สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดข้อมูล..โทษประหารชีวิตในสังคมไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 โทษประหารชีวิตในสังคมไทย ช่วยป้องกันอาชญากรรมได้จริงหรือ และ5ความจริงเกี่ยวกับโทษประหาร

ผลพวงจากคดีอดีตพนักงานประจำรถไฟก่อเหตุข่มขืนฆ่าเด็กหญิงอายุ 13 ปี ซึ่งเป็นผู้โดยสารบนโบกี้ตู้นอนของขบวนรถไฟที่ผู้ต้องหาคนนี้ดูแลอยู่นั้นได้จุดประเด็นเรื่อง "โทษประหารชีวิต" ให้กลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงอีกครั้งในสังคม

ที่ใช้คำว่าอีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้สังคมไทยเคยมีการเรียกร้องและถกเถียงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตกันมาพอสมควรแล้ว เพียงแต่เป็นการเรียกร้องที่สวนกระแสสังคมในเวลานี้

กล่าวคือเมื่อปลายปี 2556 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ "โทษประหารชีวิตยังจำเป็นต่อสังคมไทยหรือไม่" ตามโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นไปตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2552-2556) หลังจากที่รัฐไทยได้แสดงเจตจำนงในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับดังกล่าวว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิต และเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน

ทว่าผลการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ยังอยากให้คง "โทษประหารชีวิต" เอาไว้ ด้วยเหตุผลแตกต่างกันออกไป โดยเหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายสนับสนุนให้คงโทษประหารชีวิตเอาไว้ หรือต้องการให้เพิ่มโทษคดีข่มขืนเป็นประหารชีวิต คือ โทษที่รุนแรงจะช่วยป้องกันอาชญากรรมได้

เกี่ยวกับประเด็นนี้ก็มีความเห็นทั้งจากตำรวจ นักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการด้านอาชญาวิทยา ตรงกันว่า โทษที่รุนแรงนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ได้เป็นส่วนช่วยป้องกันอาชญากรรม หนำซ้ำยังทำให้อาชญากรมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงในการก่อเหตุมากขึ้นด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการพิจารณาประเด็นปัญหาดังกล่าวยังมีองค์ประกอบและปัจจัยแวดล้อมอีกหลายอย่างที่ต้องมาร่วมพิจารณา โดยเฉพาะกับข้อมูลจากการศึกษา และสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นใน "สังคมไทย" เป็นหลัก

โดยข้อมูลหนึ่งที่เห็นควรจำมาประกอบการพิจารณาคือ รายงานเรื่อง "โทษประหารชีวิตป้องปรามอาชญากรรมได้จริงหรือ?" ที่ สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (เอไอ ประเทศไทย) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่รณรงค์ให้ยุติโทษประหารชีวิต ได้ทำการศึกษาเอาไว้จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องในปี 2555-2557

"ผลการศึกษาหลายชิ้นสนับสนุนว่าความปลอดภัยของสาธารณะและอัตราการเกิดอาชญากรรมนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล และหน่วยงานระดับชาติที่เกี่ยวข้อง"

ที่สำคัญ จากการรวบรวมสถิติการเกิดอาชญากรรมและการบังคับใช้โทษประหารชีวิตในประเทศไทย ระหว่างปี 2545-2554 ก็ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนระหว่างการใช้โทษประหารชีวิตกับอัตราการฆาตกรรม

กล่าวคือ ในปี 2545 มีผู้ถูกประหารชีวิต 11 ราย ปี 2546 มี 4 ราย ปี 2552 มี 2 ราย รวมแล้ว 17 ราย ส่วนอัตราการฆาตกรรมในประเทศเฉลี่ยแล้วลดลงทีละน้อยเกือบทุกปี ยกเว้นปี 2546 ที่อัตราการฆาตกรรมเพิ่มขึ้นแต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการประหารชีวิตไป 11 รายเพียงปีเดียว

ขณะที่ปี 2547-2551 ซึ่งไม่มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิต อัตราการฆาตกรรมกลับลดลงต่อเนื่องทุกปี

