สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทฤษฎีระบบราชการ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

บางคนบอกได้ยินคำทางการแบบ "ทฤษฎีระบบราชการ" ภาพแบบขั้นตอนช้า ๆ ตามกระบวนการอย่างถี่ถ้วน การออกคำสั่งที่รอเซ็นกันมาเป็นทอด ๆ ก็ชวนหาวแล้ว เวลาพูดถึงระบบราชการมักอยู่คู่กับสิ่งที่น่าจะเรียกว่า "กลไกการป้องกันตัว" เพื่อป้องกันความผิดพลาดซะมากกว่า พูดแบบนี้อาจฟังดูลอย ๆ มองโลกในแง่ร้าย เพราะอาจมีระบบราชการที่ดีที่ทำให้นึกถึงคำว่า "ความมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล" และ "เป็นระบบอย่างมืออาชีพ" เรื่องแบบนี้อาจมีอยู่จริงบ้าง (หรือไม่จริง ?)

องค์กรธุรกิจประเภทใดที่ใช้ระบบราชการนำ จะมีบางอย่างคล้ายกันคือ ความเชื่องช้า เหมือนจะเป็นระบบ แต่กลับซ้อนทับความคลุมเครือ และไม่ชัดเจนเป็นระนาบเดียวกัน สิ่งเหล่านี้อาจรอดได้ ถ้าผู้บริหารมีความกล้าหาญ และมีบุคลิก-ทัศนคติในแบบ "นักเผชิญเหตุ" ที่เป็นนักแก้ไขและทำงานเชิงรุก

นั่นคือเรื่องราวแบบราชการในองค์กรธุรกิจ แต่ที่จะพูดกันจริง ๆ คือ ทฤษฎีระบบราชการในระดับประเทศ

สัปดาห์ ที่ผ่านมา คสช.ออกประกาศ คำสั่ง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ที่กำหนดให้มีการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นโดยจำนวน 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องเป็นข้าราชการ หรือเคยเป็นข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ หรือระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป

แม้มีความพยายามอธิบายวิธีให้ข้าราชการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็น "จังหวะชั่วคราว" หลังประเทศกลับเข้าสู่ระบบ เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น และเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.พร้อมกันอีกครั้ง (ส่วนรูปแบบจะอย่างไร ต้องรอเกาะติดกันอีกระลอกว่าจะดีไซน์รูปแบบทางการเมืองได้ออกมาเป็น ประชาธิปไตยแนวไหน ?--ผู้เขียน)

อีกเหตุผลที่บอกว่าต้องออกประกาศ กำหนดที่มาสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่น เพราะมีกลุ่มที่กำลังหมดวาระในขณะนี้ จึงต้องหาทางออก เพราะสภาวการณ์ขณะนี้ยังมีกฎอัยการศึกอยู่ ไม่สามารถหาเสียงได้ ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ แม้ให้เหตุผลว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และเชื่อว่าจะมีการกลั่นกรองข้าราชการระดับ ซี 8 หรือเทียบเท่า ขึ้นไป ที่มีความรู้ความสามารถมาทำงาน ...แต่อย่าลืมว่าในแง่การทำงานแล้ว แม้แต่ กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร ยังเอ่ยยอมรับว่า "ข้าราชการจะมีจุดอ่อนอยู่เรื่องกระบวนการคิดที่อาจเป็นวิธีการคิดแบบราชการ เคยชินกับระเบียบแบบแผน"

ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า "ข้าราชการอาจไม่ได้สัมผัสกับทัศนคติของประชาชน ซึ่งแตกต่างจากฝ่ายการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน รู้ปัญหามากกว่า" กกต.ระบุ

แต่ เมื่อลักษณะที่เกิดขึ้นหนีไม่พ้นว่าเป็นการพยายามลดทอนอำนาจนักการเมืองด้วย แล้ว แต่วิธีนี้ก็ไม่ยึดโยงเข้าใกล้ประชาชนเช่นกัน คนในเมืองหลวง หรือจำพวกหัวเมืองอาจไม่รู้สึกอะไร ...แต่กับชาวบ้านทั่วไปนอกเมืองแล้ว ที่ผ่านมานักการเมืองท้องถิ่นเข้าถึงพวกเขาในหลายเรื่อง แต่ก็เข้าสู่เรื่องเดิม ๆ ที่โต้แย้งด้วยการไปกล่าวหาแบบเหมารวมว่า ชาวบ้านขาดความรู้ ความเข้าใจ ถูกหลอก อะไรเทือก ๆ นั้น

อันที่จริงในทฤษฎีระบบราชการของ แม็กซ์ เวเบอร์ นักคิดชาวเยอรมัน ใน "Bureaucracy" มอง ข้อดีของระบบราชการ อาทิ มีกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ และขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน ป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ แต่ข้อเสียก็ย่อมมีเช่นกัน คือมีความล่าช้า เฉื่อยชา อาจนำมาซึ่งการขาดประสิทธิภาพ เกิดการทำงานแบบรวมศูนย์ และไม่คล่องตัวในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน

ก็ถือว่ามีการนำรูปแบบ Bureaucracy กลับมาใช้ในท้องถิ่นอีกครั้ง ปัจจุบันองค์กรปกครองท้องถิ่นที่จะใช้วิธีสรรหาแบบประกาศ คสช. จะมีราว 200 กว่าแห่ง ก็ต้องรอว่าอีก 7,000 แห่งที่ยังไม่หมดวาระ จะออกมาในรูปไหน...หลังจากนี้โปรดติดตาม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทฤษฎีระบบราชการ

view