สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยขึ้นชื่อเรื่องคอร์รัปชั่นเรียกรับ 30 เปอร์เซ็นต์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไทยขึ้นชื่อคอร์รัปชัน'ประเทศ30%' ญี่ปุ่นยังปักหลักลงทุนไทย งัดสูตร"ไทยแลนด์+1"พึ่งแรงงานเพื่อนบ้าน

"สุรินทร์"แนะคสช.ใช้โอกาสแก้คอร์รัปชัน ชี้เป็นอุปสรรคใหญ่ด้านการค้าการลงทุน ระบุปัญหาใหญ่จนได้ฉายา'ประเทศ30%' ด้านญี่ปุ่นเล็งปรับยุทธศาสตร์ลงทุนใหม่ "ไทยแลนด์ + 1" ใช้ไทยเป็นฐานผลิตเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน แก้ปัญหาขาดแรงงาน ขณะบีโอไอเผยทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมั่นใจ เร่งอนุมัติโครงการค้างในส.ค.นี้

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กล่าวในงานสัมมนา “Thailand+1 Strategy and Opportunities for Japanese Companies” จัดโดยบีโอไอและนิตยสาร นิเคอิ บิสสิเนส ซึ่งเป็นสื่อด้านธุรกิจของประเทศญี่ปุ่น ว่า จากการประเมินความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ ต่างมีความเห็นว่าในการเข้ามาบริหารประเทศชาติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรจะฉวยโอกาสนี้ไม่ให้สูญเปล่า โดยการเร่งปฏิรูปประเทศให้เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนและดำเนินธุรกิจให้มากที่สุด โดยเฉพาะการต่อต้านคอร์รัปชัน

นายสุรินทร์ กล่าวว่าในระยะหลังต่างชาติมองว่าการลงทุนในประเทศไทยจะต้องใช้เงินมากกว่าประเทศอื่น จนทำให้ต่างชาติเรียกประเทศไทยว่า “ประเทศ 30%” เนื่องมาจากต้องจ่ายเบี้ยใบ้รายทางให้กับหน่วยราชการต่างๆเป็นจำนวนมาก

นายสุรินทร์ กล่าวว่าหากแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ ก็จะทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยสูงขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีกำลังซื้อภายในประเทศสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

“สิ่งที่ผู้บริหารประเทศจะต้องเร่งดำเนินการก็คือการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความโปร่งใสป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชันในทุกๆด้าน จะต้องสามารถทำให้ต่างชาติเห็นว่าปัญหาหลายอย่างของประเทศไม่สามารถแก้ไขได้ในภาวะปกติ จะต้องแก้ไขในสถานการณ์พิเศษ เพราะว่าเป็นการแก้กฎหมายที่ขัดกับผลประโยชน์ของหลายฝ่าย และก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในชาติ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการพิเศษในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติ” นายสุรินทร์ กล่าว

ชี้อุปสรรคใหญ่ต่างชาติชะลอลงทุน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาระบบราชการไทยมีความอ่อนแอ ไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของประเทศแทนประชาชนได้ เพราะอยู่ในระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวกมายาวนาน ทำให้คุณภาพราชการลดลงทุกปี ซึ่งหากปรับปรุงระบบราชการให้คนดีมีฝีมือมีโอกาสเข้ามาทำงาน ก็จะทำให้เข้ามาคานอำนาจฝ่ายการเมืองปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติแทนประชาชนได้

ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และมีความหลากหลายในธุรกิจต่างๆมากที่สุด ทั้งด้านการผลิต และภาคบริการ แต่กลับไม่ใช้ประเทศแรกที่ต่างชาติอยากเข้ามาลงทุน ก็เพราะความไม่โปร่งใสในขั้นตอนการออกใบอนุญาตต่างๆ ความล่าช้าของการดำเนินงาน และการไม่ทำตามสัญญา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นในประเทศไทยลดลง ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เพื่อดึงความมั่นใจต่างชาติคืนมา

ชี้ภาคธุรกิจเข้าใจสถานการณ์ในไทย

สำหรับมุมมองของนักลงทุนต่างชาติต่อสถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ หอการค้าต่างชาติต่างออกมาให้ความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่ายังคงมั่นใจที่จะลงทุนในไทย เพราะกลับมามีความสงบเรียบร้อย ปัญหาความรุนแรงต่างๆลดลง

ส่วนการที่รัฐบาลชาติตะวันตกออกมาต่อต้าน ก็เป็นเพียงการทำตามมาตรฐานของประชาคมโลก ที่เน้นในเรื่องการเป็นประชาธิปไตย ยึดหลักนิติธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในภาคธุรกิจต่างเข้าใจสถานการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และจะค่อยๆกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล

อย่างไรก็ตาม ไทยก็ไม่ควรเมินเฉยต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของต่างชาติ เพราะในโลกปัจจุบันไม่มีประเทศใดอยู่ได้ตัวคนเดียว ดังนั้นการตอบโต้กับต่างชาติควรจะใช้เหตุผล ไม่สามารถใช้อารมณ์ตอบโต้เพียงอย่างเดียวได้

คาดปีนี้ขอบีโอไอตามเป้า7แสนล้าน

ด้าน นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งเสริมการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากสถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น จึงยังคงมูลค่าขอรับส่งเสริมลงทุนตามเป้าหมายเดิมที่ 7 แสนล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกมียอดขอรับส่งเสริมแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าอีกครั้งก่อนปรับประมาณการ

