สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วางแผนมรดกสำคัญไฉน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สถานีลงทุน อภิรติ ชัยรัตน์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด


ความสุขหนึ่งในชีวิตของผู้เป็นพ่อแม่ คือ ได้เห็นลูกหลานมีความมั่นคง มั่งคั่ง จึงพยายามสร้างฐานะการเงินให้มั่งคั่งเพื่อให้ลูกหลานสุขสบาย การวางแผนมรดกหรือการจัดการทรัพย์สิน (Wealth Distribution) จึงเป็นเรื่องสำคัญ 

สิ่งสำคัญ 3 ประการที่ควรคำนึงถึงในการวางแผนมรดก คือ ทรัพย์สินมรดกที่ควรเตรียมไว้มีอะไรบ้าง วิธีการส่งมอบมรดก และเวลาที่มอบให้ควรเป็นเมื่อไหร่ 

ประการแรก ทรัพย์สินที่ควรเตรียมไว้ให้ลูกหลาน แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ 1.อสังหาริมทรัพย์ เช่น 
บ้าน คอนโดมิเนียม จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปีประมาณ 10-15% หากไม่ต้องการอยู่อาศัย ก็สามารถขายทำกำไรได้ 
2.ประกันชีวิต หากมีเหตุไม่คาดฝัน ทุนประกันจะช่วยให้ทายาทมีเงินทุนดูแลตัวเอง 
3.ทรัพย์สินที่ควรสะสมเป็นมรดก เช่น เงินฝากธนาคาร พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น กองทุนรวม เป็นทรัพย์สินที่สร้างผลตอบแทนที่ดี เพราะลูกหลานจะได้รับดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากราคาที่สูงขึ้นในอนาคต ทรัพย์สินส่วนนี้ควรสร้างผลตอบแทนขั้นต่ำเฉลี่ยต่อปี 5-7% หรือไม่ต่ำกว่าเงินเฟ้อ ไม่เช่นนั้นมูลค่าของทรัพย์สินที่หามา จะไม่มีมูลค่าอะไรเลย 

การสร้าง Portfolio มรดกควรเริ่มทำตั้งแต่เริ่มมีครอบครัว จัดสรรเงินทุกเดือนอย่างน้อย 10-15% ลงทุนสำหรับอนาคตของลูกหลาน โดยทรัพย์สินที่นำมาเป็นมรดกต้องเป็นทรัพย์สินที่เราเป็นเจ้าของเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี มีข้อสงสัย ทรัพย์สินสามีภรรยานั้นอย่างไหนถือเป็นสินสมรส หรือสินส่วนตัว 
เพราะสินทรัพย์ส่วนตัวนั้นเจ้าของสามารถจัดการเอง แต่ถ้าสินสมรสต้องได้รับความยินยอมจากสามีหรือภรรยาก่อน 

โดยสินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่ได้มาก่อนจดทะเบียน หรือของใช้เครื่องประดับส่วนตัว เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ หรือทรัพย์สินที่ได้มาหลังแต่งงานโดยการรับมรดกหรือโดยเสน่หา และไม่ได้มีหนังสือระบุว่าเป็นสินสมรส 

ส่วนสินสมรส คือ ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรส หรือดอกผลของสินทรัพย์ส่วนตัวหรือมรดกที่ได้รับหลังจากจดทะเบียน และมีหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส 

ดังนั้น สามีกับภรรยามีทรัพย์สินของตัวเองและทรัพย์สินร่วมกันที่จะแบ่งให้ทายาท พ่อแม่หลายคนห่วงว่า ทรัพย์สินที่ให้ลูกหลังลูกแต่งงานจะกลายเป็นสินสมรส จึงยกให้ลูกก่อนแต่งงาน แต่ดอกผลที่ได้จากทรัพย์สินนั้นย่อมเป็นสินสมรสอยู่ดี แต่ถ้ายกทรัพย์สินรวมกับดอกผลที่งอกเงยให้ลูกหลังแต่งงาน โดยระบุว่าเป็นการรับมรดก ทรัพย์สินนั้น ยังถือเป็นสินส่วนตัว 

