สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สู่ยุคแห่งความยั่งยืน : บทเรียนจากกรณีไทยตกไป Tier 3 List

สู่ยุคแห่งความยั่งยืน : บทเรียนจากกรณีไทยตกไป Tier 3 List

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ข่าวใหญ่ที่กระทบบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทในเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา หนีไม่พ้นข่าวกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ

ลดอันดับไทยจาก Tier 2 Watch List ไป Tier 3 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2557 ซึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณะในวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2557

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ไทยเป็นทั้ง ต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านของการค้ามนุษย์ การค้าประเวณี และการบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะภาคประมง มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าวอย่างรุนแรง - ประเด็นหลังนี้มีซีรีส์ข่าวสืบสวนสอบสวนยอดเยี่ยมจาก เดอะ การ์เดียน สื่อดังของอังกฤษ ซึ่งเผยแพร่ก่อนหน้ารายงานฉบับนี้ไม่ถึงสองสัปดาห์ เป็นเครื่องยืนยันถึงความโหดร้ายทารุณก่อนและหลังลงเรือ (http://www.theguardian.com/global-development/2014/jun/10/-sp-migrant-workers-new-life-enslaved-thai-fishing)

Tier 3 เป็นระดับที่ต่ำที่สุด เทียบเท่ากับเกาหลีเหนือ อิหร่าน มาเลเซีย รัสเซีย และซิมบับเว

คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า การประกาศลดชั้นของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้เป็นหนึ่งในมาตรการตอบโต้รัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ในความเป็นจริง ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกลดชั้นในปีนี้อยู่แล้ว เนื่องจากถูกสหรัฐจัดให้อยู่ในกลุ่ม Tier 2 Watch List หรือกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเรื่องนี้เป็นพิเศษมาสามปีติดต่อกัน คือตั้งแต่ปี 2553, 2554 และ 2555 และถูกทางการสหรัฐเตือนตลอดมาว่า รัฐไทยยังไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลขั้นต่ำว่าด้วยการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์

ยกตัวอย่างเช่น กลางปี 2556 ผู้แทนเอกอัครราชทูตประจำสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา กล่าวหลังเข้าหารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน ตามเนื้อข่าวหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ว่า “รู้สึกเป็นห่วงเรื่องการยึดพาสปอร์ตและหักเงินค่าจ้างแรงงานต่างด้าวในกิจการประเภทต่างๆ เพื่อจ่ายเป็นค่านายหน้าในการเข้าทำงานในไทย และยังย้ำว่าไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องการลงโทษทางกฎหมายกับนายจ้างที่กระทำผิดเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งยังเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่เข้มงวดเพียงพอ ทำให้นายจ้างไม่เกรงกลัว”

การไม่เคย “เอาจริง” ในเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากสถิติการจับกุมคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในประเทศไทย โดยในปี 2553 ตำรวจจับกุมสอบสวน 70 คดี มีการพิพากษาผู้กระทำความผิดฐานการค้ามนุษย์จำนวน 79 ราย ส่วนในปี 2554 ตำรวจจับกุมสอบสวนคดีค้ามนุษย์รวม 83 คดี ในจำนวนนี้ 67 คดี เป็นคดีค้าผู้หญิงเพื่อธุรกิจทางเพศ มีเพียง 16 คดี ที่เป็นคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มีผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการค้ามนุษย์ในชั้นศาล 67 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

การค้ามนุษย์มักจะเป็นต้นธารของการกดขี่ทารุณแรงงานต่างด้าว เนื่องจากแรงงานเหล่านี้เมื่อต้องอดทนทำงานใช้หนี้ค่านายหน้า ประกอบกับมีสถานะผิดกฎหมาย ก็ย่อมไร้ซึ่งอำนาจการต่อรองใดๆ ยังไม่นับปัญหาซับซ้อนอื่นๆ ที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายค้ามนุษย์อย่างจริงจังเต็มไปด้วยอุปสรรค โดยเฉพาะในธุรกิจประมง เช่น การเปลี่ยนถ่ายหรือซื้อตัวแรงงานกันกลางทะเล เรือประมงไปแอบจับปลาในน่านน้ำเพื่อนบ้าน การโยนศพแรงงานทิ้งลงทะเล ฯลฯ

ลักษณะและความซับซ้อนของปัญหาเช่นนี้ แปลว่ายากยิ่งที่ประเทศไทยจะแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการกดขี่ทารุณแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจัง ถ้าหากปราศจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ตั้งแต่รัฐ เอกชน และเอ็นจีโอด้านแรงงาน

