สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฟังความ นักวิชาการ 3 ข้าง ดีไซน์ผังอำนาจโยงประชาชนถ่วงดุล

จากประชาชาติธุรกิจ

สัญญาณผ่านถ้อยแถลงของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชัดเจนแล้วว่า การยกร่าง "รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว" เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกรกฎาคม

เมื่อ "กติกาชั่วคราว" เสร็จสิ้น ก็ถึงเวลา "ผู้เล่น" ทั้งฝ่ายเหลือง-แดง ก้าวลงสู่ "สนามความคิด" (ต่าง)

เมื่อฝ่ายหนึ่งมองว่าอำนาจฝ่ายหนึ่ง "ก้าวก่าย" กลับกันอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าอำนาจอีกฝ่าย "เผด็จการ" จนสุดท้ายนำไปสู่ "เดดล็อก" ทางการเมือง-จบลงด้วยการออกมาของ "อำนาจนอกระบบ"

"ประชาชาติธุรกิจ" ถือโอกาสสนทนากับ "ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา" อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี"50 และเคยขึ้นเวที กปปส. ชำแหละโครงสร้างอำนาจฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ ซึ่งที่ผ่านมาเปรียบเสมือน "แฝดสยาม" ว่า การจัดโครงสร้างอำนาจส่วนบนของรัฐไทย พยายามจะออกแบบบนสมมติฐานว่าเราอยากจะได้รัฐบาลแบบไหน ในช่วงก่อนปี"40 เราเจอรัฐบาลไม่แข็งแรง ส.ส.ในสภาตีรวน รัฐบาลผ่านกฎหมายไม่ได้ บริหารนโยบายไม่ได้ สุดท้ายก็จบลงด้วยการยุบสภา

รัฐธรรมนูญปี"40 จึงเขียนให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง ออกแบบว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และให้พรรคสามารถบังคับบัญชา ส.ส.ได้

จุดประสงค์เพื่อให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และเมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคด้วย ก็จะสามารถบังคับบัญชา ส.ส.ได้ พรรคจึงเปรียบเสมือนเป็นบริษัท

สภาจึงไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารได้ ดังนั้นจึงมีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ระบบตรวจสอบ ถ่วงดุลเกิดขึ้นจริง จึงเกิดความคิดให้ ส.ส.ไม่สังกัดพรรคการเมืองได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถ้า ส.ส.ไม่สังกัดพรรคก็เกิดความกังวลว่าจะมี ส.ส.จำนวนมากที่ใช้ความมีชื่อเสียง เครือข่ายที่ตัวเองมีเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การขายตัวในสภา จนเป็นสภาที่ขาดความรับผิดชอบ อีกด้านหนึ่งก็กลัวรัฐบาลคอร์รัปชั่น เพื่อที่จะเอาเงินมาซื้อ ส.ส.ในการยกมือในสภาเพื่อผ่านร่างกฎหมาย อีกความคิดหนึ่งจะใช้วิธีการให้มีที่มาของ ส.ส.กลุ่มนี้มาจากกลุ่มอาชีพ โดยมีระบบการเลือกตั้งแยกตามกลุ่มอาชีพของตัวเอง เป็น ส.ส.ที่สะท้อนปัญหาและผลประโยชน์ต่าง ๆ ของกลุ่มในสัดส่วนร้อยละ 15-20 ของ ส.ส.ทั้งหมด แต่ยังมี ส.ส.ที่สังกัดพรรคอยู่ในจำนวนมากกว่า เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นที่ยอมรับ

เพราะฉะนั้น ส.ส.ที่สังกัดพรรคก็ต้องมีมาก อย่างน้อยก็ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคต้องไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้สภาถูกครอบงำ-เผด็จการเสียงข้างมาก

อย่างไรก็ตาม การมี ส.ส.ไม่สังกัดพรรค หรือมี ส.ส.จากหลายพรรค ก็จะจบลงที่การมีรัฐบาลผสม โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปส่วนมากเป็นรัฐบาลผสม เนื่องจากไม่เชื่อหลักการที่ว่า การมีรัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมากในสภาจะทำให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมก็เข้มแข็งได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่เข้มแข็ง เพราะอยู่ ๆ ไปจะทะเลาะกัน

ความจริงแล้ว รัฐธรรมนูญปี"40 ร่างไว้ค่อนข้างดี คือให้คนที่เป็นรัฐมนตรีต้องไม่เป็น ส.ส.หรือถ้าเป็น ส.ส.อยู่ ต้องออกจากการเป็น ส.ส.เพื่อที่จะให้สภาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ตรวจสอบ ถ่วงดุล แต่รัฐธรรมนูญปี"40 ที่ให้นายกรัฐมนตรีมาจากสภา และ ส.ส.มาจากพรรคการเมือง ไม่ได้ช่วยทำให้สภาทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลรัฐบาลได้จริง ๆ เพราะว่า มันมีปัญหาเรื่องนายกรัฐมนตรีสามารถควบคุมสภาผ่านพรรคการเมืองได้

