สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก่ไปใครจะดูแล

แก่ไปใครจะดูแล

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สวัสดีค่ะ ทุกวันนี้โครงสร้างสังคมไทย มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตค่อนข้างมาก

หากมองรอบๆ ตัวเรา จะพบว่าขนาดของครอบครัวมีการปรับลดลง จากเดิมที่สังคมไทยเป็นครอบครัวขนาดใหญ่อยู่กันสามรุ่นตั้งแต่ปู่ย่าตายายจนถึงรุ่นหลาน แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเป็นสังคมครอบครัวขนาดเล็กแทน โดยอยู่กันเพียงสองรุ่นคือพ่อแม่และรุ่นลูก ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่จะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุหากขาดการดูแลจากบุตรหลาน

ทั้งนี้หากมองไปข้างหน้าจะพบว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมชราภาพ (aging society) โดยสัดส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุกำลังเพิ่มอย่างรวดเร็วจาก17% ในปี 2553 เป็นเกือบสองเท่าที่ 31% ในอีก 15 ปีข้างหน้า

ปัจจุบัน ภาครัฐ มีการเตรียมพร้อมด้านสวัสดิการสังคมในวัยเกษียณให้แก่ประชาชนในหลายรูปแบบ เช่น ระบบประกันสังคม ระบบบำนาญสำหรับข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมไปถึงเบี้ยยังชีพคนชราภาพ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของระบบการออมเพื่อการชราภาพของไทย คือ ประเด็นความครอบคลุมที่ยังไม่ทั่วถึงโดยในปัจจุบันสามารถครอบคลุมเพียงแรงงานในระบบ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศ

นอกจากนี้ ปริมาณเงินออมที่อยู่ในภาคบังคับและกึ่งบังคับยังไม่พอเพียง อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มความช่วยเหลือจากภาครัฐ จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในประเทศกรีก ที่มีการขาดดุลในระบบสวัสดิการสังคมและจำเป็นต้องปรับลดในที่สุด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระผูกพันต่อภาครัฐในระยะยาวเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ประชาชนเองจะต้องให้ความสำคัญกับการออมภาคสมัครใจ เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณนอกเหนือไปจากสวัสดิการที่ได้รับจากภาครัฐ

โครงสร้างการออมของไทยในอดีต ก่อนวิกฤติการเงินต้มยำกุ้ง ประชาชนทั่วไปพึ่งพาเงินฝากธนาคารสูงกว่า 85% แม้ว่าจะเป็นการออมที่มีความมั่นคงค่อนข้างสูง แต่ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของผู้ออม เนื่องจากมูลค่าเงินออมที่ลดลงตามอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อระยะยาว (เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี) ของประเทศไทยอยู่ที่ 2.7% ต่อปี หรือมีความหมายว่า หากเราออมเงินแล้วได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า2.7% ต่อปี จะทำให้มูลค่าเงินที่แท้จริงของเราลดน้อยลง หากพิจารณาอัตราเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยจากธนาคารใหญ่ 4 แห่งของไทย (เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี) นับแต่หลังวิกฤติการเงินต้มยำกุ้งเป็นต้นมา จะอยู่ที่ราว2% ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าการออมผ่านเงินฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว จะไม่เพียงพอที่จะรักษาความมั่งคั่งของตนไว้

ทั้งนี้ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะมีสัดส่วนเงินออมที่อยู่ในรูปแบบเงินฝากธนาคาร รวมถึงตราสารหนี้ระยะสั้นในระดับต่ำกว่า 30% ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้ สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ราว20% และการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทแผนประกันชีวิต ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง และเป็นการเหลือความมั่งคั่งไว้ให้แก่ลูกหลาน จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30%

ดังนั้นภายหลังวิกฤติการเงิน ภาครัฐจึงเริ่มให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของระบบสวัสดิการสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการเพื่อวัยเกษียณ ผ่านการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนประกันสังคม ให้มีความครอบคลุมกว้างกว่าในอดีต สะท้อนภาพถึงการให้ความสำคัญในการกระตุ้นการออมในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งภาคบังคับและกึ่งบังคับ ส่งผลให้สัดส่วนการออมของประชาชนในรูปแบบเงินฝากธนาคารลดลงมาอยู่ในระดับราว 70% ในช่วงปี 2541-2546

นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นการออมภาคสมัครใจเพิ่มเติม ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เพื่อมุ่งหวังที่จะสร้างลักษณะนิสัยการออมในหลักทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อได้ โดยในปี 2546 ได้เริ่มโครงการ RMF (Retirement Mutual Fund) และโครงการ LTF (Long Term Equity Fund) ในปี 2547

ทั้งสองโครงการนับเป็นแนวทางที่สามารถกระตุ้นการออมในรูปแบบของการลงทุนระยะยาวได้อย่างสัมฤทธิผล รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนศึกษาการออมในรูปแบบอื่นเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ส่งผลให้โครงสร้างการออมของประชาชนเปลี่ยนไปโดยมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนการออมที่เป็นเงินฝากธนาคาร ลดลงมาเหลือราว 50% ในปัจจุบัน

สำหรับภาพสะท้อนจากภาคประชาชน พบว่าจำนวนประชาชนที่เริ่มการออมผ่านการลงทุนระยะยาวในกองทุน RMF และ LTF มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปีแรกที่ดำเนินโครงการที่ราว 58,500 รายสำหรับ RMF และ 42,700 รายสำหรับ LTF

จนกระทั่ง ณ สิ้นปี 2556 มียอดผู้ลงทุนใน RMF เพิ่มเป็นประมาณ 325,000 ราย และผู้ลงทุนใน LTF เพิ่มเป็นมากกว่า 700,000 ราย โดยบางรายมีการลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนมากกว่า 1 แห่งอีกด้วย

ทั้งนี้ ยอดเงินลงทุนในกองทุน RMF และ LTF รวมกัน ณ สิ้นปี 2556 คิดเป็นมูลค่ากว่า 350,000 ล้านบาท ทั้งนี้หากศึกษาข้อมูลผู้ยื่นเสียภาษีเงินได้จะพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านการลงทุนใน RMF และ LTF จะอยู่ในกลุ่มที่มีเงินได้ต่ำกว่า 1,000,000 บาท หรืออยู่ในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 99% ของผู้ที่ยื่นเสียภาษี และไม่ได้เป็นกลุ่มที่เสียภาษีเยอะ คือ รายได้ภาษีที่ได้จากกลุ่มนี้ ก็คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของรายได้ภาษีบุคคลธรรมดาทั้งหมด

ตามข้อจำกัดในปัจจุบัน ที่ภาครัฐจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการปรับเปลี่ยนสวัสดิการสังคม สำหรับวัยเกษียณที่ยังไม่เพียงพอ ทั้งในด้านความครอบคลุมและการสะสมความมั่งคั่ง ดังนั้น การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างลักษณะนิสัยการออมให้แก่ประชาชน และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างคุณภาพชีวิตวัยเกษียณที่ดี นับเป็นนโยบายภาครัฐที่ไม่ได้เสียหาย และยังน่าจะเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มาก แต่จะทำให้ภาครัฐสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐในระยะยาว

ดังนั้นการดำเนินนโยบายส่งเสริมการออมของประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออมภาคสมัครใจ จนสามารถทำให้ประชาชนให้เข้าใจถึงความสำคัญของการออมในรูปแบบต่างๆ จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบการเงินการคลังของประเทศในอนาคต


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก่ไปใครจะดูแล

view