สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คู่มือมารยาทในยุคดิจิตอล

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน @Sue_Ching Facebook.com/JitsupaChin
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์





งานด้านการเป็นสื่อสารมวลชนและพิธีกรที่มักจะมาเล่าความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยี ให้ผู้ชมฟังอยู่บ่อยๆ ทำให้ซู่ชิงจำเป็นต้องอัพเดตตัวเองตลอดเวลา ซึ่งขนาดว่าอ่านทำความเข้าใจรับเรื่องใหม่ๆ เข้าไปทุกวันแล้ว ก็ยังอดรู้สึกไม่ได้ว่า โห ข้อมูลรอบตัวมีเยอะเหลือเกิน

บางทีอยากจะลงลึกในบางหัวข้อแต่ก็ไม่ทันแล้วเพราะต้องย้ายไปอ่านอีกเรื่อง

ดังนั้น บางทีที่ได้ยินหลายๆ คนรอบตัวพูดว่า โอ๊ย เทคโนโลยีน่ะเหรอ เลิกตามไปตั้งนานแล้ว มันเปลี่ยนเร็วจะตายไป

ก็เลยเข้าใจเลยว่าของแบบนี้ถ้าเหวี่ยงตัวเองหลุดออกมาจากวงจรในยุคที่เทคโนโลยีเคลื่อนไหวรวดเร็วสุดๆ แบบนี้ ก็ไม่น่าประหลาดใจเลยที่จะตามไม่ทันและรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอมที่สุด

คนที่ใช้ชีวิตหมุนไปเร็วเท่าๆ กับความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยี บางทีก็ลืมไปว่าคนรอบตัวไม่ได้เป็นแบบเดียวกันไปหมด

คนกลุ่มแรกที่รับของไฮเทคอย่าง Google Glass เข้ามาในชีวิต ก็อาจจะพลั้งเผลอลืมคิดไปเสียสนิทเลยว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่รู้สึกกระอักกระอ่วนชอบกลกับการยืนอยู่ใกล้ๆ คนที่ใช้แก็ดเจ็ตที่ดูแปลกแยกเสียขนาดนั้น

และเนื่องจากว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของเราทุกวันนี้ถูกพลิกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยี ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่ามารยาทและการปฏิบัติตัวต่อกันในรูปแบบที่สังคมเคยให้การยอมรับตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น จะต้องถูกรื้อขึ้นมาสังคายนาใหม่ทั้งหมดเลยหรือไม่

เพราะข้อควรทำหรือมารยาทอันดีงามเมื่อสัก 10 ปีก่อน ตอนนี้อาจจะใช้ไม่ได้หรือไม่ครอบคลุมแล้วก็ได้

ซู่ชิงเพิ่งจะได้ทำความรู้จักกับคอลัมน์ใหม่ของผู้เชี่ยวชาญด้านมารยาทคนหนึ่ง ที่ตอบคำถามค้างคาใจเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

เขาคนนี้มีชื่อว่า Steven Petrow เป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องกฎกติกามารยาทในสังคม มีผลงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ชื่อดังมากมาย

และเคยเขียนหนังสือซึ่งเกี่ยวข้องกับมารยาทในโลกยุคดิจิตอลโดยเฉพาะ

ล่าสุดเขาเพิ่งจะเริ่มต้นเขียนคอลัมน์ที่มีชื่อว่า Your Digital Life กับเว็บไซต์ USA Today ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่เจาะลึกเกี่ยวกับมารยาทที่พึงมีในสังคมยุคดิจิตอลโดยเฉพาะ โดยรูปแบบจะเป็นการถาม-ตอบ ระหว่างเขากับผู้อ่านที่เจอปัญหาว่าทำตัวไม่ถูกในสถานการณ์แปลกใหม่ที่เพิ่งจะวิวัฒนาการขึ้นมาจากความเจริญด้านเทคโนโลยี

หัวข้อแรกที่สะดุดตาคือ "คุณควรจะเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กกับหัวหน้าของตัวเองหรือเปล่า"

