที่รู้ดีว่าควรจะมีพระราชบัญญัติหรือกฎหมายใดบ้างเพื่อให้สอดรับกับแนวทางการปฏิรูปการเมืองที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก ส.ส.ร.เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยตรงผ่านกลไกคณะกรรมาธิการที่ ส.ส.ร.ได้ตั้งขึ้นมาหลายคณะ

แต่เมื่อ คมช.ออกแบบให้ ส.ส.ร.และ สนช.ต่างคนต่างอยู่ กลายเป็นว่า ส.ส.ร.ก็ก้มหน้าทำเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ ขณะที่ สนช.ก็มุ่งพิจารณาแค่กฎหมายที่ตัวเองและรัฐบาลเป็นคนเสนอ โดยไม่ได้สอดรับกับแนวทางปฏิรูปการเมืองตามที่ ส.ส.ร.ได้รับฟังความคิดเห็นมาจากประชาชน สภาพที่เกิดขึ้นจึงไม่ต่างอะไรกับการเล่นดนตรีกันคนละทำนองจนเพลงที่เล่นออกมาฟังไม่รู้เรื่อง

ถึงที่สุดแล้วโจทย์ของการปฏิรูปในเวลานี้ ไม่ได้อยู่ที่การกำหนดโควตาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือรูปแบบของการได้มาซึ่งสมาชิกสภาปฏิรูป แต่ขึ้นอยู่กับว่า คสช.ทำให้ สนช.และ ส.ส.ร.สามารถทำงานร่วมกันเพื่อพาประเทศไปสู่การปฏิรูปโดยไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีกครั้ง

อย่าลืมว่าการเริ่มต้นที่ผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว ย่อมนำมาสู่ความล้มเหลวในบั้นปลายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิรูป ไม่นอกกรอบ เสี่ยงล้มเหลว ซ้ำปี49

view