สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

4 กูรูส่องธุรกิจไทย กลวิธีสร้างความยั่งยืนสู้ศึก AEC

จากประชาชาติธุรกิจ

หลังจากที่บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนจากหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ไทย-สหรัฐอเมริกา จัดโครงการ "ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน" ระยะที่ 1 ในปี 2556 จนประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน

จึงทำให้เกิดการสานต่อระยะที่ 2 ในปี 2557 ที่มุ่งเน้นการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ภาคธุรกิจ ด้วยวิธีการบริหารจัดการองค์กรโดยใช้หลักการลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Lean Management for Environment) และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางที่จะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันและต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน

ภายใต้การเสวนา"ดาวเคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน ปี 2" ในหัวข้อ "เตรียมพร้อมธุรกิจไทย มีชัยเหนือคู่แข่งในยุค AEC"


ทวารัฐ สูตะบุตร  
เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร    ศิริกุล เลากัยกูล   ขจรพงศ์ ภู่สิทธิกุล

การเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจไทยตอนนี้ "ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร" รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) บอกว่า ผู้ประกอบการจะต้องสร้างนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนและสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจเป็นอันดับแรกก่อน

"เนื่องจากนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนเป็นประเด็นหลักในการเชื่อมโยงธุรกิจต่างๆเพราะภาพรวมประเทศไทยใช้พลังงานปริมาณมาก เพื่อการผลิตสินค้าและบริการ คิดเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายพลังงานทุกรูปแบบเมื่อเทียบกับ GDP ประมาณ 18-19% หรือทุก 100 บาทของรายได้จะต้องจ่ายค่าพลังงานประมาณ 18-19 บาท"

"ดังนั้นเราจำเป็นต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผ่าน Big Data ซึ่งเป็นฐานรวบรวมข้อมูลและนำข้อมูลนั้นมาสื่อสารเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม"

สำหรับการบริหารจัดการต้นทุน "ดร.ทวารัฐ" บอกว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.มีความต้องการ หรือตั้งใจที่จะทำหรือไม่ 2.มีนวัตกรรมที่จะช่วยในการบริหารหรือไม่ 3.มีทีมงานหรือผู้บริหารที่ดำเนินการในเรื่องนี้หรือไม่

"สิ่งสำคัญ อยู่ที่ความสามารถในการสื่อสารให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนทั้งองค์กร ต่างหากที่สำคัญกว่าเพราะการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยคน ทั้งองค์กรเป็นตัวขับเคลื่อนในการลดต้นทุนซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของ Big Data"

เช่นเดียวกับ "ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โฟรเซสซิ่ง จำกัด ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงจากการลดต้นทุนจนส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม

"อำ พลฟูดส์ฯเป็นธุรกิจสินค้าอาหารการดำเนินธุรกิจต้องคาดหวังถึงยอดขายและผล กำไรเป็นลำดับแรก ในฐานะผู้บริหารผมก็เคยคิดเช่นนั้น แต่เมื่อผมเข้าใจถึงวิธีการบริหารจัดการโดยใช้หลักการลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ผมเห็นถึงมุมมองใหม่ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและองค์กร"

"เช่น การผลิตสินค้าในกลุ่มมะพร้าวทำให้เรามีเปลือกมะพร้าวที่ไม่สามารถใช้งาน จำนวนมากเมื่อนำวิธีการจัดการลีนมาประยุกต์ใช้จึงทำให้ผมรู้วิธีจัดการ เปลือกมะพร้าวให้กลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีประโยชน์ต่อองค์กรทั้งยังช่วย ประหยัดการใช้พลังงานขององค์กรกว่า40 ล้านบาทต่อปี"

"ผมถือว่าสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรย่อม ขึ้นอยู่กับความใส่ใจและการต่อยอดให้เกิดเป็นรูปธรรมเพราะสุดท้ายคือการ สร้างมาตรฐานความน่าเชื่อถือ และสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในอนาคต"

เมื่อองค์กรสามารถลดต้นทุนธุรกิจจนประสบความสำเร็จแล้ว "ดร.ศิริกุล เลากัยกูล" Brand Strategist and Sustainability Advisor, The Branding Consultant Co., Ltd. บอกว่า องค์กรจะต้องสร้างแบรนด์เพื่อให้สินค้าได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคด้วย

ขณะเดียวกันจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจในระยะยาวโดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ให้อยู่เหนือคู่แข่งในยุคAEC หรือ AEC Brand ซึ่งจะแบ่งเทคนิคการสร้างแบรนด์ออกเป็น 3 มิติ คือ

หนึ่ง ASEAN Brand ถือเป็นการสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจร่วมกัน โดยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับอาเซียน

สอง Country Brand โดยนำจุดแข็งมาสร้างเอกลักษณ์ให้กับธุรกิจ

สาม Business Brand หากเป็นธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) องค์กรจะต้องดึงศักยภาพมาสร้างแบรนด์ของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของคู่ค้าและผู้บริโภค ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจจะต้องสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันระดับอาเซียนและนานาชาติ

แต่สิ่งสำคัญที่สุดต่อการสร้างแบรนด์ทั้ง3มิติ "ดร.ศิริกุล" ขยายความให้ฟังเพิ่มเติมว่า องค์กรจะต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ที่จะต้องพยายามสร้างจุดเด่นให้กับแบรนด์จนเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค เพราะเป็นวิธีสร้างศักยภาพในการแข่งขันเพื่อก้าวสู่ AEC อย่างทัดเทียมประเทศคู่แข่งขันทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

นอกจากการสร้างแบรนด์ สิ่งที่จะทำให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแรงในอนาคต "ขจรพงศ์ ภู่สิทธิกุล" ผู้จัดการอาวุโส การพัฒนาด้านการค้า กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด บอกว่า องค์กรจะต้องวิเคราะห์และหาช่องทางการค้าของตลาดทั้งไทยและต่างประเทศควบคู่ไปด้วย

"หากวิเคราะห์อนาคตในปี2563คาดการณ์ว่าโลกของเราจะมีประชากรเพิ่มขึ้นรวม 7,675 ล้านคน โดยมีอายุเฉลี่ย 70 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทุกประเทศ ดังนั้นสิ่งที่เป็นกลไกในตลาดโลกจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจภาคเกษตร, อาหาร และเครื่องดื่ม"

"และสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเป็นที่ต้องการในตลาดอนาคตต้องประกอบด้วยความใหม่, สด, สะอาด และรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ รวมถึงจะต้องสร้างบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ 1.Food Safety Solution บรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่ออาหาร 2.Lightweight น้ำหนักเบา

"3.Durable ป้องกันการเสียหายของสินค้าสู่ผู้บริโภค 4.Flexible ดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ของสินค้าให้เหมาะสมกับผู้บริโภค ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าและธุรกิจภายใต้กระแสอุตสาหกรรมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันและอนาคต"

ที่สามารถตอบโจทย์ต่อการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในยุคAECอย่างมั่นคงและยั่งยืน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 4 กูรู ส่องธุรกิจไทย กลวิธีสร้างความยั่งยืน สู้ศึก AEC

view