สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มัดตราสัง นักการเมือง ขรก โกง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

“ปัญหาการทุจริต” เป็นหนึ่งในปัญหาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมจะปฏิรูปเพื่อสร้างเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อป้องกันและป้องปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ในปัจจุบันประเทศจะมีหน่วยงานหลักที่มีอำนาจพร้อมอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วก็ตาม

เมื่อไม่นานนี้ ป.ป.ช.และ คสช.เพิ่งได้ประชุมร่วมกันแบบจริงจัง โดย ป.ป.ช.นำเสนอว่าโครงสร้างการทุจริตมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น หลังจากพบว่ามีลักษณะเป็นการทุจริตข้ามชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการมีเอกชนในต่างประเทศให้ความร่วมมือกับการทุจริต ซึ่งยากต่อการหาหลักฐานเอาผิด

เหนืออื่นใด กฎหมายหลายฉบับไม่ทันสมัย มีกฎหมายที่เอื้อต่อการทำทุจริตระยะยาว และกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองพยานยังไม่เข้มแข็ง ทำให้การดำเนินคดีขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตดำเนินการล่าช้า ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกับการถูกลงโทษ

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.เสนอต่อ คสช.ว่าต้องหากลไกใหม่ๆ เพื่อให้สามารถไล่จับผู้กระทำผิดได้ทัน ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม

สำหรับโรดแมปหลักที่ ป.ป.ช.ต้องการให้ คสช.นำไปแปรเป็นกฎหมายเพื่อให้สภานิติบัญญัติและสภาปฏิรูปการเมืองดำเนินการให้เป็นรูปธรรม คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556-2560) ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ประการด้วยกัน

1.ปลุกจิตสำนึกการต่อต้านการทุจริต เน้นการปรับเปลี่ยนฐานความคิดของคนในทุกภาคส่วนในการรักษาประโยชน์สาธารณะ

2.บูรณาการทำงานของหน่วยงานในการต่อต้านการทุจริตและพัฒนาเครือข่ายในประเทศ

3.พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรต่อต้านการทุจริตและเครือข่ายระหว่างประเทศ

4.พัฒนาระบบบริหารและเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

5.เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการต่อต้านการทุจริตให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ตาม การทำงานของ ป.ป.ช.ในเวลานี้ไม่ได้มีลักษณะตั้งรับที่รอเครื่องใหม่หรือก้มหน้าพิจารณาคดีการทุจริตที่ค้างอยู่ในสารบบเพียงอย่างเดียว เพราะอีกด้านหนึ่ง ป.ป.ช.ได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายรุกเพื่อใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่ในปัจจุบันลงมือล้างบางการทุจริตอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ดังจะเห็นได้จากการเตรียมออก “ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดจำนวนเงินและมูลค่าทรัพย์สินในการทำธุรกรรมที่ต้องรายงานต่อ ป.ป.ช.”

สถานะของประกาศฉบับดังกล่าวนั้นยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่วมกันระหว่าง ป.ป.ช. หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ซึ่งฉบับร่างของประกาศดังกล่าวระบุถึงหลักการและเหตุผลไว้โดยสังเขปว่า “เพื่อให้การตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง โดยเฉพาะผู้มีอำนาจหน้าที่ในทางการบริหาร บรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย...

...จึงมีความจำเป็นต้องมีการตรวจสอบความเคลื่อนไหวในการทำธุรกรรมของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลในการทำธุรกรรมทางการเงินหรือทรัพย์สิน”

ทั้งนี้ ถ้ามีการประกาศใช้ประกาศฉบับนี้ออกมาเมื่อไหร่ จะก่อให้เกิดสภาพบังคับให้สถาบันการเงินและสำนักงานที่ดิน ต้องรายงานการทำธุรกรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เข้าข่ายตามประกาศต่อ ป.ป.ช.ทันที

รายการและมูลค่าของการทำธุรกรรมที่หน่วยงานดังกล่าวต้องส่งให้ ป.ป.ช.นั้น ป.ป.ช.กำหนดไว้เบื้องต้น ได้แก่ 1.เงินสด 5 แสนบาทขึ้นไป 2.การโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 1 แสนบาทขึ้นไป 3.อสังหาริมทรัพย์ 1 ล้านบาทขึ้นไป 4.สังหาริมทรัพย์ 5 แสนบาทขึ้นไป 5.สังหาริมทรัพย์ที่เป็นการโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 1 แสนบาทขึ้นไป

กระนั้น แม้ว่า ป.ป.ช.จะมีอำนาจออกประกาศได้โดยสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ 2554) แต่ใช่ว่าการจะทำให้ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะเป็นไปอย่างราบรื่น หลังจากมีเสียงท้วงติงจากการประชุมร่วมกันระหว่าง ป.ป.ช.และสถาบันการเงินเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมี 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

การออกประกาศฉบับนี้จะเป็นการทำงานทับซ้อนกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทั้งๆ ที่ปกติสถาบันการเงินต้องรายงานการทำธุรกรรมของบุคคลต่อ ป.ป.ง.อยู่แล้ว

หาก ป.ป.ช.ไปกำหนดสภาพบังคับใช้ให้ต้องรายงานการทำธุรกรรมทั้งหมดที่มีมูลค่าเข้าข่ายตามประกาศมายัง ป.ป.ช. จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับสถาบันการเงินโดยไม่จำเป็น เพราะถึง ป.ป.ช.ไม่มีประกาศฉบับนี้ออกมา ทางสถาบันการเงินก็ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.เป็นรายกรณีอยู่แล้ว

การไปกำหนดมูลค่าของการทำธุรกรรมที่ต้องรายงานต่อ ป.ป.ช.ให้มีจำนวนที่ต่ำนั้น อีกด้านหนึ่งจะเป็นภาระในการทำงานของ ป.ป.ช.เองที่ต้องไปตรวจสอบความผิดปกติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลให้เกิดการทำงานที่ล่าช้าเข้าไปอีก

ปริมาณการตรวจสอบการทำธุรกรรมไม่สำคัญเท่ากับว่าเมื่อสถาบันทางการเงินได้ส่งรายงานไปแล้วทางหน่วยงานภาครัฐได้ไปดำเนินการต่ออย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (FATF : Finance Action Task Force) ได้ถามมายังประเทศไทยหลายครั้ง

จากข้อคิดเห็นของสถาบันการเงินที่ออกมาเป็นผลให้ ป.ป.ช.ต้องกลับมาทบทวนและชะลอการประกาศใช้ประกาศดังกล่าวออกไปเบื้องต้น 3 เดือน เพื่อขอนัดประชุมกับสถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกันอีก

ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าจะมีข้อท้วงติงอย่างไรก็คงไม่สามารถยับยั้งความพยายามของ ป.ป.ช.ได้ เพียงแต่อาจปรับปรุงในรายละเอียดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะ ป.ป.ช.เชื่อว่าประกาศฉบับนี้มีความสำคัญต่อการควบคุมไม่ให้การทุจริตขยายวงไปมากกว่านี้อีก โดยเฉพาะการควบคุมไม่ให้นักการเมืองในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐกล้าลองของลงมือทุจริตอีก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มัดตราสัง นักการเมือง ขรก โกง

view