สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กับดักสภาพคล่อง ที่ยุโรปและอเมริกา โดย วีรพงษ์ รามางกูร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

บัดนี้เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจมีปริมาณมากกว่าความต้องการในตลาด ใช้คำศัพท์ที่หรูหราว่าเป็น "นโยบายผ่อนคลายทางปริมาณ" จุดประสงค์ก็เพื่อกระตุ้นความต้องการ ทั้งการบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ไม่ให้มีภาระดอกเบี้ยแพงและภาวะเงินตึงตัวในระบบเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่นเองในที่สุดก็ประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

ช่วงหลังเกิดความกลัวว่าเมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยุโรปมีปริมาณเพิ่มถึงจุดหนึ่งแล้ว ความเชื่อมั่นในเรื่องค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโรจะสั่นคลอน

ขณะนี้สัดส่วนของความต้องการเงินสกุลต่างๆ เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการนั้น เงินดอลลาร์สหรัฐก็ยังมีสัดส่วนสูงที่สุด คือประมาณ 82 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินเยนของญี่ปุ่นมีสัดส่วนน้อยลง กล่าวคือ มีสัดส่วนเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ เงินหยวนของจีนกลับมีความสำคัญเพิ่มขึ้นถึง 8.7 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นสกุลสำคัญอันดับที่ 2 ในการเป็นเงินที่ใช้ในการชำระหนี้การค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่เงินยูโรมีสัดส่วนในการชำระหนี้เพียงร้อยละ 6.7 เท่านั้น



แต่ถ้ารวมความต้องการถือเงินดอลลาร์ ในฐานะที่เป็นเงินสกุลเดียวที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ แม้จะเป็นประเทศที่มีฐานะเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐแล้วก็ตาม เงินดอลลาร์ก็ยังถือได้ว่าเป็นเงินสกุลเดียวที่มีความสำคัญมากที่สุด ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และคงจะยังมีความสำคัญต่อไปในอนาคตอีกด้วย

การที่ธนาคารกลางของสหรัฐประกาศเพิ่มปริมาณเงินอย่างมหาศาลในระบบโดยหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำสุดมาเป็นเวลานาน

เมื่อเวลาผ่านมาถึง 6-7 ปี เศรษฐกิจของสหรัฐเองก็ยังไม่สามารถจะกล่าวว่าได้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เพียงแต่บางครั้งมีความรู้สึกว่าฟื้นตัวขึ้นบ้าง แล้วก็ฟุบตัวลงไปอีก การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐอเมริกา แม้จะมีปัญหาน้อยลงบ้าง แต่ก็ยังเป็นปัญหา ยังแก้ไม่ตก

ในบรรดากลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกก็เหมือนกัน ดูจะยิ่งย่ำแย่ยืดเยื้อกว่าสหรัฐเสียอีก อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูง และดูท่าจะไม่มีทางกระเตื้องขึ้นเลย ในขณะที่อัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกา บางครั้งบางตอนก็มีอาการกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แล้วก็กลับฟุบตัวลงอีก

มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนอเมริกันนั้น อยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก รองลงไปก็เห็นจะเป็นยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น เมื่อประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจให้เสรีมากขึ้น ประเทศพัฒนาเดิมก็สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการผลิตสินค้าและบริการให้

กับภูมิภาคในเอเชียไปจนหมดสิ้นรายได้ของคนอเมริกันส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ทรัพย์สินทางปัญญา อาศัยที่อเมริกายังสามารถผูกขาดการเป็นเจ้าของตลาดทุนและตลาดเงินได้อยู่ การระดมทุนก็ดี การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนก็ดี ยังอยู่ในมือของบริษัทอเมริกันเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกายังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นิมิตสิทธิ์ และอื่น ๆ อยู่บ้าง

เมื่ออเมริกาประกาศว่าสามารถใช้เทคโนโลยีของตนเจาะพื้นพิภพลึกลงไปกว่า 10 กม. เพื่อนำเอาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาใช้ได้ ก็ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกากระเตื้องขึ้น ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ยั่งยืน