ในปีหน้ายังคงมั่นใจว่ายอดการขอรับการส่งเสริมฯจะสูงกว่าปีนี้ แต่จะต้องรอดูยอดการขอรับการส่งเสริมฯในปีนี้

"ขณะนี้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนโครงการลงทุนต่างๆ ให้เดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นต่างชาติจึงมีความเชื่อมั่น แต่อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้อย่างเต็มที่ และเห็นการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ อาทิ มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเร่งรัดอนุมัติโครงการต่างๆ" นายอุดม กล่าว

นายอุดมย้ำกว่าการได้เร่งรัดการดำเนินงานอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการที่คั่งค้างการพิจารณาจำนวนมากโดยมีเป้าหมายในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้

ทุนญี่ปุ่นครองแชมป์ขอมากสุด

ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่มียอดขอรับส่งเสริมมากที่สุด คือ นักลงทุนญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนสูงถึง 50% ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ซึ่งยังคงมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ และจากผลการสำรวจของทางการญี่ปุ่น พบว่า 90% ของนักลงทุนยังยืนยันที่จะขยายฐานการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก แม้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป หรือ อียู จะต่อต้านไทยในประเด็นการค้ามนุษย์ สะท้อนได้จากมูลค่าการลงทุนของต่างชาติในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น ภาคบริการ และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนญี่ปุ่นยังต้องการให้ทางการไทยแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้การลงทุนมีความสะดวกมากขึ้น เช่น การขอใบอนุญาตทำงาน และการขอวีซ่า ซึ่งบีโอไอได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงแรงงาน

แผนบีโอไอใหม่ใช้ปี58เน้นเทคโนโลยี

นายอุมดม กล่าวว่านโยบายการดำเนินงานในอนาคตนั้น ขณะนี้ บีโอไอ อยู่ระหว่างการนำมาตรการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ที่มีแผนจะนำมาใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2558 ขึ้นมาเสนอให้กับคณะอนุกรรมการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มี พล.อ.อ.ประจิม จั่นตอง เป็นประธาน พิจารณาว่าจะต้องปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนใด ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะสรุปมาตรการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ได้ทั้งหมด

“มาตรการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ในต้นปี 2558 จะเน้นให้การส่งเสริมเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง มีการลงทุนสร้างนวัตกรรม และมีการวิจัยและพัฒนา โดย บีโอไอ จะเพิ่มตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานแบบใหม่ เช่น มูลค่าเพิ่มต่อแรงงาน 1 คน ซึ่งจะวัดจากทักษะแรงงานที่เพิ่มขึ้นที่จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ตัวชี้วัดจากจำนวนเงินลงทุนวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เห็นภาพการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน มากกว่ามูลค่าการลงทุน” นายอุดม กล่าว

ชี้ทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังไม่ปรับแผน

นายอุดม กล่าวว่าผลการสำรวจความเห็นผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยของสำนักข่าวนิเคอิ สรุปว่าผู้บริหารสัดส่วนมากถึง 84.7%ไม่มีแผนจะทบทวนยุทธศาสตร์การทำธุรกิจในประเทศไทย ภายหลังจากที่ได้รับการยืนยันถึงนโยบายทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุนจากหัวหน้าคสช.

ด้านนายคิมิโนริ อิวามะ อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย และคสช.ได้ให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้เห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่น นักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับมาให้ความสนใจการลงทุนในประเทศไทยอีกครั้ง

เล็งปรับยุทธศาสตร์ลงทุน“ไทยแลนด์ บวก1”

นายคิมิโนริ กล่าวว่าประเด็นที่เป็นข้อกังวลของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย คือ อัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงทำให้เกิดแนวคิดของกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ที่มีชื่อว่า "Thailand + 1" ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แล้วสร้างความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ร่วมกับฐานการผลิตหลักในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจของไทยและญี่ปุ่น รวมไปถึงการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศอาเซียน

นายอุดม กล่าวว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ “Thailand + 1” นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงในหลายอุตสาหกรรม และหากสามารถขยายเครือข่ายการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ จะทำให้เรายิ่งมีห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็งในอนาคต

ประเทศไทยจะต้องสร้างบรรยากาศการลงทุนให้ดียิ่งขึ้น หน่วยราชการต้องทบทวนกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องเร่งขจัดปัญหาความล่าช้าและความยุ่งยากในการพิจารณาอนุญาตในด้านต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย

ทั้งนี้ การลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทย ช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2557) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้วทั้งสิ้น 194 โครงการ เงินลงทุนรวม 80,492 ล้านบาท โดยการลงทุนกระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจการประเภทผลิตภัณฑ์โลหะ ลงทุนทั้งสิ้น 68,324.4 ล้านบาท รองมาเป็น กิจการประเภทอุตสาหกรรมเบาลงทุน 4,383.8 ล้านบาท กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าลงทุนทั้งสิ้น 3,064.7 ล้านบาท กิจการกลุ่มเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก ลงทุนทั้งสิ้น 2,065.6 ล้านบาท และกิจการบริการและสาธารณูปโภค ลงทุนทั้งสิ้น 1,801.6 ล้านบาท


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไทยขึ้นชื่อ เรื่องคอร์รัปชั่น เรียกรับ 30 เปอร์เซ็นต์

view