สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

3 ข้อเสนอเดินหน้าประเทศไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานสถาบันอนาคตไทนศึกษา

ณ เวลานี้หลายฝ่ายต่างออกมาพูด เรียกร้อง ถึงข้อเสนอที่ควรต้องทำมากมาย ทั้งเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเรื่องปฏิรูป ซึ่งสถานการณ์ไม่ต่างจากช่วงที่มีกระแสปฏิรูปและมีการยื่นข้อเสนอมากมายจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายข้าราชการและเอกชน เช่น กระทรวงการคลังเสนอ 13 มาตรการปฏิรูปภาษี องค์กรเอกชนเสนอ 7 มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ บวกกับอีก 8 ข้อเสนอ ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และยังมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ยังไม่รวมข้อเสนอเกี่ยวกับปฏิรูปที่สมัชชาปฏิรูปเคยเสนอ 21 มติการปฏิรูป ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ 24 เรื่อง 94 ข้อเสนอ

ข้อเสนอเหล่านี้ ต้องเลือกให้ดีว่าจะทำอะไร และจัดลำดับว่าอะไรควรทำก่อนหรือทำทีหลัง

ด้วยสองเหตุผลด้วยกัน คือ หนึ่ง-ภาครัฐเองมีความสามารถในการจัดการที่จำกัดเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าอายุของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ค่อยยืดยาวนัก แถมรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็ถูกเปลี่ยนบ่อยครั้ง ในระดับปฏิบัติการมีข้อจำกัดมากมาย เห็นได้จากหลายโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเมกะโปรเจ็กต์มูลค่า 1.6 ล้านล้าน ที่ถูกเสนอเป็นแผนสำหรับปี 2548-2555 ซึ่งยังไม่ทันได้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ได้สานต่อ หรือโครงการไทยเข้มแข็ง มูลค่ารวม 1.43 ล้านล้านบาท (SP2) จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่สามารถทำจนเสร็จสิ้น

สอง-คือ ช่วงเวลา "ฮันนีมูน" นั้นมีไม่นาน ความชอบธรรมและคะแนนนิยมที่มีจำกัดอยู่เสมอ ตัวอย่างมีให้เห็นอยู่แล้วจากช่วง "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เพื่อแลกกับเงินกู้ที่จะนำมาแก้ไขวิกฤต เราต้องเซ็นหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent : LOI) กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยไอเอ็มเอฟได้ระบุเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจลงใน LOI ด้วย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ก็ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเร่งทำในช่วงนั้น เพราะไม่ได้เป็นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตในปี 2540

ประกอบกับช่วงวิกฤตเป็นช่วงที่อารมณ์ความรู้สึกของคนค่อนข้างอ่อนไหวอยู่แล้ว พอผสมกับกระแสเรื่องขายชาติ จึงทำให้เกิดการต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และลามมาจนถึงการต่อต้านมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่จะช่วยแก้วิกฤต และเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันนโยบายต่าง ๆ

การสร้างโมเมนตัมที่ดีจะช่วยลดกระแสต่อต้านและช่วยสร้างความยอมรับให้เกิดขึ้นได้

ดังนั้น ขอเสนอว่าเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราต้องทำ 3 สิ่ง คือ ทำน้อย ทำจริง และทำให้ยั่งยืน

1.ทำน้อย คือ ทำเท่าที่จำเป็น ซึ่งได้แก่เรื่องที่จะตอบโจทย์ที่เป็นสาเหตุหรือผลของความขัดแย้ง คือเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบ คอร์รัปชั่น และความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ที่สำคัญคือต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังควรคิดในแง่ของระยะเวลาที่ใช้ในการจัดการ ว่าอะไรสามารถจัดการได้ในระยะสั้น หรืออะไรที่เป็นเรื่องระยะยาว

ด้วยวิธีนี้จะทำให้แบ่งเรื่องที่ต้องทำออกเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ 1.สิ่งที่ควรทำตอนนี้ (Do Now) คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและจัดการได้ในระยะสั้น ได้แก่ การเร่งรัดโครงการที่หยุดชะงัก เช่น เร่งรัดการเบิกจ่ายอนุมัติงบประมาณสำหรับปีหน้า (2558) และฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุน นักท่องเที่ยว 2.สิ่งที่ต้องทำต่อ (Do Next) คือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ เช่น ระบบสวัสดิการสังคม การดำเนินคดีคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการ โดยไม่เลือกปฏิบัติ 3.สิ่งที่ควรทำเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย (Do Maybe) ที่สามารถจัดการได้ในระยะสั้น แต่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง 4.สิ่งที่เป็นเรื่องระยะยาว (Do Later) ที่อาจจะไม่โยงกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยตรง เช่น ปฏิรูปการศึกษา การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น