ราคาหุ้นในตลาดสหรัฐจึงขึ้นลงไปตามกระแสข่าวในระยะสั้น มากกว่าจะเป็นการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน นับเป็นเวลากว่า 6-7 ปีมาแล้ว เศรษฐกิจของยุโรปก็อยู่ในลักษณะอาการอย่างเดียวกัน

เมื่อทศวรรษที่แล้ว จีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิล กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เพราะความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่ายุโรปและอเมริกา แต่ความสามารถก็ทำให้ฐานะทางการเงินของภูมิภาคอื่น ๆ อ่อนแอลง

การที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น ใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินจนกลัวว่าจะท่วมตลาด ดึงดอกเบี้ยต่ำลงจนเกือบจะเข้าใกล้ศูนย์ แต่ภาวะเศรษฐกิจทั้งของสหรัฐและยุโรปก็ยังซบเซาซึมอยู่ เป็นเวลานานจนกระทั่งบัดนี้

ที่หลายคนเกรงว่าในระยะยาว นอกจากนโยบายเพิ่มปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐจะไม่ได้ผลแล้ว น่าจะมีความเสี่ยงในระยะยาวว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ เงินดอลลาร์และเงินยูโรจะกลายเป็นเศษกระดาษ แต่การณ์ก็มิได้เป็นไปอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ คนเป็นห่วง ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังทรงตัวอยู่ได้ แม้จะมีความผันผวนอยู่มากก็ตาม เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นและราคาทองคำ

บัดนี้มีคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างค่อนข้างรุนแรงจากธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศว่ามาตรการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ และการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ใกล้ ๆ ระดับศูนย์เปอร์เซ็นต์ อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้บ้างในระยะสั้น แต่เป็นผลเสียในระยะยาว เพราะตลาดการเงินถูกบิดเบือน ทั้งปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามธรรมชาติหรือกลไกตลาด ทำให้ตลาดใช้เงินทุนจากเงินออมของสังคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพในการลงทุน จึงเท่ากับเป็นการยืดระยะเวลาของการตกต่ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปให้ยาวนานเกินกว่าความจำเป็น

ปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ตลอดมาตั้งแต่สหรัฐอเมริกาและยุโรปประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อนำมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาลและของเอกชนที่มีคุณภาพดีกลับคืนไป เริ่มจากเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาลดลงเหลือเดือนละ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และจะหยุดเพิ่มปริมาณเงินดังกล่าวในเดือนตุลาคมปีนี้เป็นต้นไป หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับขึ้นไปอยู่ที่อัตราที่สูงขึ้นแต่ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์

ทันทีที่นางเยลเลนประกาศ แทนที่ราคาหุ้นในตลาดสหรัฐจะลดลง ราคาหุ้นกลับดีดสูงขึ้น สร้างความแปลกใจให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นอันมาก ความเป็นไปได้ว่าตลาดหุ้นของสหรัฐตอบสนองต่อท่าทีของผู้ว่าการธนาคารกลางในระยะสั้น เพราะปฏิกิริยาของนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่ในระยะปานกลางและระยะยาว ดัชนีราคาหุ้นก็คงจะปรับตัวลง

ข้อถกเถียงในเรื่องนโยบายคิวอีของสหรัฐ ยังเป็นที่ถกเถียงกันในแง่ทฤษฎีมหเศรษฐศาสตร์ว่า นโยบายการเงินนั้น ไม่น่าจะมีประโยชน์ในการกระตุ้นในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาให้ฟื้นตัวได้ เป็นแต่เพียงพยุงระบบเศรษฐกิจไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันการบิดเบือนตลาดดังกล่าว ทำให้ยืดอายุของการตกต่ำทางเศรษฐกิจให้ยืดยาวออกไปนานกว่าที่ควรจะเป็น

การคาดหวังว่าเศรษฐกิจของสหรัฐยุโรป และญี่ปุ่น จะฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้นี้ คงจะยังไม่จริง ต้องรอกันต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กับดักสภาพคล่อง ยุโรปและอเมริกา วีรพงษ์ รามางกูร

view