สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จากจนเป็นรวย : เมื่ออำนาจในเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน

จากจนเป็นรวย : เมื่ออำนาจในเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สองอาทิตย์ก่อนมีข่าวน่าสนใจสองข่าวเกี่ยวกับพัฒนาการในระบบการเงินโลก

ข่าวแรกเมื่อวันพุธที่ 16 การประชุมผู้นำประเทศตลาดเกิดใหม่ห้าประเทศ หรือ BRICS คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ได้ประกาศจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (The New Development Bank) มีวงเงินดำเนินการ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปล่อยกู้สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา และอีก 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือประเทศกำลังพัฒนา ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดปัญหารุนแรง หน้าที่ทั้งสองด้านนี้ของธนาคารแห่งใหม่ จึงคล้ายกับหน้าที่ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่กำลังทำอยู่ปัจจุบัน

อีกข่าวคือ รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลางกลุ่มประเทศ ASEAN+3 สิบสามประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม กับ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ประกาศขยายวงเงินข้อตกลงริเริ่มเชียงใหม่ หรือ Chiang Mai Initiative Multilateralization (CMIM) ที่จัดตั้งครั้งแรกปี 2000 จากเดิม 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดเงื่อนไขการปล่อยกู้ในส่วนที่ไม่ต้องผ่านความช่วยเหลือของ IMF จากเดิม 20 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินที่สามารถกู้ได้ เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ระบบการปกป้องและสร้างความมีเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาคเอเชียมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

ฟังเผินๆ สองข่าวนี้ เป็นข่าวดีที่ประเทศตลาดเกิดใหม่จะสามารถเข้าถึงวงเงินกู้ต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะกู้เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือเพื่อดูแลตัวเองไม่ให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ลึกๆ แล้ว ข่าวทั้งสองสะท้อนการเปลี่ยนแปลงและการแย่งชิงภาวะผู้นำในระบบเศรษฐกิจการเงินโลกปัจจุบันที่ลึกซึ้ง อันนี้คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ที่กลุ่มประเทศ BRICS ประกาศจัดตั้ง จะเริ่มดำเนินการปี 2016 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน การจัดตั้งนี้เป็นความสำเร็จของการร่วมมือของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ห้าประเทศ ที่มีการเตรียมการมากว่าสามปี เพื่อลดทอนอำนาจของกลุ่มอำนาจเศรษฐกิจเดิม นำโดยสหรัฐและประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกที่กำกับดูแลการทำงานของระบบการเงินโลกอยู่ขณะนี้ ผ่านการทำงานขององค์กรจัดตั้งสององค์กร คือ ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารที่จะตั้งใหม่นี้จะทำหน้าที่คล้ายกับธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ซึ่งก็คือจะทับซ้อนและแข่งขันกับสององค์กรนี้โดยตรง รวมถึงทับซ้อนกับข้อตกลง CMIM ของกลุ่ม ASEAN + 3 ที่จะปล่อยกู้ให้กับประเทศสมาชิกในเอเชียในกรณีฉุกเฉิน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะทั้งธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และข้อตกลง CMIM ถูกมองว่าเป็นแขนขาของประเทศอุตสาหกรรม ในการควบคุมดูแลระบบเศรษฐกิจการเงินโลก

อิทธิพลครอบงำของประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกในระบบการเงินโลก จะทำผ่านความเป็นเจ้าของในองค์กรการเงินสององค์กรนี้ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งในธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงผ่านรัฐบาลญี่ปุ่นในข้อตกลง CMIM ที่ประเทศใหญ่มีเสียงมากในคณะกรรมการที่กำกับดูแล CMIM ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกสามารถชี้นำทิศทางการทำหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งในระดับนโยบายและการแต่งตั้งตัวบุคคลเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุด จนเป็นประเพณีว่า เบอร์หนึ่งของธนาคารโลกต้องเป็นคนสัญชาติอเมริกัน ขณะที่ไอเอ็มเอฟผู้นำองค์กรจะต้องเป็นคนสัญชาติยุโรป สำหรับข้อตกลง CMIM บทบาทนำไม่ใช่ประเทศอาเซียนถึงแม้จะมีถึงสิบประเทศแต่เป็นประเทศบวกสาม คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยประเทศกลุ่ม ASEAN จะเป็นผู้ตาม ในทางปฏิบัติบทบาทนำในการขับเคลื่อน CMIM จริงๆ ก็คือ ญี่ปุ่น ที่จะคอยดูแลให้ทิศทางของ CMIM สอดคล้องกับงานของไอเอ็มเอฟ จีนเข้าใจความเป็นจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงร่วมมือแต่เหมือนไม่ร่วมใจ และยอมให้ญี่ปุ่นออกหน้า

ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ลึกๆ แล้ว จึงเป็นความพยายามของจีนร่วมกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ที่จะแสดงพลังทางเศรษฐกิจ ให้สมกับดุลอำนาจทางเศรษฐกิจที่ได้เปลี่ยนไป ผลผลิตรวมของกลุ่มประเทศ BRICS ขณะนี้ มีสัดส่วนร้อยละ 25 ของผลผลิตรวมของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรกว่าร้อยละ 40 ของประชากรโลก โดยเปรียบเทียบความมั่งคั่งของประเทศในกลุ่ม BRICS ขณะนี้ร่ำรวยกว่าประเทศอุตสาหกรรม สมัยที่จัดตั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบันความมั่งคั่งของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่มีมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับของตลาดการเงิน จีนมีทุนสำรองระหว่างประเทศกว่าสามล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสูงที่สุดในโลก และความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของคนจีนก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก แต่บทบาททางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่มีมากขึ้นนี้ ไม่ได้สะท้อนในการดำเนินงานและธรรมาภิบาลขององค์กรการเงินทั้งสององค์กร

กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นสูงสุดห้าประเทศแรก คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ในธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีสัดส่วนประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนเสียงทั้งหมดที่มีของสมาชิก แต่มีประชากรรวมกันไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ขณะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีสัดส่วนของประชากรมากกว่ามาก แต่มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันแล้วไม่ถึงสามเปอร์เซ็นต์ อันนี้คือความแตกต่างที่มีอยู่และไม่ได้ถูกแก้ไขให้สะท้อนข้อเท็จจริง จุดนี้ทำให้กลุ่มประเทศ BRICS หันมาร่วมมือกันผลักดันจัดตั้งองค์กรทางการเงินใหม่ให้เป็นทางเลือกสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ และเป็นธนาคารที่มีนโยบายและทิศทางการทำงานสอดคล้องกับความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่

โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลได้ให้ความเห็นในเรื่องการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่อย่างน่าสนใจว่า

หนึ่ง จะทำให้ทรัพยากรการเงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ระบบและองค์กรการเงินปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองได้ ทำให้ ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะมีทางเลือกใหม่ในการระดมทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน

สอง การจัดตั้งสะท้อนการเปลี่ยนดุลยภาพของอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ เป็นพัฒนาการตามโลกใหม่ของความเป็นจริง ที่โลกเก่าตามไม่ทันและไม่ยอมรับ สะท้อนความล้มเหลวของธรรมาภิบาลในระบบการกำกับดูแลเศรษฐกิจการเงินโลกขณะนี้ ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในดุลอำนาจที่เกิดขึ้น

สาม การจัดตั้งธนาคารใหม่ จะกดดันให้ระบบปัจจุบันต้องเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาความชอบธรรมของระบบปัจจุบันที่มีอยู่ แต่ถ้าไม่เปลี่ยน ระบบปัจจุบันก็ยิ่งจะหลุดออกจากความเป็นจริงในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก

ในความเห็นของผม สิ่งสำคัญที่มาจากการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ ก็คือ ประเทศกลุ่ม BRICS ทั้งห้าประเทศ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถตกลงกันได้ มีความเห็นร่วมกันได้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจการเงินโลก อันนี้เป็นความสำเร็จที่ไม่มีใครคาด ที่ทั้งห้าประเทศภายใต้ความแตกต่างที่มีอยู่จะสามารถตกลงกันได้ ทำให้เป็นตัวบอกเหตุว่า ในอนาคตกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อาจ “ร่วมกัน” ใช้พลังทางเศรษฐกิจผลักดันการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลกมากขึ้นไปอีก สมกับวลีที่ว่า เมื่อมีเงินก็มีอำนาจ เมื่อมีอำนาจ ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้

แต่ที่ต้องระวังก็คือ ต้องใช้อำนาจอย่างเหมาะสม เพื่อส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนตัว อันนี้สำคัญและต้องเกิด เพราะถ้าไม่เกิด อำนาจเศรษฐกิจใหม่ที่มีก็จะถูกท้าทายจนไม่ยั่งยืน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จากจนเป็นรวย อำนาจ เศรษฐกิจโลก เปลี่ยน

view