2.ต้องทำจริง สิ่งที่จะทำให้เกิดผลจริง คือการปรับปรุงขบวนการทำงานต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่สำคัญคือ การทำให้ KPI ที่ใช้ในภาครัฐนั้น "ศักดิ์สิทธิ์" จริง ๆ ไม่ใช่ "สักแต่ว่าทำ" ซึ่งควรปรับปรุงขบวนการด้าน KPI ใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.KPI ที่ต้องวัดที่ผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ 2.ต้องมี KPI น้อย ๆ กระทรวงละไม่เกิน 5 ตัวชี้วัด 3.ต้องระบุผู้รับผิดชอบเป็นรายบุคคลไม่ใช่เพียงหน่วยงาน 4.ต้องใช้ผลประเมินจาก KPI ไปใช้จัดสรรงบประมาณ ถ้ากระบวนการ KPI ขาดประสิทธิภาพแล้ว เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราได้อะไรกลับมาจากงบประมาณที่แต่ละกระทรวงได้ในแต่ละปี

ทุกวันนี้ตัวชี้วัดของบางหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีคุณสมบัติพอเพียง เช่น กระทรวงศึกษาฯ ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่สำคัญที่สุดในการให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กและเยาวชน และเป็นกระทรวงที่ได้งบประมาณมากที่สุดด้วย เราจึงคาดหวังว่ากระทรวงศึกษาฯจะใช้งบประมาณปีละ 4.8 แสนล้านบาทไปกับอะไรบ้าง แต่เมื่อดูตัวชี้วัดของกระทรวงศึกษาฯตามเอกสารงบประมาณ มีตัวชี้วัดมากถึง 33 ตัว และไม่มีการระบุน้ำหนักของตัวชี้วัดไว้ ปรากฏว่ามีตัวชี้วัดที่สะท้อนผลลัพธ์เรื่องคุณภาพการศึกษา เช่น คะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาหลักระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากการทดสอบระดับชาติ ไม่ได้สะท้อนถึงผลลัพธ์ที่ควรได้รับ

3.ต้องทำให้ยั่งยืน
การปฏิรูปถูกยกเลิกได้เสมอถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้โปร่งใส เป็นการลดโอกาสในการคอร์รัปชั่น และยังทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะข้อมูลใด ๆ ที่มีการเปิดเผยแล้วจะไม่ถูกปิดได้ง่าย ๆ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ตาม

ควรมีการเปิดเผยข้อมูลด้วย 2 วิธี 1.คือการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการเปิดเผยข้อมูลหน่วยงานรัฐ โดยแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารให้เปิดเผยข้อมูลอย่างไม่มีเงื่อนไข 2.ใช้สูตร 2/98 เพื่อแบ่งงบประมาณไปทำฐานข้อมูลโครงการ สำหรับโครงการใหญ่ ๆ ที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท ควรจัดสรรเงิน 2% ของงบประมาณสำหรับการทำฐานข้อมูลเพื่อเผยแพร่แบบทันทีต่อสาธารณะ ซึ่งจะดีกว่าการไปจ้างบริษัทที่ปรึกษามาประเมินผลเพราะเร็วกว่า และถ้าพบปัญหาก็จะสามารถแก้ได้ นอกจากนี้ยังไม่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างผู้ประเมินทีเป็นลูกจ้างและหน่วยงานที่เป็นนายจ้าง

ถ้าเรานึกว่าโครงการมูลค่าพันล้านจะต้องใช้เงินทำข้อมูลราว 20 ล้านบาท อาจรู้สึกว่ามาก แต่ถ้ามองว่าเป็นการใช้เงิน 2% เพื่อทำให้แน่ใจ อีก 98% จะบรรลุผล ก็ถือว่าเป็น 2% ที่คุ้มค่ามาก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 3 ข้อเสนอ เดินหน้าประเทศไทย

view