สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจปีนี้ : เราจะชนะตัวเองได้หรือไม่

เศรษฐกิจปีนี้ : เราจะชนะตัวเองได้หรือไม่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญไปพูดเรื่องเศรษฐกิจให้นักลงทุนฟัง เป็นงานของธนาคารกสิกรไทย

วันนี้ก็เลยอยากจะแชร์ประเด็นที่พูด ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบว่าผมมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจปีนี้

ปีนี้ช่วงครึ่งปีแรกไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจไทยหรือเศรษฐกิจโลก มีปรากฏการณ์เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ เศรษฐกิจขยายตัวไม่ดี ค่อนข้างผิดหวัง แต่ตลาดการเงินกลับดี หุ้นและพันธบัตรปรับตัวดีขึ้น สวนทางกับปัจจัยพื้นฐาน เรื่องนี้เมื่อสามอาทิตย์ก่อน ผมได้ให้ความเห็นในข้อเขียน "ทำไมเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า แต่หุ้นขึ้น" อธิบายว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีเพราะปัญหาโครงสร้างต่างๆ ที่ยังมีอยู่ ทำให้เศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐ ไม่สามารถฟื้นตัวต่อเนื่องได้มากพอ ธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปจึงได้ประกาศที่จะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากๆ ต่อไป คือ อัตราดอกเบี้ยจะยังไม่ขึ้น ทำให้ตลาดการเงินตอบรับดี เพราะตลาดชอบอยู่แล้วเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องมีมาก หุ้นก็เลยปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนั้น จากที่เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัว นักลงทุนก็มองโลกในแง่ดี และพร้อมจะเสี่ยงเรื่องการลงทุนอีก คือ กลับมามี Risk appetite ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่ช่วงครึ่งแรกของปี ภาวะหุ้นขึ้นจึงเกิดขึ้นกว้างขวาง ทั้งประเทศอุตสาหกรรม และตลาดเกิดใหม่ของไทยก็เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ของไทยแรงซื้อมาจากภายในประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันไม่ใช่เงินนอก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับขึ้นจากระดับ 1298 สิ้นปีที่แล้วเป็น 1485 สิ้นเดือนมิถุนายน

แต่ในช่วงครึ่งปีแรกที่หุ้นปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดี อัตราการขยายตัวไตรมาสแรกติดลบ 0.6% ความอ่อนแอของเศรษฐกิจมีต่อเนื่องในไตรมาสสอง ประมาณกันว่าเศรษฐกิจไตรมาสสองอาจขยายตัวใกล้ศูนย์ ซึ่งถ้าจริงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยก็อาจจะไม่ขยายตัว หรือขยายตัวต่ำมาก

ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ดีครึ่งปีแรกก็คือ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และผู้บริโภคที่ลดลงจากเหตุการณ์การเมือง กระทบการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ฟื้นตัวไม่ดี โดยเฉพาะจีนที่อัตราการขยายตัวลดลง ทำให้การส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัวติดลบ 1.2 เปอร์เซ็นต์ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐก็ทำได้ไม่มาก เพราะไม่มีสถานะของรัฐบาลที่ทำงานได้เต็มที่ การเบิกจ่ายตามงบประมาณปี 2013/14 จึงต่ำกว่าปกติ ขณะที่การลงทุนในโครงการต่างๆ ก็ต้องหยุดจากเหตุผลทางกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ทำให้โมเมนตัมเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกอ่อนแอมาก และประเด็นที่นักลงทุนต่างประเทศห่วงมาก ขณะนั้น ก็คือ หนึ่ง อาจเกิดสถานการณ์สุดโต่งที่มาจากความรุนแรงของสถานการณ์การเมือง สอง รัฐของไทยไม่มีสถานะตามกฎหมาย ที่จะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะถ้าต้องแก้ไขเศรษฐกิจในกรณีฉุกเฉิน ความห่วงใยนี้ทำให้การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศช่วงครึ่งปีแรกจึงไม่เกิดขึ้น แม้นักลงทุนพร้อมที่จะถือความเสี่ยงเพิ่ม (มี Risk appetite) อย่างที่กล่าวไปแล้ว เฉพาะในตลาดตราสารหนี้ช่วงครึ่งปีแรก มีเงินลงทุนไหลออกสุทธิประมาณ 39,000 ล้านบาท

การรัฐประหารปลายเดือนพฤษภาคมได้ปลดข้อห่วงใยสองข้อนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะการชุมนุมยุติลง และคณะผู้บริหารใหม่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ ดังนั้น เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง จะขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนและข้อจำกัดต่างๆ ที่มีน้อยลง ซึ่งเศรษฐกิจจะดีได้มากแค่ไหน ช่วงครึ่งปีหลังจะขึ้นอยู่กับสามปัจจัย คือ หนึ่ง เศรษฐกิจโลกว่าจะดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกหรือไม่ สอง การเบิกจ่ายของภาครัฐว่าจะสามารถขับเคลื่อนได้ตามการคาดหวังของภาคเอกชนหรือไม่ และสาม ภาคเอกชนเองว่าจะเดินตามหรือไม่โดยเร่งการบริโภคและการลงทุน ปัจจัยแรกเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา แต่ปัจจัยที่สองและสามเป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้ เพียงแต่เราจะสามารถทำได้อย่างที่อยากจะเห็นหรือไม่