ผู้อ่านนิรนามคนหนึ่งจากซีแอตเติล ส่งมาเล่าว่าตัวเองนั้นมีกฎเหล็กว่าจะไม่ยอมเป็นเพื่อนเฟซบุ๊กกับเพื่อนร่วมงานเด็ดขาดเพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง

แต่จู่ๆ หัวหน้างานก็ส่งคำขอเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กมา ครั้นปล่อยทิ้งไปทำแกล้งไม่รู้ไม่ชี้ไม่เห็นก็ดูเหมือนจะทำให้หัวหน้าไม่สบอารมณ์ ในกรณีเช่นนี้จะทำอย่างไรดี

Petrow เริ่มต้นการตอบด้วยการป่าวประกาศให้บรรดาหัวหน้างานทั่วโลกทั้งหลายจงรับรู้ไว้ว่า อย่าส่งคำขอเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กไปให้ลูกน้องของตัวเองเด็ดขาด ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม

และไม่ว่าคุณจะเป็นหัวหน้าใหญ่ระดับประธานบริษัท หรือหัวหน้าแผนก หากมีลูกน้องที่ทำงานอยู่ใต้คุณก็ล้วนนับรวมเข้ากฎข้อนี้ทั้งสิ้น

เขายกสถิติการสำรวจล่าสุดว่าผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 80% ระบุตรงกันว่าการเป็นเพื่อนเฟซบุ๊กกับหัวหน้างานของตัวเองนั้นเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่าสุดๆ


ซู่ชิงเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนอ่านมาถึงตรงนี้คงต้องร้อง อุ๊บส์ กันเป็นแถบๆ เพราะตัวเองเข้าข่ายเป็นเพื่อนกับบอสของตัวเองบนเฟซบุ๊กไปแล้วเรียบร้อย

สาเหตุที่ Petrow เขาไม่โอเคกับเรื่องนี้เลยก็ง่ายมากค่ะ

ลองคิดดูว่าถ้าเรามองว่าเฟซบุ๊กเป็นสถานที่ที่เราพร่ำบ่นอะไรก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องกลัวว่าจะหลุดความไม่เป็นมืออาชีพออกมา การมีเจ้านายที่เข้ามาอ่านโพสต์เหล่านั้นได้ก็เป็นหายนะชัดๆ

เขาจึงแนะนำว่าถ้าหากหัวหน้าใครส่งคำขอมา ให้ตอบกลับไปตรงๆ ว่าอยากจะเก็บเฟซบุ๊กไว้สำหรับชีวิตส่วนตัวจะดีกว่า

แต่อันนี้ซู่ชิงอยากจะเสริมนิดนึงว่าถ้าหากสามารถบริหารจัดการโพสต์ของตัวเองได้ อดกลั้นไม่โพสต์อะไรบางอย่างที่รู้ว่าจะสะท้อนภาพลักษณ์ไม่ดีของตัวเองได้แน่ๆ (แหม ทำได้อยู่แล้วแหละน่า) และหากมีเจ้านายที่คูลสุดๆ ทำงานแบบแฟร์ๆ ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง การมีเจ้านายเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กก็ไม่แย่เสมอไปนะคะ

ดีเสียอีกที่มีอีกช่องทางที่จะทำให้เจ้านายรู้จักเราในอีกแง่มุมหนึ่งที่นอกเหนือจากในออฟฟิศบ้าง



ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโซเชียลเน็ตเวิร์กยอดฮิตเจ้านี้ยังมีที่น่าสนใจอีกเรื่อง ซึ่งก็คือการถกเถียงกันเกี่ยวกับความหมายและหน้าที่ของปุ่ม Like ที่เรากดกันนักหนาทุกวัน

ซึ่งถ้าหากเป็นการกด Like ภาพเซลฟี่ฮาๆ ของเพื่อน ภาพแมวน่ารัก ภาพหมานอนยิ้ม ก็เข้าใจได้อยู่ว่าเป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึก "ชอบ" ตามชื่อของปุ่ม

