สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สร้างทัศนคติคนไทยต้านคอร์รัปชัน-ยกเลิกระบบอุปถัมภ์

จาก โพสต์ทูเดย์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาทางวิชาการชุด “8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “ปฏิรูปสังคมไทย พ้นภัยคอร์รัปชัน” ณ ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วิชา มหาคุณ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชั่น อยากฝากความหวังไว้ที่องค์กรภาคเอกชน เพราะสหประชาชาติบอกว่าหากประชาชนคาดหวังอยู่กับองค์กรภาครัฐจะสิ้นหวัง ดังนั้น ประชาชนต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง และยึดมั่นในความถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ผิดคือผิด ถูกคือถูก ซึ่งระบบการศึกษาไทยได้สร้างกระบวนความคิดแบบนี้หรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องมีแนวความคิดเป็นสากล ไม่ใช้คิดแบบคนไทย เช่น นายตำรวจบอกว่าคอร์รัปชั่นที่เป็นสินบนบริสุทธิ์ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสินบน ไม่มีที่ไหนในโลกว่าดี คือ ความชั่วอย่างที่สุด นอกจากนี้ ป.ป.ช. จะตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหญ่เพื่อไต่สวนคดียึดที่ดินอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต

วิชา ระบุว่า เนื่องจากพบนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน ร่วมมือในการออกโฉนดที่ดิน ซึ่งอุทยานถือเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ของรัฐให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้ง ได้ข่าวว่าเอาที่ดินนี้ไปจำนองถึง 200 ล้านบาท และเตรียมขายหลักพันล้านบาท ซึ่งไม่ได้รู้สึกถึงการทำผิด

นอกจากนี้ ยังพบอีกหลายพื้นที่ เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และจังหวัดอื่นๆในภาคอีสาน ทั้งหมดเกิดจากการติดสินบน เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับข้าราชการ เพราะระบบอุปถัมภ์ของไทยถูกฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน

“หากสังคมไทยเลิกได้ไม่ต้องรอถึงปี 2558 ที่จะมีการเลือกตั้ง เพราะนักการเมืองไม่มีความหมาย หากยึดหลักไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน นักการเมืองมาทำอะไรเราไม่ได้ เราสามารถตัดญาติได้หากเอาผลประโยชน์จากทรัพย์แผ่นดิน ต้องตอบคำถามแบบ “เติ้ง เสี่ยวผิง” กับนายพลที่ให้การอุปถัมภ์ซึ่งมาขอตำแหน่งสูงขี้น ว่าหากเป็นเรื่องส่วนตัวยินดีสนับสนุน แต่เรื่องตำแหน่งหน้าที่เป็นเรื่องส่วนรวม เป็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ที่ตนเองต้องสร้าง”

ดังนั้น ทัศนคติถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีการปรับใหม่ เพราะถึงทางแยกแล้วว่าจะอยู่กับทัศนคติเดิม ที่เอางบประมาณแผ่นดินไปสร้างความเดือดร้อน หรือตัดสินใจใหม่ คือ ทุจริตเป็นสิ่งที่ผิดและรับไม่ได้ และประชาชนจะจับมือร่วมกันหรือไม่

วิชา ยังได้เสนอแนวทางปฏิรูปกระบวนไต่สวนให้เกิดความรวดเร็ว คือ การปรับทัศนคติของผู้พิพากษาต่อการตัดสินคดี และที่สำคัญต้องแก้ไขกฎหมายห้ามไม่ให้ศาลยกฟ้องด้วยเหตุของความสงสัย ส่วนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าสามารถเอาผิดได้แต่ข้าราชการตัวเล็กๆนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าระบบไต่สวนของป.ป.ช.นั้นจะขยายผลสอบไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้อง

วิชา ยกตัวอย่างกรณีทุจริตโครงการจำนำข้าวที่มีผู้ยื่นให้ตรวจสอบ ไม่ปรากฎชื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่เมื่อไต่สวนแล้วพบว่าเกี่ยวข้อง จึงต้องขยายผล รวมถึงขณะนี้ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบโครงการระบายข้าวไปยังบริษัทรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซีย ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งข้อร้องเรียนจาก ม.รว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาให้ตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม การทุจริตในไทยปัจจุบันพบว่าเป็นไปในรูปแบบองค์กรอาชญากรรมที่ต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีความขัดแย้งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และมีการแบ่งสีเสื้อ แต่หากเกิดเรื่องอะไรไม่ดีก็พร้อมปิดตาให้กับฝ่ายตัวเองสนับสนุน ไม่ยอมรับความจริง ที่ผ่านมามุ่งเน้นสืเสื้อกันเกินไป จนเกิดการยอมรับเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน จนทำประเทศอาจสูญเสีย

ทั้งนี้ ต้องพ้นเรื่องการเมืองสีเสื้อ และหันมาร่วมกันป้องกันการคอร์รัปชัน ไม่เช่นนั้นความเชื่อถือความศรัทธา ประชาธิปไตย ก็จะลดน้อยถอยลง เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ต้องมีระบบโปร่งใส คอร์รัปชันน้อย แต่ไม่ควรเอาตัวอย่างสิงค์โปร์ หรือจีนที่มีทุจริตวงกว้าง

“ย้อนกลับไปเมื่อปี 2548 ไทยอยู่อันดับที่ 48 เรื่องการคอร์รัปชันแต่สิบปีต่อมาไทยอยู่อันดับที่ 102 และไทยไม่เคยมีคะแนนต่อต้านคอร์รัปชัน เกิน 4 คะแนน อีกทั้ง ไทยมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงขึ้นถึง 93% และ 75% เพิ่มขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาดังกล่าวยังส่งผลต่อธุรกิจ ทำให้ต้นทุนเพิ่ม บริหารงานยาก นำไปสู่การผูกขาด”

นอกจากนี้ นักการเมืองที่ถูกตัดสินคดีคอร์รัปชัน มีจำนวนน้อยมาก ยกเว้น รักเกียรติ สุขธนะ แต่ที่เหลือหลบหนี อาทิ วัฒนะ อัศวเหว คดีบางบ่อ ประชา มาลีนนท์ กรณีรถเรือดับเพลิง ดังนั้น จึงอยากเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับคดีคอร์รัปชันให้ไม่มีอายุความ

สมเกียรติ ระบุว่า อยากให้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาของรัฐ เพราะเป็นประโยชน์น้อยมากต่อประชาชน อีกทั้งถูกใช้หาเสียงทางการเมือง ทำให้เกิดเสี่ยงคอร์รัปชัน รวมถึงเป็นการแทรกแซงสื่อให้เชียร์รัฐบาลโดยไม่ให้ตรวจสอบ เหมือนกรณีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเข้าไปแทรกแซงสื่อโดยใช้เงินปิดปาก จึงเป็นเรื่องต้องเร่งดำเนินการแก้ไข

“ทั้งหมดต้องครอบคลุมถึงหน่วยงานราชการทั้งหมด และให้สำนักงานตรวจงบประมาณแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบ แต่การทุจริตไม่ใช่เฉพาะเกิดกับนักการเมืองเท่านั้น แต่อาจเป็นประชาชนทั่วไปหากเข้าใจเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันไม่เพียงพอ ดังนั้น ต้องรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจ และวางระบบให้เกิดการเฝ้าระวังโดยสังคม”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สร้างทัศนคติ คนไทย ต้านคอร์รัปชัน ยกเลิก ระบบอุปถัมภ์

view