ในระยะหลังประเทศไทยกำหนดบทลงโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติดเพื่อหวังยับยั้งการกระทำผิดที่พบว่า ระหว่างปี 2550-2555 มีคดียาเสพติดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลฎีกามาเป็นอันดับหนึ่ง

แม้ว่าจะมีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตผู้ต้องโทษคดียาเสพติดอย่างต่อเนื่อง และมากกว่าผู้ต้องโทษประหารชีวิตในคดีความผิดอื่นๆ แต่จำนวนคดียาเสพติดกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยจากปีงบประมาณ 2551 ซึ่งมีคดีอยู่ 84,956 รายเพิ่มขึ้นเป็น 177,818 รายในปี 2555

"มีการโต้แย้งว่าการประหารชีวิตจะตัดโอกาสผู้ต้องโทษไม่ให้กระทำผิดซ้ำ แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า จะช่วยยับยั้งป้องกันไม่ให้มีคดีฆาตกรรมหรือคดียาเสพติดรายใหม่เกิดขึ้น" รายงานชิ้นนี้ ระบุ

นอกจากนั้นในรายงานดังกล่าวยังอ้างอิงข้อมูลที่ได้จากผลการศึกษาในระดับนานาชาติที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งซึ่งสะท้อนถึงสาเหตุสำคัญของการเกิดอาชญากรรมได้เป็นอย่างดี

งานวิจัยของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอัตราการเกิดอาชญากรรม คือ ความยากจน ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ความสามารถของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย การรักษาหลักนิติธรรม ต่างเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระดับความรุนแรงในประเทศส่วนใหญ่ นอกเหนือจากพฤติการณ์ส่วนบุคคลในแต่ละสถานการณ์

อีกทั้งยังมีรายงานภูมิภาคแคริบเบียน ปี 2555 ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมร้ายแรงเกิดขึ้นพร้อมกับการที่รัฐไม่สามารถคลี่คลายคดีและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

นอกจากนี้ประเทศที่มีกระบวนการนิติบัญญัติอ่อนแอ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเสมอภาค หรือศาลไม่สามารถตัดสินคดีความอย่างเป็นอิสระ เช่น ผู้กระทำผิดมีอิทธิพลทางการเมืองมักไม่ต้องรับโทษ ก็มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการฆาตกรรมที่สูงกว่าประเทศอื่น

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่องค์กรพัฒนาเอกชนรวบรวมไว้ แต่ในประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนครั้งนี้คงต้องประมวลข้อมูลจากหลายๆ ส่วนเพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบโดยยึดหลักการแก้ปัญหาที่ "ต้นเหตุ" เป็นพื้นฐานสำคัญจึงจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริงและยั่งยืน

000

(ล้อมกรอบ1)

เสียงจากแม่น้องแก้ม"อยากให้มาขอขมา...แม่ให้อภัยเขาได้"

ก่อนหน้านี้ มารดาของ "น้องแก้ม" เด็กหญิงวัย 13 ปีที่ถูกข่มขืนฆ่า เคยกล่าวไว้ว่า ไม่อยากจะให้ทำอะไรกับศพของลูกแล้วสงสารลูก ปล่อยให้กฎหมายเป็นคนลงโทษเขาดีกว่า อยากให้ลูกไปอยู่บนสวรรค์ให้เป็นนางฟ้าตามที่ลูกต้องการ เพราะก่อนตายลูกสาวมีความตั้งใจอยากเป็นแอร์โฮสเตท

ความรู้สึกตอนนี้อยากให้ผู้ต้องหามากราบขอขมาศพลูกสาวเพื่อที่จะได้อโหสิกรรมต่อกัน ไม่ได้ติดค้างกรรมต่อกัน เพราะจะเผาศพลูกสาวแล้ว (13 ก.ค.) หลังงานศพลูกสาวก็จะไปถือศีลและบวชชีพราหมณ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ลูก

ต่อมา มารดาของเด็กหญิงผู้เสียชีวิต กล่าวอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ยอมรับว่าโกรธคนร้ายมากแต่ทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา

"ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เขามาขอขมา ไม่อยากให้จองเวรจองกรรมไปถึงชาติหน้าหรือหลายๆ ชาติ แม่ให้อภัยเขาได้ เพื่อลูกจะได้ไม่ไปอาฆาตเขาอีก ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องมีเวรซึ่งกันและกัน ขอให้จบกันแค่ชาตินี้แล้วกัน”

000

(ล้อมกรอบ2)

5 ความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต

สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (เอไอ ประเทศไทย) เผยแพร่บทความเรื่อง "5 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจยังไม่รู้ เกี่ยวกับโทษประหารชีวิต?" ผ่านเว็บไซต์ของสมาคม เพื่อเป็นการเปิดมุมมองอีกด้านหนึ่งในประเด็นนี้

1.ความเชื่อ : โทษประหารชีวิตสามารถป้องกันอาชญากรรมและทำให้สังคมมีความปลอดภัยขึ้น

ความจริง : ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าโทษประหารชีวิตจะสามารถป้องกันอาชญากรรมได้ เช่น ประเทศแคนาดา หลังเลิกโทษประหารชีวิตมากว่า 30 ปี สถิติการก่ออาชญากรรมลดลงมาก

และจากการศึกษาเปรียบเทียบสถิติการฆาตกรรมระหว่างฮ่องกงซึ่งไม่มีโทษประหารชีวิตกับสิงคโปร์ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันแต่ยังมีโทษประหารชีวิต พบว่า โทษประหารชีวิตนั้นมีผลกระทบน้อยมากต่อการก่ออาชญากรรม

2.ความเชื่อ : การประหารชีวิตเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย

ความจริง : เจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้าย เปิดเผยว่า ผู้ก่อการร้ายที่ถูกประหารชีวิตนั้นเปรียบได้กับการพลีชีพเพื่อศาสนาหรืออุดมการณ์ ขณะที่กลุ่มต่อต้านติดอาวุธระบุว่า โทษประหารชีวิตนั้นเป็นเหมือนข้ออ้างที่จะใช้ในการแก้แค้นและนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงไม่จบสิ้น

3.ความเชื่อ : โทษประหารชีวิตนั้นเป็นสิ่งดีตราบใดที่ยังมีคนส่วนใหญ่สนับสนุนอยู่

ความจริง : ในอดีตนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายจากการสนับสนุนของคนหมู่มาก เช่น การตกเป็นทาส การแบ่งแยกเชื้อชาติ และการลงประชาทัณฑ์ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด นอกจากนี้ ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่นั้นจะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองและการให้ข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต

4.ความเชื่อ : คนที่ถูกประหารชีวิตทุกคนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าผิดจริงในการก่อคดีอาชญากรรม

ความจริง : มีนักโทษเป็นร้อยจากทั่วโลกที่ถูกประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการทรมานเพื่อเค้นคำสารภาพและการไม่ให้ใช้ทนายความ

และจากการที่สหรัฐเว้นโทษประหารให้นักโทษ 144 คนในปี 2516 ทำให้เห็นว่า แม้จะมีมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายมากมาย แต่คนก็ผิดพลาดได้ ความเสี่ยงในการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

5.ความเชื่อ : ญาติของผู้ถูกฆาตกรรมต้องการการลงโทษที่สาสม

ความจริง : การเคลื่อนไหวคัดค้านโทษประหารชีวิตทั่วโลกมีผู้เข้าร่วมหลายคนที่สูญเสียคนที่ตนเองรัก หรือแม้กระทั่งเป็นเหยื่อของความรุนแรงและอาชญากรรมเอง แต่เพราะเหตุผลทางจริยธรรมและความเชื่อทางศาสนาจึงไม่อยากให้มีโทษประหารชีวิตในนามของพวกเขา เช่น องค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อญาติของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรมแห่งหนึ่งในสหรัฐออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มเลิกโทษประหารชีวิต


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดข้อมูล โทษประหารชีวิต สังคมไทย

view