สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จากต้มยำกุ้งสู่ ประชานิยม สัญญาณเตือนวิกฤติรอบใหม่

จากต้มยำกุ้งสู่'ประชานิยม' สัญญาณเตือนวิกฤติรอบใหม่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




 จาก"ต้มยำกุ้ง"สู่'ประชานิยม' สัญญาณเตือนวิกฤติรอบใหม่

ย้อนรอย 17 ปีวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” นักเศรษฐศาสตร์ มองเศรษฐกิจไทยเดินไกลจากอดีต แต่ห่วงการสะสมปัญหาอาจนำไปสู่วิกฤติรอบใหม่ได้ ชี้ชัด “ประชานิยม” ทำภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจอ่อนแอลง จี้แก้ปัญหาด้านอุปทานที่กัดกร่อนการเติบโต

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่ายังมองไม่เห็นสัญญาณใดๆ ที่ “บ่งชี้” ว่าเศรษฐกิจไทยจะเกิดวิกฤติขึ้นอีกครั้ง เพราะหลังจากปี 2540 มีการปรับโครงสร้างไปมาก โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แม้ว่าสหรัฐจะยกเลิกการใช้มาตรการอัดฉีดเงินหรือยกเลิกคิวอี ก็เชื่อว่าไม่กระทบ เนื่องจากสหรัฐทยอยการยกเลิก ไม่ได้ทำทันที และตลาดรับรู้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งถือว่าธปท.สามารถบริหารจัดการได้ดี

ถ้าจะเห็นก็เพียงการ “สะสมปัญหา” โดยเริ่มเห็นมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 ที่ทำให้การลงทุนภาครัฐชะงักไป อีกทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจก็ต่ำกว่าที่ควรเป็น

นอกจากนี้ยังพบว่า การอัดฉีดเงินจากภาครัฐ ยังเป็นไปเพื่อประชานิยมที่มากขึ้น ทั้ง 3 ตัวนี้ถือเป็นตัวบั่นทอนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ล้าหลัง ไม่สามารถแข่งขันกับโลกได้

“ปัญหานี้ยังสะสมต่อไปยังไม่จบ และเวลานี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าเราสะสมปัญหาต่อไปเรื่อยๆ อีกระยะ ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤติขึ้นอีกรอบ เพียงแต่วิกฤติรอบนี้จะไม่เหมือนกับตอนปี 2540”

สำหรับแนวทางแก้ปัญหา นายทนง ย้ำว่า เราควรต้องเริ่มปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตั้งแต่วันนี้ อย่างภาคการเกษตรเอง ควรต้องคิดถึงการแปลงเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร ขณะเดียวกันก็ควรลดประชากรในภาคการเกษตรลง เพราะในประเทศพัฒนาแล้ว ประชากรภาคเกษตรเขามีเพียง 5% เท่านั้น แต่เป็น 5% ที่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศได้

“เราต้องกล้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างผลผลิตที่สามารถทำให้ประเทศเติบโตขึ้นได้ ตอนนี้เราอยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ซึ่งอยู่เหนือเรา กับกลุ่มประเทศ ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา ดังนั้นเราต้องพยายามขยับตัวเอง”

นายทนง ย้ำว่า ประเทศไทย ต้องเริ่มคิดใหม่ว่า อุตสาหกรรมที่เราพอจะโต และนำหน้าโลกได้มีอะไรบ้าง อุตสาหกรรมการเกษตรอันนี้แน่นอนว่า เราควรเลิกส่งออกสินค้าในขั้นปฐมภูมิ แล้วหันมาเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกแทน

“ข้าว คือ สิ่งจำเป็นที่ทำให้เราอยู่รอดได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เรารวย คำตอบง่ายๆ คือ ไม่ต้องไปทำให้เหลือเยอะ พูดง่ายๆ คือ ไม่ต้องปลูกมาก ปลูกแค่พอกิน ที่เหลือเอาไปทำอย่างอื่น”

