สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

3 Demands 3 Risks

3 Demands 3 Risks

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เดือนที่แล้ว ผมได้เรียนเสนอท่านผู้อ่านในเรื่องของการจัดการกับ positions

หรือจะเรียกว่า “จัด พอร์ต” ของท่านให้ดี เพื่อเตรียมตัวรับตลาดการเงินอันได้แก่ ตลาดหุ้น ตลาดเงิน และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ผมได้แนะนำให้ท่าน long America ผมได้รับคำถามจากท่านผู้อ่านบางท่าน ได้กรุณาสอบถามผมเพิ่มเติมในทำนองว่าผม “กระทำ”ขนาดนั้นเลยหรือ ซึ่งผมได้ตอบไปว่าใช่ครับและแนะนำให้รีบลงมือไม่อย่างนั้น อาจจะพลาดโอกาสไปนะครับ

เดือนนี้ขอนำท่านผู้อ่านกลับมาในโลกของทางวิชาการสักเล็กน้อย อาจจะยากนิดหน่อยที่จะทำความเข้าใจ แต่มันจะเป็นประโยชน์มากต่อทุกๆ ท่านในการดูแลเรื่องเงินทองของตนนะครับ การบริหารเงินที่ดีเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงก็คือคุณจะมีเงินมากหรือเงินน้อย ก็สามารถบริหารจัดการได้ทั้งสิ้น ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ ผู้คนจะมองข้ามเรื่องการบริหารจัดการไป แล้วปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม ผมขอใช้โอกาสนี้ให้การแนะนำนะครับ บางท่านอาจจะทราบอยู่แล้ว ก็ขออภัยที่ต้องฉายหนังซ้ำ

ในมุมมองของผม การบริหารเงินนั้นต้องมีความเข้าใจในสองเรื่องหลักๆ เรื่องแรกคือเรื่องความเสี่ยง เรื่องที่สองคือเรื่อง Demand for Money หรือที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า อุปสงค์ของเงิน ขออนุญาตคุยเรื่อง Demand for Money ก่อน Demand for money นั้นมี 3 อย่าง คือ 1 เพื่อการจับจ่ายใช้สอย (Transaction Demand For money) 2 เพื่อการฉุกเฉิน (Precautionary Demand for money ) และ 3 เพื่อการเก็งกำไร (Speculative Demand for money)

กล่าวโดยทั่วไปบุคคลจะมีการกระจายความต้องการดังกล่าวในสัดส่วนที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับ Risk Preference ของตน และก็ไม่มีกฎตายตัวว่าจะต้องมีสัดส่วนเท่าไร ดังนั้นหากบุคคลจะมีความต้องการเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยมากก็จะมีอีกสองส่วนที่น้อยลงไป หรือในทางตรงกันข้าม หากมีความต้องการที่จะเก็งกำไรมากก็จะมีอีกสองส่วนที่น้อยลงไปเช่นกัน การจัดสรรความต้องการเงินดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับระดับของรายได้และอุปนิสัยการใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้นะครับ

ในส่วนของความเสี่ยงนั้น โดยทั่วๆ ไปพวกเราก็มีความเสี่ยงอยู่ 3 อย่างที่ต้องบริหารจัดการ คือ 1 ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง (liquidity risk) 2 ความเสี่ยงเรื่องราคา (Price Risk) 3 ความเสี่ยงเรื่องทางด้านเครดิต (Credit Risk) ความเสี่ยงทั้ง 3 อย่าง คนส่วนใหญ่จะมองข้ามไปหรือไม่ก็ดำเนินชีวิตไปแบบ “ธรรมชาติ” จนแยกแยะไม่ออกหรือไม่สามารถกำหนดลงไปได้(quantify) ว่าความเสี่ยงแต่ละอย่างมากน้อยแค่ไหน

เมื่อเรารู้จัก 3 ความต้องการและ 3 ความเสี่ยงแล้ว เราก็จะเอามาประสานกันเพื่อในการบริหารเงินของเรามีประสิทธิภาพ คำว่ามีประสิทธิภาพของผมหมายถึง มีผลตอบแทนที่พอเหมาะพอสมกับความเสี่ยงที่เราถืออยู่ ตรงนี้แหละที่ออกจะยากอยู่ เราลองมายกตัวอย่างกันเพื่อทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นนะครับ

คุณสมชายสามารถแบ่งความต้องการเงินได้เป็น ดังนี้คือ 70%เพื่อการจับจ่ายใช้สอย 20%เพื่อการเก็งกำไรและ 10%เพื่อการฉุกเฉิน เมื่อทราบดังนี้แล้วก็ต้องเอาความเสี่ยงอีก 3 ด้านมา “จับ”เพื่อที่จะได้บริหารจัดการต่อไป

ในส่วนของการจับจ่ายใช้สอยและเพื่อการฉุกเฉินซึ่งส่วนใหญ่นั้นความเสี่ยงที่สำคัญก็คือ ความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง ดังนั้นการบริหารจัดการความเลี่ยงที่ดีก็คงต้องรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในระดับสูง หากนำเงินส่วนที่กันไว้สำหรับ 2 ส่วนนี้ไปฝากเงินประเภทประจำระยะยาวเช่น 2 ปีก็คงไม่เหมาะ เพราะอาจจะทำให้ไม่ทันการณ์ในการจับจ่ายใช้สอยและเพื่อการฉุกเฉินได้ การฝากเงินไว้ในบัญชีประเภทออมทรัพย์ก็น่าจะทำให้การจัดการความเสี่ยงในส่วนนี้เหมาะสม ข้อด้อยของเรื่องนี้ก็คือผลตอบแทนก็จะต่ำถึงต่ำมาก

ในส่วนของการเก็งกำไร เราคงต้องพิจารณาความเสี่ยงทั้ง 3 ด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เป็นความเสี่ยงด้านราคา และความเสี่ยงด้านเครดิต การเก็งกำไรต้องทำไปในลักษณะที่ balancing ระหว่างความเสี่ยงด้านราคา (อัตราผลตอบแทน) และความเสี่ยงทางด้านเครดิต (การที่จะได้เงินต้นคืน) โดยทั่วไปผู้คนมักจะมองและให้ความสำคัญกับอัตราผลตอบแทนเป็นด้านหลัก ทำให้ลืมหรือมองข้ามความเป็นได้ที่จะได้เงินลงทุนคืน ดังนั้นคงต้องพิจารณาประเด็นนี้ให้ดีและรอบคอบ

ดังที่ได้เรียนไว้ข้างต้น preference ของแต่ละคนจะไม่เท่ากันหรือเหมือนกันในการ ”กระจาย” ความต้องการเงิน (Demand for Money) หากมีความต้องการด้านการเก็งกำไรมาก ก็คงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงทางด้านราคาและความเสี่ยงทางด้านเครดิตให้มาก เรื่องนี้เป็นเรื่องยากและเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มี ”ตัวช่วย” อยู่หลากหลายให้เลือก เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการ เป็นต้น

การตัดสินใจด้านการบริหารเงินโดยพิจารณา 3 Demands, 3 Risksนั้น หากทำได้จนเป็นอุปนิสัย ก็จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า ทุกๆ กรณีที่เราตัดสินใจไป ได้ตัดสินใจด้วยความรอบคอบแล้วจะได้ไม่มาเสียใจภายหลัง อย่างไรก็ตามทั้งหลายทั้งปวงก็อยู่ที่ตัวเราจะมีวินัยอยู่ในระดับไหน หากมีวินัยสูงก็น่าจะปลอดภัยนะครับ สวัสดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 3 Demands 3 Risks

view