สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อุดรูรั่วบทเรียนรัฐประหาร

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เจษฎา จี้สละ

รัฐธรรมนูญชั่วคราว 48 มาตรากลายเป็นที่จับตาถึงดุลอำนาจและกลไกต่างๆ ว่าจะสามารถนำไปสู่การปฏิรูปตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศไว้ได้หรือไม่ ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทิศทางของการจัดสรรอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นไปตามความตั้งใจของ คสช. โดยคงอำนาจหลักไว้กับ คสช. แม้จะมีการกระจายไปยังสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ และฝ่ายบริหาร แต่ยังคงอำนาจในการควบคุมไว้กับ คสช.แตกต่างจากอดีต เช่น กรณีของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ไม่สามารถจัดการอำนาจเด็ดขาดหลังจากการจัดตั้งรัฐบาล แต่ คสช.สามารถชี้ขาดความขัดแย้งหรือไม่เป็นไปตามความต้องการของ คสช.ตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเขียนไว้

ทั้งนี้ ในภาพรวม คสช.สามารถอุดรอยรั่วของการจัดการอำนาจได้ดีกว่าคณะรัฐประหารอื่นๆ เพราะไม่ว่า สนช. สภาปฏิรูปฯ หรือฝ่ายบริหาร คสช.สามารถชี้ขาดได้ ต่างจากกรณีคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ไม่อาจคุมแนวทางของฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตามต้องจับตาฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าจะมีพลังในการคานอำนาจขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการคานอำนาจอาจลดน้อยลง เพราะอำนาจหลักอยู่ที่ คสช. แต่ข้อดีของการมีผู้ชี้ขาดคือลดภาวะชะงักงันเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือการต่อรองที่ไม่ลงตัวของสถาบันทางการเมือง ดังเช่นวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา จนนำไปสู่เงื่อนไขของการรัฐประหาร

“ในระยะเปลี่ยนผ่านคิดว่าไม่น่าจะเกิดปัญหา เพราะขณะนี้ขับเคลื่อนไปตามกระบวนการ แต่ในส่วนของการปฏิบัติเป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตามอีกราว 10 เดือน จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะกลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกฝ่ายจะยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน จะมีประชามติหรือไม่ ถ้าไม่มีจะวัดด้วยวิธีได้”

ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวสะท้อนให้เห็นว่า คสช.ต้องการสืบต่อภารกิจที่ได้เริ่มไว้ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงส่วนรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้น อาจดูแลเพียงการขับเคลื่อนระบบราชการเท่านั้น นอกจากนั้นยังสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่าง คสช.และฝ่ายบริหารไม่ให้แยกขาดจากกัน เรียกได้ว่า “อุดช่องว่าง” ไม่ต้องการให้รัฐบาลปลีกออกจาก คสช. ในช่วง 1 ปีจากนี้

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยมีมาตรา 27 เป็นแนวทางและกรอบในการปฏิรูป ซึ่งกระทรวงกลาโหมเป็นผู้กำหนดกรอบ กอปรกับมาตรา 31 ที่เชื่อมโยงกับการตั้งสภาปฏิรูปฯ แม้จะกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้สรรหาส่วนหนึ่ง แต่มีคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ที่มีความเชี่ยวชาญ 11 สาขา ในการสรรหาเช่นกัน คาดได้ว่าบุคคลที่เข้ามาในสภาปฏิรูปฯ จะไม่หลุดจากทิศทางของ คสช.คงไม่มี นปช. กปปส. เพื่อไม่ให้สิ่งที่ทำมาเสียของ

ในส่วนของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการฯ คาดเดาไม่ยากว่าจะต้องเป็นชุดเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะมีการวางกรอบไว้ชัดเจนว่าจะต้องสอดคล้องกับทิศทางของ คสช.ยึดมาตรา 27 และมาตรา 31 สำหรับมาตรา 44 และมาตรา 48 ที่เกี่ยวเนื่องกับการนิรโทษกรรมหยิบยกเฉพาะบางถ้อยความไปนิรโทษบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องในส่วนอื่นไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าไม่รุนแรงเท่ากับมาตรา 27 และมาตรา 31 เพราะเป็นการกุมทิศทางไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ คสช.ควบคุม

เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า อย่าไปมองว่าใครเป็นผู้มีอำนาจใช้กลไกที่วางไว้ตอนนี้ เพราะในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุไว้ชัดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เพียงแต่ต้องมีผู้ใช้อำนาจตามกลไกต่างจากเดิมที่ คสช.เป็นผู้กุมอำนาจ ซึ่งถ้ามองในระดับย่อยลงมาจะเห็นว่ารัฐบาล สนช. สภาปฏิรูปฯ ยังมีอำนาจในการดำเนินงานในกลไกดังกล่าว เพียงแต่ถ้ามีเหตุอันจำเป็น คสช.ถึงจะเข้าแทรกแซง ซึ่งอาจจะใช้อำนาจนี้หรือไม่ก็ได้

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาเนื้อหาในรายมาตรา พบว่า มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างการสรรหาสมาชิก สนช. และสภาปฏิรูปฯ ที่มีโครงสร้างชัดเจน รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2549 ตรงให้รัฐบาล สนช. สภาปฏิรูปฯ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีความเชื่อมโยงกัน แต่ไม่อาจตรวจสอบกันตามการบริหารงานปกติ

“ผมเชื่อว่าจะมีกลไกในการตรวจสอบระหว่างกันด้วยเนื้อหาของงาน แต่ไม่ใช่ด้วยการถ่วงดุลอำนาจตามปกติ เพื่อให้แนวทางการปฏิรูปสอดคล้องกับแผนของ คสช. ซึ่งถือว่ารัฐธรรมนูญ|ฉบับนี้วางกรอบไว้ดีมาก”

เจษฎ์ กล่าวว่า หากวิเคราะห์ไปถึงการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับถาวรสิ่งที่เป็นปัญหาคือ การนำกรอบในการปฏิรูปที่เสนอผ่านรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่สามารถบังคับใช้ได้ จุดนี้ ถือเป็นประเด็นใหญ่ เพราะจะไม่ตอบโจทย์ของการปฏิรูป สุดท้ายหากผลที่ได้คือ “คัมภีร์” ที่เป็นเพียงทฤษฎีในการปฏิรูปที่ไม่สามารถนำมาใช้จริง กระบวนในการร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นห่วง แต่การบังคับใช้ต่างหาก

นอกจากนี้ ในมาตรา 48 เรื่องการนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร ส่วนตัวเห็นว่าสอดรับกับหลักกฎหมายมากที่สุด เมื่อเทียบกับกฎหมายนิรโทษความผิดของคณะปฏิวัติที่ผ่านมา เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวของปี 2534 อ้างความชอบธรรมด้วยกฎหมาย ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2549 อ้างความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่ฉบับปี 2557 คสช.ยอมรับว่ากระทำผิด แต่ให้พ้นจากความผิดทั้งหมด หลักการดังกล่าวจึงสอดคล้องกับกฎหมาย เพราะการรัฐประหารไม่อาจชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อุดรูรั่ว บทเรียนรัฐประหาร

view