โฆสิตห่วงประชานิยมทำลายขีดแข่งขันไทย

ด้าน นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ บอกว่าไม่อาจพูดได้ว่าวิกฤติจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะความเสี่ยงสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยังมีอยู่เสมอ ดังนั้น ความผันผวนยังจะเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเป็นความเสี่ยงที่ภาคเอกชนต้องบริหารจัดการภายใต้ภาวะนี้

ขณะที่ผลกระทบจากนโยบายประชานิยมจะยังคงอยู่กับเศรษฐกิจไทยไปหลายปี เพราะได้ทำลายภูมิคุ้มกันและศักยภาพในการแข่งขันของไทยในระยะยาวทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ

นายโฆสิต กล่าวว่า การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไม่ใช่การลงทุนในระบบสาธารณูปโภค แต่หมายถึงการเพิ่มทักษะ ความรู้ และธรรมาภิบาลให้กับประชาชนและธุรกิจเพื่อให้มีความสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะศักยภาพคือการมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในขณะที่ประชานิยมเป็นอุปสรรคต่อการคิดปรับตัว เพราะผลิตเท่าไร รัฐบาลก็รับซื้อ

"หากเราช่วยกันไม่เรียกร้องประชานิยม ซึ่งก็ยาก เพราะมันมาจากคำว่าประชา และ นิยม แต่ ขีดเส้นใต้ว่าไม่มีประเทศใดหรอกที่สามารถป้องกันประชาชนจากความเสี่ยงทุกอย่าง ดังนั้นประชาชนต้องมีภูมิคุ้มกันตัวเอง ยิ่งมากยิ่งดี หากรัฐบาลพูดว่าชั้นดูแลได้ชั้นปกป้องได้ เค้าพูดไม่จริง เป็นไปไม่ได้ หากลดการใช้ประชานิยมจะสร้างความแข็งแรง และสู้ได้ หากยังอยู่ เอะอะก็เอางบประมาณมา ใช้ไปมาก ๆ ก็ไปต่อไม่ได้อย่างที่เคยเห็นดังนั้น หากเลิกได้ก็ดี"

ประสารชี้แรงงาน-โครงสร้างเป็นข้อจำกัด

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ มองว่า 17 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก เป็นผลจากการทำงานหนักของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังจะเห็นว่าระหว่างทางมานี้ เราสามารถผ่านพ้นเหตุอุปสรรคสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติการเงินโลกที่รุนแรง ในปี 2551 หรือแม้แต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 รวมทั้งปัญหาความไม่สงบทางการเมือง แต่เวลานี้เศรษฐกิจไทยยังถือว่ามีเสถียรภาพที่ดีพอสมควร

อย่างไรก็ตามเรื่องเศรษฐกิจการเงิน ถือเป็นเรื่องที่ดูแลเสถียรภาพในระยะสั้น ดังนั้นหากจะมองภาพเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาวแล้ว ยังต้องดูความเข้มแข็งในด้านอื่นประกอบด้วย โดยเฉพาะในด้านอุปทานของระบบเศรษฐกิจ

“ระบบการเงินจะค่อนมาทางด้านอุปสงค์ แต่หากจะดูว่าเศรษฐกิจระยะต่อไปเข้มแข็งหรือไม่ หลายอย่างค่อนไปทางด้านอุปทาน ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการ”

นายประสาร บอกด้วยว่า ความท้าทายทางด้านอุปทานของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้มีค่อนข้างมาก

“เศรษฐกิจการเงิน ช่วยดูแลได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่ทำด้านอื่นๆ ไปด้วย สักพักเศรษฐกิจการเงินก็คงแบกรับไม่ไหว เช่น แต่เดิมเราพูดถึงการส่งออกที่เติบโตได้ราว 20% แต่เวลานี้พูดกันในตัวเลขที่ต่ำกว่า 4% จะเห็นทันทีว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว แต่เหตุใดเราไม่สามารถฟื้นได้เร็วเหมือนเศรษฐกิจโลก ตรงนี้ก็เป็นตัวชี้ว่าเรามีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความท้าทายทั้งสิ้น”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ต้มยำกุ้ง ประชานิยม สัญญาณเตือน วิกฤติรอบใหม่

view