สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หยวน ..สกุลเงินเศรษฐกิจโลกใหม่?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน



ปรากฏการณ์ “เงินหยวน” ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สมควรแก่การติดตามเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกรณีการประกาศ

ยกเลิกการใช้เงิน “ดอลลาร์” ในการซื้อขายพลังงานระหว่าง “กาซปรอม” ผู้ประกอบการด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของ “รัสเซีย” กับบริษัทพลังงานของจีน ซึ่งการค้าขายได้เปลี่ยนไปใช้เงิน “รูเบิล” และ “หยวน” แทน

นอกจากนี้ทางการจีนยังประกาศอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์อ้างอิง หรือ “โควต” อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนกับลูกค้าได้อย่างเสรีจากเดิมที่ต้องกำหนดอัตราเคานท์เตอร์อ้างอิง หรือ “โควต เคานท์เตอร์ เรท” ได้ที่ บวก ลบ 1% สำหรับเงินโอน และ บวก ลบ 4% สำหรับการซื้อขายธนบัตร จากค่ากลางที่ทางการจีนกำหนด

ไม่เพียงเท่านี้ “จีน” ยังเดินสายล็อบบี้ชาติต่างๆ ในอาเซียน ร่วมลงขันจัดตั้ง Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) หรือจะเรียกว่า “ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย” ก็คงไม่ผิด

แม้วัตถุประสงค์การจัดตั้ง AIIB จะระบุเอาไว้ว่า เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภูมิภาคเอเชีย และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชีย แต่ลึกๆ แล้วจีนคงหวังจะใช้ AIIB ผลักดันตัวเองให้ขึ้นมามีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้น เพราะบทบาทของ AIIB ไม่ได้แตกต่างไปจาก ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) มากนัก โดยทั้ง 2 แห่งนี้ มี “สหรัฐ” และ “ญี่ปุ่น” กุมอำนาจใหญ่อยู่

ในระหว่างที่ “จีน” เดินสายชักชวนประเทศอาเซียนร่วมลงขันตั้ง AIIB ซึ่งตามกำหนดการจะใส่เงินเข้ามาราวเดือน ต.ค.-พ.ย. 2557 แต่เวลาเดียวกันจีนได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับผู้นำ 5 ชาติในกลุ่ม “BRICS” (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) ร่วมจัดตั้งสถาบันการเงินใหม่ขึ้นมา 2 แห่ง เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานและรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีลักษณะคล้ายกับ AIIB และ CMIM (กองทุนริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี) ของอาเซียน

ทั้งหมดนี้สะท้อนชัดเจนว่า “จีน” พร้อมแล้วในการท้าชน “สหรัฐ” และก้าวขึ้นมามีบทบาทบนเวทีเศรษฐกิจการค้าในโลกยุคใหม่มากขึ้น

แต่ทว่าการจะผลักดันให้ “เงินหยวน” ผงาดบนเวทีการค้าโลก จนกลายมาเป็นสกุลเงินสากลเทียบชั้น “ดอลลาร์” ของสหรัฐ นับว่าจีนยังต้องทำการบ้านอีกมาก เพราะการก้าวขึ้นเป็นสกุลเงินสากล หมายความว่าต้องสามารถใช้เป็น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ได้ด้วย

สกุลเงินที่สามารถถือในรูปของเงินสำรองระหว่างประเทศได้ ว่ากันว่าต้องมีคุณสมบัติ 9 ข้อ คือ 1.มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 2.มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ประเทศต่างๆ 3.ใช้ในเรื่องของการค้าได้ (Unit of account) 4.เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange) 5.สามารถหาประโยชน์จากการลงทุนได้(Store of value)

6.เป็นสกุลเงินที่สามารถใช้ในประเทศที่นอกเหนือจากประเทศเจ้าของเงินได้ (Available beyond the home’s border) 7.มีความคล่องตัวในการแปลงเป็นเงินสกุลอื่น (Full convertibility) 8.อาจมีผลกระทบหรือมีแรงจูงใจให้คนหันมาสนใจมากขึ้น (Network effect) และ สุดท้าย 9.มีระบบการเงินที่พัฒนา (Developed financial system)...เงินหยวนในเวลานี้นับว่าใกล้เคียงทั้ง 9 ข้อ แต่บางข้ออาจต้องปรับปรุงเพิ่ม

ผมเคยถามความเห็น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงเรื่องนี้เมื่อประมาณปีที่แล้ว ..ตอนนั้นท่านผู้ว่าฯ ตอบว่า การที่จีนจะผลักดันให้เงินหยวนขึ้นเป็นสกุลเงินหลักของโลกได้ สิ่งสำคัญที่ต้องมีก่อนเลย คือ Convertibility

คำว่า Convertibility หมายความว่า ต้องสามารถแลกเปลี่ยน “เงินหยวน” ที่ไหนในโลกก็ได้ แลกเวลาใดก็ได้ และจะแลกเท่าไรก็ได้ โดยปัจจุบันสกุลเงินที่มี Convertibility มากสุดยังไม่มีใครสู้ “ดอลลาร์” ได้เลย ..ดังนั้นการผลักดัน “หยวน” ให้ผงาดเทียบเท่าดอลลาร์ยังมีโจทย์ที่ทางการจีนต้องทำอีกมาก!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หยวน สกุลเงิน เศรษฐกิจโลกใหม่

view