สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บริหารจัดการน้ำ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง
สมัย อนุวัตรเกษม ประธานกรรมการการประปานครหลวง


น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตมากที่สุด และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ในทุกด้าน เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของน้ำ อาจจะต้องพิจารณาส่วนที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ปริมาณ (Quantity) 2.ด้านคุณภาพ (Quality) 3.ด้านพลังงาน (Energy) คุณสมบัติทั้ง 3 ด้านนี้มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา และมีผลกระทบกับมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงมีความจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติดังกล่าว ให้มีความสมดุล สร้างคุณประโยชน์นานาประการ ทั้งนี้ หากแบ่งกลุ่มการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำที่สำคัญแล้ว สามารถจำแนกได้ ดังนี้ ใช้น้ำในการเกษตรกรรม ได้แก่ การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ แหล่งน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ซึ่งคนเราใช้เป็นอาหาร ใช้น้ำอุปโภค-บริโภค อาทิ เพื่อดื่มกิน ประกอบอาหาร ทำความสะอาด ฯลฯ ใช้น้ำในอุตสาหกรรม กล่าวคือต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิต ล้างของเสีย หล่อเครื่องจักรเพื่อระบายความร้อน เป็นต้น น้ำยังใช้เป็นแหล่งพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่ง เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล มหาสมุทร เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ใช้ป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง และสุดท้ายเป็นเรื่องระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทัศนียภาพของริมฝั่งทะเล และแหล่งน้ำที่ใสสะอาดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของมนุษย์

เนื่องจาก "น้ำ" เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องใช้ร่วมกันตามกิจกรรมของมนุษย์ ทุกคนจึงมีสิทธิการใช้และการเข้าถึงน้ำได้ตามความจำเป็น ซึ่งอาจจะต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่า และสิทธิการเข้าถึงน้ำอย่างเสมอภาคของประชาชนทุกคน

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ดี จำเป็นต้องคำนึงถึง คุณสมบัติทางกายภาพ ของน้ำ และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับน้ำ โดยบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในภาพรวมจะต้องให้ทุกกลุ่มได้รับประโยชน์ เป็นการผสมผสานผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งต้องใช้เงินทุนและเทคโนโลยีที่เหมาะสมอย่างคุ้มค่า ก็จะทำให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องพอใจ เป็นไปตามหลักการที่ว่า "น้ำ" เป็นทรัพยากรร่วมของทุกคน

จากผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องน้ำของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่าถึงแม้โดยเปรียบเทียบกับนานาประเทศในโลก ประเทศไทยจัดว่าไม่ขาดแคลนน้ำมากนัก และสัดส่วนการกักเก็บน้ำของไทยอยู่ในระดับสูง แต่ไทยมีภาคเกษตรซึ่งปลูกข้าวเป็นหลัก ข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก สถานการณ์น้ำของประเทศไทยจึงจะตึงตัวตลอด 20 ปีข้างหน้า และตึงตัวสูงสุดปลายทศวรรษนี้

ทั้งนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการปลูกข้าว ทำให้มีการปลูกข้าวนาปรังได้ 1 ถึง 2 ครั้งในฤดูแล้ง นอกจากนี้ ความต้องการน้ำยังแกว่งไกวตามราคาข้าวในตลาดโลก และเกษตรกรได้ใช้น้ำใต้ดินเป็นน้ำสำรองเพื่อปลูกข้าว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนแต่ท้าทาย และสร้างความกดดันต่อระบบบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน

ถึงแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำหลายฉบับด้วยกัน แต่การบริหารจัดการน้ำของไทยยังมีช่องโหว่ ขาดเอกภาพและขาดกติกาที่ชัดเจนในการจัดสรรน้ำ ทรัพยากรน้ำส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้ระบบการเข้าถึงโดยเสรี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรน้ำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการหาแนวทางจัดการน้ำใหม่ที่มีกติกาที่ชัดเจน และในขณะเดียวกันก็ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้ตามความเหมาะสม

เราโชคดีที่ภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์ ดังคำกล่าวโบราณที่ว่า "เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ" หากบริหารจัดการน้ำให้ดี มีประสิทธิภาพ เราก็จะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ มีคุณภาพดี ไม่เกิดเหตุการณ์อุทกภัย รวมถึงภัยแล้งต่าง ๆ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าต่างคนต่างทำงาน แต่ละกลุ่มเห็นแต่ประโยชน์ของกลุ่มตน ไม่คำนึงถึงกลุ่มอื่น ๆ การบริหารจัดการน้ำก็จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างในอดีต