ถ้าจะให้ไปไกลกว่านั้น คือให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยนายกรัฐมนตรีจะสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ได้ และสามารถสรรหาคณะรัฐมนตรีที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสภา อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีช่องว่างอยู่ดีในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย หรือสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่ผู้นำรัฐบาลจะสังกัดพรรค เนื่องจากต้องใช้ทุนมากในการหาเสียง ซึ่งแคนดิเดตที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองไม่ค่อยมี และถึงมีก็ไม่ได้รับเลือก การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาแบบนี้ได้ผลได้อย่างไร ทำไมถึงไม่กลัวว่าจะเกิดปัญหา ส.ส.ในสภาไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารได้ เพราะว่าประเพณีและวัฒนธรรมพรรคการเมืองมีความเป็นอิสระ

ส.ส.ที่เลือกตั้งโดยใช้กลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ฐานเสียงและไม่ฟังคำสั่งของพรรค ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีในพรรคของตัวเองจะเสนอกฎหมายหรือนโยบายก็ตาม แต่ถ้าเรื่องนั้นขัดผลประโยชน์ในท้องถิ่นในฐานเสียง ก็จะโหวตตรงข้ามทันที

จุดอ่อนของระบอบประธานาธิบดี จากข้อมูลการวิจัยพบว่า ถ้าผู้บริหารไม่ดี สภาจะควบคุมฝ่ายบริหารได้ยาก เพราะสภาสามารถทำได้เพียงไม่ผ่านกฎหมายที่ออกโดยสภาได้เท่านั้น แต่รัฐบาลสามารถใช้ช่องทางฝ่ายบริหารในการบริหารได้

นอกจากนี้ ในประเทศไทยระบบนี้ยังมีปัญหาที่ประชาชนเข้าใจว่าเป็นระบอบประธานาธิบดี เป็นการสร้างอำนาจให้กับรัฐบาลเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งผมคิดว่าไม่เกี่ยวกัน

เวลาจะออกแบบระบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งและสภาเข้มแข็งในการทำหน้าที่ตรวจสอบได้เหมือนกัน แต่เมื่อไรสองฝ่ายแข็งทั้งคู่ ระบบการเมืองจะหยุดชะงักทันที อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วระบบรัฐสภาเป็นระบบที่ต้องการให้สภากับรัฐบาลคุยกัน แต่บางทีคุยกันจนกระทั่งฮั้วกันก็มี

ส่วนเครื่องมือสำหรับคัดกรองนักการเมือง ในการเข้าสู่ระบบนั้น สามารถทำได้ เช่น แทนที่จะให้การหาเสียงเลือกตั้งเพียงเดือนสองเดือน ก็ทำให้กระบวนการเลือกตั้งมีระยะเวลายาวขึ้น

เริ่มจากการคัดเลือกแคนดิเดตโดยการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่เรียกว่าการจัดทำ "ไพรมารี่โหวต" โดยแคนดิเดตจะต้องให้ประชาชนได้เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์

ถ้าไม่มีคุณสมบัติที่ดีจริง ๆ ก็จะไม่ได้รับเลือก ซึ่งบางประเทศ กรมสรรพากรบังคับให้บุคคลที่จะเป็นแคนดิเดคตเปิดเผยข้อมูลรายได้และการเสียภาษีด้วย

สุดท้ายโฉมหน้าหลังจาก คสช.วางกติกาจะเป็นอย่างไรนั้น มันขึ้นอยู่กับ "แพลตฟอร์ม" การปฏิรูป ในการเข้าสู่อำนาจ ซึ่งถ้าแพลตฟอร์มดุ การเมืองจะเปลี่ยน ดังนั้นนักการเมืองจะต้องคลีน พอสมควร

ขณะที่ "ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ "สายแดง" แสดงความเห็นแบบตรงไปตรงมาว่า "ดุลอำนาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ"

เราต้องไว้ใจคนให้คนมีอำนาจ แต่ต้องไม่ทำให้คนมีอำนาจมากเกินไป สิ่งนี้เป็นฐานของประชาธิปไตย คือ ไว้ใจเสียงข้างมาก แต่ต้องไม่ให้เสียงข้างมากมาทำลายทุกคน แม้กระทั่งมาทำลายเสียงข้างมากเอง สิ่งนี้เป็นเงื่อนไข

เวลาเราบอกว่าเสียงข้างน้อยต้องได้รับการคุ้มครองด้วย มันก็คือ ไม่ใช่เสียงข้างมากทำอะไรก็ถูกหมด โดยใช้อำนาจของประชาชนจนเกินเลยไป จนกระทั่งกลับมาทำลายตัวเอง เช่น การออกกฎหมายโดยทำลายความเป็นมนุษย์หรือไม่ หรือการทำให้ถูกให้เป็นผิด ทำผิดให้เป็นถูกหรือไม่

ประชาธิปไตยมันละเลยความเป็นมนุษย์ไม่ได้ และความเป็นมนุษย์ใหญ่กว่าประชาธิปไตย ดังนั้นก็ต้องมาดูว่า จำเป็นต้องให้อำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซง เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจที่บ้าคลั่งต่อไป แต่ก็ไม่ได้หมายถึงไม่ให้อำนาจเสียงข้างมาก

