สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรื่องต้องรู้-ก่อนทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่น

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ตะวัน หวังเจริญวงศ์

ชาวญี่ปุ่น ถือเป็นชาติหนึ่งที่เป็นคู่ค้าอาเซียนมาช้านาน เข้าไปลงทุนธุรกิจและตั้งโรงงานในหลายประเทศ อนาคตหลังก้าวสู่การประชาคมอาเซียน ชาวญี่ปุ่นจะยิ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาค ทั้งในฐานะผู้สนับสนุนการเติบโตด้านต่างๆ ผู้ลงทุน ตลอดจนพันธมิตรแถวหน้าในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ความรู้และความเข้าใจวัฒนธรรม “การคิด” และ “การปฏิบัติ” แบบ “คนญี่ปุ่น” จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นของคนไทยในยุคนี้ เพราะในอนาคต คนไทยอาจร่วมงานกับคนญี่ปุ่นทั้งในฐานะ “คู่ค้า” “พันธมิตร” หรือแม้กระทั่ง “พนักงานบริษัทญี่ปุ่น”

สมชาย ชคตระการ อดีตนายกสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกเล่าในงานเสวนา “DO’s and DON’T in Japan: เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น” จัดโดยสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า หากจะทำงานและคบกับคนญี่ปุ่นให้ยั่งยืนถาวร ต้องรู้จักลักษณะเด่นของคนญี่ปุ่น ตลอดจนวัฒนธรรมในองค์กรญี่ปุ่น

เริ่มจากลักษณะเด่นของคนญี่ปุ่นโดยทั่วไป ได้แก่ มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ ขยัน อดทน เอาจริงเอาจัง ซื่อสัตย์ นอบน้อม กล้าแสดงออก รักการเรียนรู้ มีทักษะทำงานเป็นทีม ชอบทำให้สมบูรณ์แบบ เป็นนักวางแผน มีจินตนาการ และไม่ชอบชนกับใครตรงๆ

ขณะเดียวกัน ในอีกมุมหนึ่ง คนญี่ปุ่นมักเชื่อข้อมูลข่าวสารง่าย และเดินนอกกรอบไม่ค่อยเป็น และไม่นิยมทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากวัฒนธรรมเดิมด้วย

“คนญี่ปุ่นถึงขั้นมีสำนวนเลยว่า ตะปูที่โผล่ขึ้นมา จงตอกมันลงไป และ เขาทำกัน คุณไม่ทำ จะถูกขับไปอยู่ท้ายหมู่บ้าน ทั้ง 2 สำนวนสะท้อนให้เห็นว่าอยู่กับคนญี่ปุ่นต้องปฏิบัติไปตามเขา”

สำหรับเรื่องวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นนั้น สมชาย สรุปไว้ 13 ข้อหลักๆ ได้แก่ 1.กำหนดชนชั้นหรือตำแหน่งชัดเจน 2.เน้นความสำเร็จของงานมากกว่าวิธีปฏิบัติ 3.กำหนดผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน 4.ปลูกฝังและสร้างองค์ความรู้ใหม่ในองค์กร 5.กำหนดกติกาและวัฒนธรรมองค์กรเอง

เรื่องกติกาและวัฒนธรรมองค์กร อาจเป็นเรื่องเฉพาะตัวของบริษัทนั้นๆ เช่น การกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เพื่อใช้ในบริษัทโดยเฉพาะ การกำหนดเครื่องแต่งกาย เช่น บางคนอาจต้องใส่กิโมโนมาทำงาน

6.ต้องเคารพกติกาและวัฒนธรรมองค์กร ไม่ยินดีให้ใครคนใดคนหนึ่งทำการใดตามลำพัง ไม่ชอบการข้ามหน้าข้ามตา ขณะเดียวกันก็ไม่ถือเรื่องกำแพงของแผนก

7.ขจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากสังคมรวม 8.ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน นิยมเดินตามกรอบเดิมที่มีอยู่ 9.สร้างและปลูกฝังความซื่อสัตย์ต่อองค์กร 10.เน้นความสำคัญขององค์กรมากกว่าปัจเจกบุคคล 11.บริหารแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย 12.ดูแลบุคลากรตลอดชีพ และ 13.เน้นความสามารถมากกว่าวุฒิการศึกษา

“สาเหตุที่เขาดูแลบุคลากรตลอดชีพ เพราะเขายึดถือเรื่องการว่าจ้างตลอดชีวิต คนญี่ปุ่นไม่นิยมเปลี่ยนงาน ทำอยู่กับบริษัทไหนก็จะทำอยู่อย่างนั้น ดังนั้น เขาก็จะดูแลเต็มที่”

สมชาย เสริมอีกว่า มีอีกหลายเรื่องที่ “จงทำ” และ “ควรทำ” เพื่อทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น เช่น จงทักทาย เจอคนญี่ปุ่นต้องรู้จักทักทายตลอดเวลา จงขอโทษ อย่าแก้ตัวเรื่องที่ผิดพลาดมากนัก อธิบายได้แค่นิดหน่อยเท่านั้น จงรักษาสัญญา ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ อย่าให้สัญญากับคนญี่ปุ่น

ที่สำคัญ คือ จงอย่าพูดว่าไม่เกี่ยว หรือ “Kankei Nai” กับคนญี่ปุ่น เพราะเรื่องราวต่างๆ สามารถเชื่อมโยงกันได้หมด เช่น บริษัทแห่งหนึ่งเคยห้ามพนักงานใส่รองเท้าส้นสูง พนักงานประท้วงว่าใส่รองเท้าส้นสูงก็ทำงานได้ ไม่เห็นเกี่ยวกันตรงไหน คำตอบที่ได้รับก็คือ เกี่ยว เพราะถ้าเกิดใส่ส้นสูงแล้วขาพลิก พนักงานก็จะมาทำงานไม่ได้ แผนกำลังการผลิตผิดพลาด และโรงงานญี่ปุ่นยังเสียโอกาสทำสถิติอุบัติเหตุเป็นศูนย์

นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยัง “เกลียด” คำว่า “จะทำเท่าที่ทำได้” เพราะแสดงให้เห็นว่าไม่พยายาม ขณะที่การปฏิบัติตัวต่อเพื่อนร่วมองค์กรนั้นต้องยึดหลัก จงอย่าโทษนาย อย่าขายลูกน้อง เพราะคนญี่ปุ่นมองว่า คนที่ไม่สามารถบริหารลูกน้องได้คือคนที่แย่

สำหรับสิ่งที่ควรทำ ได้แก่ การเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น การแสดงความมีน้ำใจ การคิดทั้งข้อดีและข้อเสีย

“ญี่ปุ่นยังมีสำนวนอีกว่า จงเปรียบเสมือนดั่งรวงข้าว หรือ Inaho ni Nare สังเกตว่าเมล็ดข้าวมากแค่ไหน รวงข้าวก็จะโค้งงอมากเท่านั้น เช่นกัน ยิ่งเป็นคนเก่งแค่ไหน ยิ่งต้องนอบน้อมมากขึ้น”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เรื่องต้องรู้ ก่อนทำธุรกิจ คนญี่ปุ่น

view