สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สอบ-หัวรถจักร-สะท้านรถไฟฯ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์

การเข้าไปตรวจสอบโครงการจัดซื้อหัวรถจักรและตู้รถโดยสาร มูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาทโดยคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) น่าจะสร้างความหนักใจให้กับผู้บริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ไม่น้อย

เพราะนั่นจะส่งผลให้การจัดซื้อหัวรถจักรใหม่และตู้โดยสารต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด

"ร.ฟ.ท.มีหัวรถจักรประมาณ 160 หัว มี 3 ยี่ห้อหลัก คือ อัสตรอม จีอี และฮิตาชิ ส่วนใหญ่มีสภาพการใช้งาน 70-80% มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 40 ปีและตอนนี้อะไหล่บางตัวก็หาไม่ได้แล้ว" ประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ให้สัมภาษณ์ต้นเดือน มิ.ย.หลังมีการเผยแพร่คลิป "การรถไฟไม่เคยเปลี่ยนแปลง"

ทว่าความต้องการซื้อหัวรถจักรและตู้โบกี้รถไฟ ซึ่งแม้ว่าจะมีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับ ร.ฟ.ท. แต่กลับถูก คตร.ตั้งข้อสงสัยว่าการจัดซื้อจัดว่าอาจเกี่ยวพันกับการทุจริต การตรวจสอบเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับองค์กรสนธยาแห่งนี้ ที่บรรดานักการเมืองต่างเข้าไปล้วงลูกหาประโยชน์ทุกยุค

ที่สำคัญประเด็นที่ คตร.ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของ ร.ฟ.ท. 2 โครงการ จนถึงขั้นต้องจัดชั้นไว้ใน 8 โครงการเร่งด่วนที่ต้องได้รับการตรวจสอบก็ต้องยอมรับว่ามีมูลอยู่ไม่น้อย

อย่างโครงการจัดหารถรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ (ตู้รถโดยสาร อาทิ ตู้รถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 (นอน-นั่ง) 9 คัน ตู้รถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 (นั่ง) 88 คัน ตู้เสบียงบริการอาหาร 9 คัน และตู้รถผลิตไฟฟ้าไฟฟ้า 9 คัน) รวมทั้งสิ้น 115 คัน วงเงิน 4,981 ล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.คัดเลือกผู้ชนะการประมูลเรียบร้อยแล้ว แต่ยังกลับไม่มีการเซ็นสัญญาจัดซื้อแต่อย่างใดแม้ล่วงเลยมาหลายเดือนแล้ว

เนื่องจากมีเงื่อนปมสำคัญที่ทำให้การลงนามในสัญญาเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะกลุ่มบริษัทที่ชนะการประมูล คือ กิจการร่วมค้าบีบีซี ซึ่งประกอบด้วยบริษัท เขาหลักแบมบู ออคิด บริษัท ร่วมมิตรเหมืองแร่ และบริษัท ไชน่า เรียลเวย์ คอนสตรัคชั่นพบว่าบางบริษัทมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติ นอกเหนือจากข้อสังเกตที่ว่าราคากลางที่สูงเกินจริงหรือไม่

"ก่อนหน้านี้มีการตรวจสอบสถานะทางการเงินของกลุ่มบริษัทที่ชนะการประมูล และพบว่าบริษัทต่างชาติจากจีนที่อยู่ในกิจการร่วมค้าบีบีซี เคยยื่นขอฟื้นฟูกิจการกับรัฐบาลจีน แต่รัฐบาลจีนไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่าบริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินกิจการของตัวเองได้ เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบสัญญาพบว่า มีเรื่องนี้ด้วยจึงทำหนังสือท้วงติงไปที่บอร์ด ร.ฟ.ท. ให้ตรวจสอบสถานะบริษัท ทำให้การเซ็นสัญญาเลื่อนออกไปล่วงเลยออกไปจนถึงทุกวันนี้"แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. เผย

เช่นเดียวกับโครงการจัดหารถจักร (หัวรถจักร)จำนวน 126 คัน มูลค่ารวม 1.17 หมื่นล้านบาทก็มีประเด็นที่ส่อไปในทางมิชอบเช่นกัน