แต่สิ่งที่เห็นบ่อยๆ คือบางครั้งมีคนอุตริโพสต์ภาพที่มีเนื้อหาและความรุนแรง อย่างภาพศพจากอุบัติเหตุ ภาพที่ดูแล้วชวนให้หดหู่ สังเวชใจ หน้าเพจสำนักข่าวที่โพสต์ข่าวสะเทือนขวัญ หรือโพสต์ของเพื่อนบนเฟซบุ๊กแจ้งข่าวร้ายอย่างการจากไปของสมาชิกในครอบครัวของเขา เราก็ยังหลับหูหลับตาคลิกปุ่ม Like กันแบบไม่แยแสว่ามันจะหมายความว่าชอบ

Petrow บอกว่าในเมื่อ Facebook ยังไม่ยอมทำปุ่ม Dislike หรือไม่ชอบขึ้นมาสักที (ซึ่งสำหรับซู่ชิงแล้วรู้สึกว่าปุ่มนี้ไม่จำเป็นเท่าไหร่สำหรับแอ็กเคาต์คนธรรมดา แต่คงมีประโยชน์ไม่น้อยถ้าเปิดให้ใช้บนแฟนเพจ)

ดังนั้น ปุ่ม Like จึงเป็นปุ่มที่คนใช้บอกอารมณ์ความรู้สึกชนิดครอบจักรวาล ชอบ ไม่ชอบ เกลียด เบื่อ เซ็ง สงสาร ตลก ให้กำลังใจ ไปจนถึงการคลิกเพื่อบอกให้รู้ว่า อ่านแล้วนะ รับรู้แล้วนะ โอเค ก็ล้วนใช้ได้ทั้งหมด

แต่เขาบอกว่าเรื่องบางเรื่องแค่คลิก Like ไป มันไม่เพียงพอ โดยเฉพาะข่าวร้ายต่างๆ ที่เจ้าของโพสต์ต้องการการปลอบโยน

ดังนั้น สละเวลาสักหน่อย เขียนความเห็นของตัวเองลงไปด้วยถ้อยคำที่มาจากใจ ใช้เวลามากกว่าการคลิก Like ไม่เท่าไหร่ แต่ให้ความรู้สึกห่วงใยเพื่อนร่วมโลกด้วยกันขึ้นมาอีกเยอะ



Selfie หรือการถ่ายภาพตัวเองที่มักจะถ่ายกับสมาร์ตโฟน ก็กลายเป็นเทรนด์ที่มาแรง มาแรงเสียจนเราเห็นภาพประเภทนี้เกลื่อนกลาดดาษดื่นเต็มโซเชียลเน็ตเวิร์กไปหมด เพราะฉะนั้น ของอย่างภาพเซลฟี่เองก็ควรต้องมีการถูกขีดกรอบการพึงกระทำขึ้นมาด้วยเหมือนกัน

มีคนเขียนเข้าไปถาม Petrow ว่า มีข้อจำกัดหรือไม่ว่าวันหนึ่งๆ เราควรจะโพสต์ภาพถ่ายตัวเองได้ทั้งหมดกี่ครั้ง

เขายกสถิติอันน่าตกใจ (แม้สำหรับต่อตัวเขาเองด้วย) ว่าวันหนึ่งๆ คนทั่วโลกถ่ายภาพเซลฟี่มากกว่า 1 ล้านภาพ ใครๆ ก็ถ่ายเซลฟี่

เขาบอกว่าเซลฟี่บางภาพก็อาร์ตสวยน่าเซฟเก็บไว้เชยชม บางภาพก็แย่จนเขาขอเรียกว่าเป็นขยะไปเลยก็มี (โหดร้าย!)