ตลอดระยะเวลา 8 เดือนในปี 2556-2557 ผู้เขียนได้มีโอกาสทำวิจัยเรื่อง การจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่นในจังหวัดสงขลา ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยของบริษัท ป่าสาละ จำกัด โดยได้รับทุนวิจัยจากองค์กรอ็อกซแฟม สหราชอาณาจักร (อ่านสรุปผลการวิจัยได้จากเว็บไซต์ของบริษัท - http://www.salforest.com/knowledge/trashfish-research-aug)

งานวิจัยครั้งนี้ไม่ได้ศึกษาสถานการณ์การค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงาน แต่ก็ได้ข้อมูลจากผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนบนแพปลาว่า การกระทำดังกล่าวทุกวันนี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวงการ บางคนเล่าว่า มีตำรวจที่คอยจับคนเขมรที่เข้าเมืองผิดกฎหมายไปขังคุก พอถึงคราวเรือประมงจะออกจากท่าก็จะมา “ซื้อตัว” แรงงานเหล่านี้ไปในสนนราคาหัวละราว 20,000 บาท

แน่นอน การกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งไทยและเทศนี้ไม่ได้เกิดกับเรือประมงทุกลำ และไม่ใช่ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งจะมีปัญหานี้ทุกล็อตทุกราย (ผลผลิตประมงเป็นวัตถุดิบหลักอย่างหนึ่งในการผลิตส่วนผสมอาหารสัตว์ เช่น ปลาป่น ซึ่งนำไปผสมเป็นอาหารสัตว์ขายต่อให้กับผู้ผลิตอาหารทะเลอีกที ฉะนั้น ปัญหานี้จึงเกิดในระดับ “คู่ค้าของคู่ค้า” ของบริษัทส่งออก) เจ้าหน้าที่กรมประมงเคยประเมินให้ผู้เขียนฟังว่า เรือประมงที่ใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายนั้นอาจมีไม่เกิน 1,000-1,500 ลำ จากเรือประมงทั้งหมดกว่า 58,000 ลำ

แต่เนื่องจากปัญหานี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าเรือประมงที่เกี่ยวข้องจะมีสัดส่วนน้อยเพียงใดก็ต้องแก้ไขให้ได้ ยังไม่นับปัญหาละเมิดสิทธิที่เกิดในโรงงานต่างๆ บนบก ตลอดสายห่วงโซ่อุปทาน

การเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนั้น ถูกบรรจุอยู่ในหลัก “ความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน” ของบริษัทผู้ซื้ออาหารรายใหญ่แทบทุกรายในโลก อาทิ วอลมาร์ท โฮลฟู้ดส์ และคอสท์โกในสหรัฐอเมริกา และที่ต้องบรรจุไว้ก็เพราะลูกค้าของบริษัทใส่ใจและตรวจสอบความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทเหล่านี้จะประกาศว่าเป็นกังวลต่อสถานการณ์ในไทย แต่ละบริษัทย่อมอยากให้บริษัทผู้ผลิตในไทยที่เป็นคู่ค้า สามารถแสดงหลักฐานต่างๆ ที่น่าเชื่อถือว่า ห่วงโซ่อุปทานของตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกดขี่แรงงานต่างด้าว

และจึงไม่น่าแปลกใจเช่นกันที่ข่าวนี้จะส่งผลให้หุ้นของบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ตกลงกว่า 4-5% ในวันที่ 23 และ 24 มิถุนายน 2557 หรือสองวันแรกที่ตลาดหุ้นเปิดทำการหลังจากที่สหรัฐออกรายงาน

ถึงแม้บริษัทเอกชนบางรายและหน่วยงานรัฐบางหน่วยจะยังตั้งป้อมปฏิเสธท่าเดียว ปีที่แล้วคือ 2556 สื่อบางรายถึงกับมองว่า “ปัญหา...ไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทยทำผิดกฎหมายค้ามนุษย์ แต่อยู่ที่เราไม่มีการสื่อสารข้อมูลในมิติที่ดีๆ ออกสู่ออกไปสู่ประชาคมโลกมากพอ” หน่วยงานรัฐบางหน่วยและภาคเอกชนบางบริษัทก็กำลังปรับตัวไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ต้นเดือนกรกฎาคม 2557 กระทรวงแรงงานประกาศว่ากำลังจับมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ปรับปรุงสภาพการทำงานในโรงงานผลิตอาหารทะเล 200 แห่งทั่วประเทศ ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยก็ออกแถลงการณ์ว่าจะจับมือกับรัฐและเอ็นจีโอด้านแรงงาน เพื่อบังคับใช้หลักปฏิบัติด้านแรงงานอย่างจริงจัง

ผู้เขียนหวังว่ากรณีนี้จะเป็นก้าวสำคัญสู่ยุคใหม่ ยุคแห่ง “ธุรกิจที่ยั่งยืน” ที่แท้จริงในไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สู่ยุคแห่งความยั่งยืน บทเรียนจากกรณี ไทยตก Tier 3 List

view