ประเด็นแรก เศรษฐกิจโลก การวิเคราะห์ส่วนใหญ่ขณะนี้มองเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก การขยายตัวในไตรมาสที่สามและสี่ปีนี้จะดีกว่าไตรมาสหนึ่งและสองที่ผ่านมา ทั้งในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ลาตินอเมริกา เอเชีย และจีน ทำให้เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังอาจขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.25 เทียบกับร้อยละ 1.7 ครึ่งปีแรก สนับสนุนโดยนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการเงินประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ยังจะผ่อนคลายต่อไป ที่สำคัญเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวได้ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ต่อจากไตรมาสสองที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 สูงกว่าตลาดคาด ซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจโลกให้ดีขึ้นตามไปด้วย ทำให้การค้าโลกจะขยายตัวตาม

เศรษฐกิจไทยควรได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่เราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ เพื่อให้การส่งออกและการท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีหลังขยายตัว ไม่ติดลบเหมือนครึ่งปีแรก โดยเฉพาะแก้ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออก ปัญหาแรงงานอย่างที่เป็นข่าว และการประกาศเตือนเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยที่ยังมีอยู่ จุดเหล่านี้ถ้าไม่ดูแล การส่งออกก็อาจไม่เร่งตัวช่วงครึ่งปีหลัง แม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้น

ประเด็นที่สอง การใช้จ่ายภาครัฐ มีหกประเด็นที่นักลงทุนอยากเห็นและรอความชัดเจน ซึ่งหลายเรื่องได้มีการดำเนินไปแล้ว หกเรื่องนี้ก็คือ (1) เร่งรัดการเบิกจ่ายตามงบประมาณปีปัจจุบัน (2013/14) ให้เสร็จในช่วงสามเดือนที่เหลือ (2) ทำงบประมาณปี 2014/15 สำหรับปีหน้าให้ทันการเบิกจ่ายที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม (3) มีความชัดเจนในแผนการลงทุนในโครงการใหญ่ 2.2 ล้านล้านบาท สำหรับ 7 ปีข้างหน้า คือ 2015 - 2022 ว่าวงเงินจะเป็นเท่าไรและจะลงทุนอย่างไร มีกี่โครงการ และจะหาเงินอย่างไร อันนี้ไม่แน่ใจว่าได้ตัดสินไปแล้วหรือยัง ถ้าตัดสินแล้วก็ควรแจ้งให้ประชาชนทราบ (4) จ่ายเงินคืนชาวนาที่ขาดอยู่ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้ทำไปแล้ว (5) การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและแก๊สหุงต้ม ซึ่งเข้าใจว่าได้ตัดสินที่จะเดินนโยบายนี้ต่อแบบเดิม และ (6) อะไรคือมาตรการหรือทางเลือกใหม่ที่จะเข้ามาแทนนโยบายจำนำข้าว ที่รัฐบาลได้ยุติเพราะปัญหาคอร์รัปชัน ความชัดเจนในประเด็นเหล่านี้ (ซึ่งบางเรื่องได้ทำแล้ว) จะช่วยสร้างบรรยากาศในเชิงบวกให้ภาครัฐสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และปีต่อๆ ไป

ประเด็นที่สาม คือ ภาคเอกชนทั้งผู้บริโภคและธุรกิจเอกชนว่าจะกลับมาใช้จ่าย และลงทุนมากขึ้นหรือไม่จากนี้ไป กรณีการบริโภค การขยายตัวครึ่งปีหลังคงทำไม่ได้มาก จากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ และสถาบันการเงินก็ระมัดระวังการปล่อยกู้ใหม่ จากความกังวลเรื่องสินเชื่อด้อยคุณภาพ ขณะที่ราคาสินค้าภายในประเทศปรับสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่จะระมัดระวังการใช้จ่ายและประหยัด

สำหรับภาคธุรกิจ ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจขณะนี้ดีขึ้นมากจากครึ่งปีแรก แต่การลงทุนใหม่จะเร่งตัวมากขึ้นหรือไม่จากนี้ไป จะขึ้นกับการบริหารงานของรัฐบาลขณะนี้และช่วงต่อไปว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ และสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน ในส่วนการลงทุนของเอกชนที่ได้เริ่มไปแล้ว คงมีการดำเนินการต่อ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็จะทำให้ภาคธุรกิจเร่งระดมทุนไว้ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอนาคต แต่ตัวที่จะช่วยพลิกฟื้นการลงทุนให้เกิดขึ้นได้มากก็คือ ความรู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น ปัญหาสำคัญมีการแก้ไข ทุกอย่างกำลังเข้าร่องเข้ารอยอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งจะลดความกังวลของภาคธุรกิจ เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงปีสองปีข้างหน้า ถึงจุดนั้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและนักลงทุนต่อเศรษฐกิจจะยิ่งเข้มแข็ง

ดังนั้น ปัจจัยที่เป็นตัวเปิดเกมจริงๆ ให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังและปีต่อไปฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง ก็คือ ความเชื่อมั่นของคนไทยเองว่าทุกอย่างกำลังดีขึ้น แต่ความรู้สึกนี้จะมีมากขึ้นก็ต่อเมื่อเราสามารถชนะตัวเองได้ ทำในสิ่งที่ควรทำ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าทำได้ความเชื่อมั่นของคนในประเทศและภาคเอกชนก็จะยิ่งเข้มแข็ง เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น โดยแทบไม่ต้องขับเคลื่อน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจปีนี้ เราจะชนะตัวเอง ได้หรือไม่

view