เขาก็เลยแนะนำว่าใช้หลักการง่ายๆ คืออย่าเน้นปริมาณ ให้เน้นคุณภาพ แม้จะถ่ายแล้วกดแชร์ได้บ่อยๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำ ใช้สมองนิดหน่อยก่อนถ่ายแต่ละภาพ ทำให้เซลฟี่ของตัวเองดูโดดเด่น สวยงาม ครีเอทีฟ

ไม่ใช่ประเภทแบบเดินไปเฉียดตู้เย็นทีก็ถ่าย เดินเข้าห้องน้ำก็ถ่าย (รูป) นั่งอยู่บนรถหลังพวงมาลัยก็ถ่าย อันนั้นเข้าขั้นไม่มีมารยาทการแชร์ภาพเซลฟี่ไปแล้ว เขาให้หลักคิดง่ายๆ ค่ะว่า "คิดสองครั้ง โพสต์ครั้งเดียว"

เรื่องนี้ละเอียดอ่อนนิดนึงนะคะ เพราะหากมองว่าหน้าวอลล์ของเฟซบุ๊กเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ดังนั้น จะถ่ายภาพตัวเองกี่ภาพมาแชร์ก็ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเกรงใจใคร แต่หากมองว่าวอลล์เฟซบุ๊กแม้จะเป็นของเราเองแต่ก็แชร์อยู่บนพื้นที่สาธารณะที่ใช้ร่วมกัน จะฟังคำแนะนำของเขาไว้ก็คงไม่แย่อะไร

และจะทำให้เราใส่ใจกับการถ่ายภาพเซลฟี่ทุกๆ ครั้งด้วย



นอกจากตัวอย่างที่ยกมาก็ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจให้ถกเถียงต่อได้อีกเยอะ อย่างเช่น การบอกเลิกหรือบอกคบใครสักคนผ่านสถานะบนเฟซบุ๊กนั้นควรทำแค่ไหน และทำอย่างไรให้เหมาะสม

ถ้าแอบกูเกิลหาชื่อแฟนของน้องสาวแล้วเจออะไรทะแม่งๆ จะถามตรงๆ ได้ไหม

ไปจนถึงการหยิบโทรศัพท์ของตัวเองที่สว่างวูบขึ้นมาเป็นระยะๆ มาวางไว้บนโต๊ะดินเนอร์ตอนรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่นเป็นเรื่องที่สมควรจะทำหรือไม่ เป็นต้น

ย้อนกลับไปเรื่องมารยาทของการใช้ Google Glass แม้ว่า Google จะเคยทำคู่มือเตือนออกมาว่าสถานการณ์แบบไหนบ้างที่เราควรจะปิด Glass เอาไว้ แต่ซู่ชิงว่าถึงแม้จะปิดแล้วหากยังสวมทนโท่อยู่บนหน้าแล้วเดินเข้าไปในที่ๆ เขาต้องการความเป็นส่วนตัวสุดๆ ยังไงก็คงจะไม่โอเคอยู่ดี

คนของ Google เคยแนะนำว่า ใครริจะใส่ Glass ก็จะต้องมีความอดทน ใจเย็น ค่อยๆ อธิบายให้คนรอบข้างได้รู้จัก Glass มากขึ้นว่ามันทำอะไรได้บ้าง ในตอนนี้ยังมีประชากรจำนวนน้อยมากๆ ที่ได้ทดลองใช้ Glass แล้ว เพราะฉะนั้น ก็อย่าคาดหวังว่าคนรอบตัวจะเข้าใจและยอมรับมันได้ทันทีค่ะ

แต่มารยาทในยุคดิจิตอลลทั้งหมดที่ Petrow กล่าวถึงนั้นก็ถือเป็นไกด์ไลน์คร่าวๆ สำหรับให้พิจารณาดูดีกว่าค่ะ เรื่องมารยาทนี้อย่างไรเสียก็คงไม่มีกฎตายตัว

เอาเป็นว่าเก็บไว้เป็นข้อมูลแล้วค่อยประเมินสถานการณ์ด้วยตัวเองเป็นเรื่องๆ ไปจะดีกว่าค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คู่มือมารยาท ยุคดิจิตอล

view