และเนื่องจากสภาพแวดล้อมของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ปัญหาวิกฤตทางด้านทรัพยากรน้ำยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยปัญหาที่เกิดจากน้ำมีมากมาย อาทิ อุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำด้อยลง

สำหรับในส่วนของการประปานครหลวงได้ตระหนักถึง วิกฤตการณ์ด้านน้ำที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำของทุกคนคือ มหาอุทกภัย ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นส่งผลต่อกระบวนการผลิตน้ำ และคุณภาพน้ำดิบด้อยลง ทำให้น้ำเกิดการเน่าเสีย มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ มีค่าสาหร่ายสูง และค่าความนำไฟฟ้าสูง

พอมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เกิดวิกฤตน้ำแล้ง ทำให้คุณภาพน้ำดิบเปลี่ยนไป กล่าวคือเกิดการรุกล้ำของลิ่มน้ำเค็มเข้ามาในระบบน้ำดิบ และระบบผลิตน้ำประปาในเมืองใหญ่ (ระบบ Conventional) ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงจำเป็นต้องใช้การบริหารจัดการน้ำดิบเท่านั้นจึงจะสามารถแก้ไขได้

การประปานครหลวงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรม ได้แก่ สมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) มาประชุมหารือร่วมกันหลายครั้ง

ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นร่วมกันว่า จำเป็นจะต้องจัดตั้ง "หน่วยงานบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรม" เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ให้แก่หน่วยงานที่ต้องการน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรม มิฉะนั้นแล้วจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับน้ำโดยเฉพาะด้านปริมาณและคุณภาพน้ำ แก่หน่วยงานผู้ใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรม ในอนาคตอย่างแน่นอน

ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้ตั้ง "คณะทำงานกลุ่มย่อย" ดำเนินการศึกษาและรวบรวมข้อมูล รูปแบบโครงสร้างหน่วยงาน หรือองค์กร ที่มีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ EAST WATER, EGAT, K-WATER ประเทศเกาหลี, การประปา New York ประเทศสหรัฐอเมริกา, การประปา London ประเทศอังกฤษ เพื่อกำหนดโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการของหน่วยงานนี้ต่อไป

สำหรับปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องภัยแล้ง ที่ทำให้น้ำดิบมีค่าความเค็มสูงนั้น คณะทำงานกลุ่มย่อยกำลังศึกษาและวิเคราะห์ในรายละเอียด เพื่อกำหนดมาตรการระยะสั้นมาแก้ไขปัญหา และเตรียมการรับมือภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต้นปี พ.ศ. 2558 ล่วงหน้า

นอกจากนี้ การศึกษาเกี่ยวกับการจัดการน้ำระหว่างประเทศยังพบว่า ประเทศไทยยังล้าหลังประเทศอื่นในลุ่มแม่น้ำโขงด้านการจัดการน้ำ จากแง่มุมทางกฎหมายและเครื่องมือการบริหารอุปสงค์ ดังนั้นประเทศไทยจะสามารถเข้าสู่เวทีเจรจาระหว่างประเทศได้อย่างมั่นคง และอย่างมีศักดิ์ศรี ก็ต่อเมื่อสามารถลดความขัดแย้งในประเทศ และระบบการบริหารจัดการน้ำในประเทศได้รับการสะสางได้เสียก่อน

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 85/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำ เป็นกรรมการ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับน้ำ จะได้ร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม และทำให้ทุกกลุ่มได้รับผลประโยชน์จากน้ำเสมอภาคกัน

สำหรับผลการศึกษาของคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการ จะนำเสนอรายละเอียดแก่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ถึงเหตุผลความจำเป็นและวิธีการในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืนอย่างบูรณาการ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติต่อไป

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ไม่มีรูปแบบการบริหารจัดการที่ตายตัวแน่นอน เป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ โดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ค่านิยม ระบบการปกครองหรืออำนาจรัฐ สถานการณ์ของโลก และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันและเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

แต่ที่สำคัญคือ รูปแบบการบริหารจัดการที่นำมาใช้จะต้องลดปัญหา ลดข้อขัดแย้ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยเฉพาะต้องให้ตระหนักว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่มีจำกัด ไม่สามารถใช้ทรัพยากรอื่นทดแทนได้ และถูกปนเปื้อนด้วยมลพิษมากขึ้นทุกขณะ และถึงแม้ว่าน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์ก็ตาม แต่การจัดการน้ำให้เหมาะสม และเพียงพอสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย และให้เกิดสมดุลทางนิเวศวิทยา จะเป็นแนวทางที่ทำให้การใช้น้ำมีประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนต่อไปในอนาคต


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บริหารจัดการน้ำ

view