ดังนั้นต้องมาคุยกันก่อนว่า ทิศทางดุลอำนาจจะทำอย่างไร จะไว้ใจผู้คน แต่ขณะเดียวกันต้องมีคนมาสกัดให้มีการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อทำให้เรามีความเป็นมนุษย์สูงขึ้นไม่ใช่มาออกแบบดุลอำนาจเพราะสนุก ให้เกิดความสลับซับซ้อน โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นพันมาตรา แต่จริง ๆ แล้ว เพื่อให้ระบบเกิดความสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกัน

ประเด็นใหญ่ คือเวลาตั้งกรอบ ข้อสังเกตแบ่งออกเป็นสองเรื่อง คือดุลอำนาจระหว่างองค์กร และดุลอำนาจภายในรัฐสภา ผมคิดว่าอำนาจระหว่างองค์กรมันแคบ เพราะมองแค่ว่าอำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการเท่านั้น

มันขาดดุลอำนาจประชาชน ผมคิดว่าเรื่องนี้ใหญ่มาก เพราะอำนาจของประชาชนเป็นอำนาจที่เป็นสถาบันมากขึ้น เช่น การเคลื่อนไหวของประชาชนบนท้องถนนปัจจุบันของกลุ่ม กปปส.หรือกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งมันก็มีช่องทางว่าจะเข้าไปสู่กฎหมายอย่างไรด้วย เพราะประชาชนกลายเป็นสถาบันทางการเมืองไปแล้ว ดังนั้น สิ่งที่เราเรียกว่าการเมืองภาคประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการตั้งคำถามกับเสียงข้างมาก มันไม่จำเป็นเสมอไปว่าเสียงข้างมากผิด แต่ว่ามันต้องมีวิธีการตั้งคำถามใหม่ ๆ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว

จริงหรือไม่ว่าสังคมเรามันอยู่กันเพียงเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย มันสะท้อนถึงความหลากหลายของสังคมจริงหรือไม่ และสังคมมีความหลากหลายมากกว่าเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยหรือไม่ เพราะบางส่วนที่อยู่ในเสียงข้างมากก็จำใจที่ต้องเลือกอยู่ตรงข้างกับฝั่งของเสียงข้างน้อย

ส่วนจะมีสองสภาหรือสภาเดียว มันขึ้นอยู่กับว่า มันไม่ใช่สภาที่คอยจับผิดเสียงข้างมาก แต่ต้องสะท้อนความหลากหลายในความหมายอื่น และต้องคานอำนาจกัน ไม่ใช่มุ่งร้ายประชาธิปไตย เพราะมันต้องไปด้วยกันและอยู่ด้วยกันได้

ด้าน "รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร" อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า "เชื้อร้าย" ที่กัดกร่อนโครงสร้างอำนาจให้ผิดเพี้ยนไปคือ "ระบบอุปถัมภ์"ส่วนจะเริ่ม "ก่อร่าง" โครงสร้างอำนาจอย่างไรนั้น "รศ.อัษฎางค์" บอกว่า ต้องเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญและลงมาในรายละเอียด เลิกไปลอกประเทศอื่นมาสักที ศึกษาค้นหาจริง ๆ ว่าจุดอ่อนและข้อบกพร่องของสังคมไทย ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม คืออะไร

เมื่อครั้งการร่างรัฐธรรมนูญปี"40 ผมเป็นกรรมการปฏิรูปการเมือง โดยคณะกรรมการปฏิรูปทำเสร็จก็โยนให้ ส.ส.ร.ซึ่งผมเป็นคนเดียวที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ร.เนื่องจากเส้นไม่ถึง

ผมคิดว่าควรศึกษาให้ละเอียด และร่างรัฐธรรมนูญแบบสั้น ๆ ยืดหยุ่นได้ เอารายละเอียดทั้งหมดมาเขียนเป็นมาตราสั้น ๆ ไม่มาก และให้รายละเอียดไปออกเป็นกฎหมายฉบับของตัวเอง เมื่อถึงเวลาแก้ก็ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาล ทำให้รัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์

ในเรื่ององค์กรอิสระ ความจริงแล้ว องค์กรอิสระ ผมตั้งไว้ว่าต้องสัมพันธ์กับประชาชน หมายความว่าต้องมีที่มายึดโยงกับประชาชน เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในระบบอุปถัมภ์เพราะฉะนั้นหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถล้างระบบอุปถัมภ์และความไม่เป็นธรรมในสังคมได้ รวมถึงการคอร์รัปชั่น และการแต่งตั้งโยกย้าย ดังนั้นองค์กรอิสระ ถ้าหลีกเลี่ยงได้ อย่างน้อยต้องยึดโยงประชาชน โดยคนที่คัดเลือกมาจากสภา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฟังความ นักวิชาการ ดีไซน์ผังอำนาจ โยงประชาชน ถ่วงดุล

view