สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สแตนลีย์ ฟิชเชอร์ต่อเฟด : Yoda หรือ Robin?

สแตนลีย์ ฟิชเชอร์ต่อเฟด : Yoda หรือ Robin?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หากจะถามว่านักเศรษฐศาสตร์คนไหนที่ "เก๋าที่สุด" ในปัจจุบันและยังมีชีวิตอยู่

หนึ่งในไม่เกิน 3 คนแรกของโลกต้องมี ศาสตราจารย์สแตนลีย์ ฟิชเชอร์ รวมอยู่ในลิสต์อย่างแน่นอน

วิทยานิพนธ์ชิ้นเยี่ยมที่เขาสำเร็จปริญญาเอกเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว เกี่ยวข้องกับ "การตั้งราคาสินทรัพย์ภายใต้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ" แสดงถึงความสนใจในตลาดการเงิน แม้ว่าผลงานที่ทำให้คนทั้งโลกจดจำเขา จะมาจากบทความในปี 1977 ที่แสดงถึงความสามารถของธนาคารกลางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและราคาสินทรัพย์ที่รวดเร็วกว่าอัตราค่าจ้างของแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งออกมาแบบสวนกระแส ท่ามกลางบรรยากาศเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นที่เชื่อว่ารัฐบาลควรจะมีขนาดที่เล็กที่สุดและปล่อยให้การทำงานของเศรษฐกิจทำงานโดยกลไกตลาด ดังเช่นในยุคของโรนัลด์ เรแกนและมาร์กาเร็ต แธทเชอร์

ชีวิตการทำงานของนายฟิชเชอร์ โลดแล่นพลิ้วไหวราวกับการเลี้ยงบอลของเมสซี เริ่มจากชีวิตการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ ในยุคทศวรรษที่ 70 ถึง 80 ลูกศิษย์หัวแก้วหัวแหวนที่ได้ดิบได้ดีในตอนนี้ เป็นถึงประธานธนาคารกลางยุโรป ได้แก่ นายมาริโอ ดรากิ และอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ก็คือ นายเบน เบอร์นันกี อีกทั้งยังตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการออกมามากมาย เรียกได้ว่านักเศรษฐศาสตร์ในยุคนี้ทุกท่านล้วนได้รับอิทธิพลมาจากเขาเกือบทั้งสิ้น

ในยุคทศวรรษที่ 90 ได้หันไปเอาดีในการเป็นรองกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ต้องบอกว่าช่วงนี้ นายฟิชเชอร์โดนโจมตีอยู่พอสมควรในประเด็นการใช้นโยบายการรัดเข็มขัดของรัฐบาลและการเพิ่มเงินสำรองระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาประเทศกำลังพัฒนา สำหรับโครงการให้ความช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟว่าเป็นจุดกำเนิดของความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกจนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในที่สุด

จากนั้น นายฟิชเชอร์ก็กลับมาสอนหนังสืออยู่พักหนึ่ง แล้วจึงเข้าทำงานภาคเอกชนกับ Citi โดยดูแลส่วนที่เป็นธุรกิจนอกประเทศสหรัฐ ในปี 2002-2005 ท้ายสุด จึงไปรับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารของอิสราเอล ตั้งแต่นั้นจนถึงเมื่อปีที่แล้ว ว่ากันว่าตอนที่นายฟิชเชอร์ไปรับตำแหน่งที่อิสราเอล บรรยากาศคล้ายกับเนย์มาร์เล่นฟุตบอลให้กับทีมชาติบราซิลเลยทีเดียว

ล่าสุด นายฟิชเชอร์เข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยประธานธนาคารกลางสหรัฐลำดับที่หนึ่ง แนวคิดหลักๆ ที่ได้แสดงออกมาให้เห็น ได้แก่ การควบคุมระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพ ที่น่าสนใจ คือ มีหลายเสียงมองว่า การทำงานของเขาที่ Citi เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จะส่งผลต่อการทำงานของเขามากน้อยแค่ไหน

จุดที่เป็นไฮไลต์ คือ บทบาทของเขากับนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ จะออกมาในรูปแบบที่ให้ความช่วยเหลือหรือชี้นำนั้น ยังยากที่จะคาดเดา หากมองในมุมของคำพูดที่นางเยลเลนกล่าวถึงตลาดหุ้นสหรัฐว่าหุ้นกลุ่ม Social Media และ Bio-Tech และหุ้นของบริษัทขนาดเล็ก มีราคาที่แพงเกินไป ก็อาจมองได้ว่านางเยลเลนอาจได้รับอิทธิพลจากนายฟิชเชอร์มาบางส่วน

อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน ในมุมของแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แล้ว นางเยลเลนเป็นผู้ที่เห็นต่างจากบทความในปี 1977 ของนายฟิชเชอร์ที่ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางหาได้มาจากการปรับตัวของค่าจ้างที่ช้ากว่าราคาสินทรัพย์ หากแต่มาจากความไม่สมบูรณ์ของการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสารของผู้คนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า นั่นก็อาจมองได้ว่าบทบาทของนายฟิชเชอร์จะเป็นเพียงผู้ช่วยของนางเยลเลนเท่านั้นครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สแตนลีย์ ฟิชเชอร์ เฟด Yoda Robin

view