นั่นเพราะแผนการจัดหาหัวรถจักรดังกล่าวแบ่งการจัดซื้อจัดจ้างเป็น 3 ล็อตใหญ่ คือ 1.การจัดซื้อหัวรถจักรล็อตแรก 20 หัว ขนาด 20 ตัน/เพลา 1,916 ล้านบาท 2.การจัดซื้อหัวจักรล็อตที่สอง 50 คัน 6,562 ล้านบาท ขนาด 16 ตัน/เพลา และ 3.ทางเลือกในการซ่อมแซมหัวรถจักรเก่า 56 คัน หรือไม่ก็เปลี่ยนเป็นการซื้อหัวรถจักรใหม่ 40 หัว วงเงิน 3,300 ล้านบาท

แต่เงื่อนปัญหาที่เกิดขึ้นต้องเริ่มต้นที่การประมูลหัวรถจักรล็อตแรก 20 คัน ซึ่งกำหนดราคากลางไว้ที่ 165 ล้านบาทต่อหัว แต่บริษัทที่ชนะการประมูล คือ บริษัทป่าไม้สันติ เสนอราคา 96 ล้านบาท/หัว ในขณะที่บางบริษัทเสนอราคาเพียง 65 ล้านบาท/หัว

สะท้อนให้เห็นว่าเหตุใดราคากลางที่ ร.ฟ.ท.กำหนดจึงสูงลิบลิ่วเมื่อเทียบกับราคาที่เอกชนประมูลได้เกือบเท่าตัว

ในขณะที่การประมูลหัวรถจักรล็อตที่สอง 50 คันที่มีขนาดเพลารับน้ำหนักน้อยกว่าการจัดซื้อล็อตแรกซึ่งอยู่ระหว่างขายซองประมูล ทาง ร.ฟ.ท.กำหนดราคากลางสูงถึง 133 ล้านบาท/หัว ซึ่งถือว่าแพง

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการพ่วงเงื่อนไขในทีโออาร์ว่าบริษัทที่ชนะการประมูล มีสิทธิพิเศษในการจัดหาหัวรถจักรอีก 7 หัว มูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมเป็นโครงการภายใต้โปรเจกต์บาร์เตอร์เทรด ลำไย-ข้าวแลกหัวรถจักรจากจีน ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแต่ต้องล้มเลิกโครงการไปก่อนหน้านี้ เพราะฝ่ายไทยและจีนตกลงกันไม่ได้

เท่ากับว่าบริษัทที่ชนะประมูลหัวรถจักรล็อตที่สองจะได้สิทธิจัดหารถจักร 50 หัว พ่วงหัวรถจักร 7 หัวมูลค่ารวมสูงถึง 7,500 ล้านบาท

ส่วนการซ่อมแซมหัวรถจักรเก่า 56 คัน ก็ยังมีประเด็นที่ยังไม่ตกผลึก เพราะผลการศึกษาของ ร.ฟ.ท.ชี้ว่าหากลงเงิน 3,300 ล้านบาท ซ่อมแซมหัวรถจักรเก่าดังกล่าว ประสิทธิภาพการใช้งานจะอยู่ที่ 70-80%เท่านั้น จึงมีการเสนอทางเลือกให้จัดซื้อหัวรถจักรใหม่40 หัว ภายใต้วงเงินเดิม แต่โครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของบอร์ด ร.ฟ.ท. ทำให้ คตร.ต้องเข้าไปตรวจสอบความคุ้มค่าในแต่ละทางเลือกและตรวจสอบว่าราคากลางเหมาะสมหรือไม่

การที่ คตร.เข้าไปตรวจสอบความสมเหตุสมผลและความคุ้มค่าในการจัดซื้อจัดจ้าง 2 โครงการใหญ่ของ ร.ฟ.ท.จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีเหตุผล เพราะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกวาดขยะที่ซุกอยู่ใต้พรมในองค์กรแห่งนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สอบ หัวรถจักร สะท้านรถไฟฯ

view