เรื่องต่อมาที่ต้องเตรียมคือ วิธีการส่งมอบมรดก การแบ่งมรดกให้กับทายาทมี 2 แบบคือ กำหนดรายละเอียดของทรัพย์สินและทายาทที่ได้รับไว้ในพินัยกรรม กับการจัดสรรตามสิทธิการรับมรดกของทายาทตามกฎหมายถ้าไม่มีพินัยกรรม ทายาทตามกฎหมายมี 6 ลำดับ โดยลูก หลาน เหลน เป็นอันดับแรก 

อันดับที่ 2 คือพ่อแม่ อันดับที่ 3 คือพี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน อันดับที่ 4 คือพี่น้องร่วมพ่อหรือแม่เดียวกัน อันดับที่ 5 คือปู่ย่าตายาย อันดับที่ 6 คือลุงป้าน้าอา ถ้ามีทายาทอันดับแรกก็ตัดทายาทอันดับหลัง แต่มีข้อยกเว้นสำหรับพ่อแม่ถ้ายังอยู่ พ่อแม่จะได้รับมรดกเท่ากับที่ลูกของเราและทุกคนที่อยู่ในอันดับเดียวกันจะได้มรดกในสัดส่วนที่เท่ากันหมด ส่วนสามีหรือภรรยาถือเป็นทายาทตามกฎหมาย มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งมรดกตามสัดส่วนที่กฎหมายระบุ 

ดังนั้น ถ้าเราต้องการแบ่งทรัพย์สินของเราให้ลูกหลานแต่ละคนแตกต่างกัน ก็ควรทำพินัยกรรมและระบุให้ชัดเจน ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพินัยกรรมก็สามารถทำได้ 

โดยจะถือว่าพินัยกรรมที่ลงวันที่ล่าสุดมีผลทางกฎหมาย ถ้ามีทรัพย์สินอื่นที่ไม่ได้ระบุผู้รับมรดกไว้ในพินัยกรรมก็แบ่งให้ทายาทตามกฎหมาย บางครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนและมีทรัพย์สินมากมาย แนะนำให้จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อถือครองทรัพย์สิน โดยสร้างระเบียบการบริหารทรัพย์สินและการจัดการผลประโยชน์
ผ่านข้อบังคับของบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งสามารถทำตั้งแต่ตอนมีชีวิตอยู่ ช่วยหลีกเลี่ยงการถือครองทรัพย์สินโดยสมาชิกครอบครัว และบังเอิญสมาชิกบางคนก่อหนี้ เจ้าหนี้จะไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของครอบครัวได้ และได้ประโยชน์ทางภาษีด้วย

สิ่งสุดท้ายที่ควรวางแผนคือ การวางแผนภาษีที่เกี่ยวกับมรดก ปัจจุบันยังไม่มีภาษีการรับมรดก ทายาทไม่ต้องเสียภาษีเมื่อมีรายรับจากมรดก แต่เมื่อทายาทนำทรัพย์สินมรดกนั้นไปขาย ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ต้องเสียภาษีเงินได้จากการขาย โดยให้หักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 50% และได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ถ้าเป็นทรัพย์สินอื่น (สังหาริมทรัพย์) เ
ช่น เครื่องประดับ ทองคำ ไม่ต้องเสียภาษี อีกประเด็นที่ควรทราบคือ ถ้าลูกของเรายังไม่บรรลุนิติภาวะ การจัดการทรัพย์สินบางอย่างต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ส่วน Wealth Distribution เป็นพีระมิดชั้นสุดท้ายของการสร้างความมั่งคั่ง เป็นความปรารถนาสูงสุดที่จะส่งต่อให้คนที่เรารัก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วางแผนมรดก สำคัญไฉน

view