สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตือนแบงก์-ประกันรับมือมาตรฐานรายงานการเงินฉบับใหม่ จี้เปิดเผยความเสี่ยงทางเครดิต

จากประชาชาติธุรกิจ

มาตรฐานโลกรุกไทย เตือน "แบงก์-ประกัน" เตรียมรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9  หรือ IFRS 9 ตีกรอบทำรายงานทางการเงิน กำหนดให้เปิดวิธีคำนวณความเสี่ยงด้านเครดิตการวัดมูลค่าทรัพย์สิน "เคพีเอ็มจี" คาดอีก 5 ปี สภาวิชาชีพบัญชีฯประกาศใช้

ล่าสุด คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานบัญชีสากล (IASB) ได้ประกาศ IFRS 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน เพื่อให้พร้อมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 โดยมาตรฐานฉบับล่าสุดนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ข้อกำหนดด้านการจัดประเภทรายการและการวัดมูลค่าทรัพย์สินทางการเงิน, การรายงานเรื่องการด้อยค่าของสินทรัพย์ และการจัดทำบัญชีปกป้องความเสี่ยงในงบการเงิน

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรายงานตามมาตรฐานบัญชีสากล เรื่องการบันทึกและรับรู้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการหารือกับสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานดูแลเกี่ยวกับมาตรฐานบัญชีของประเทศไทย และสถาบันการเงินไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตาม

"มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้ ระบุวันบังคับใช้ในต่างประเทศ คือ 1 ม.ค. 2561 ซึ่งประเทศไทยคงต้องรอความชัดเจนจากสภาวิชาชีพบัญชีฯเกี่ยวกับขอบเขตแนวทางบังคับใช้ ซึ่งปกติจะล่าช้ากว่าต่างประเทศ 1-2 ปี" นางรุ่งกล่าว

ขณะที่นายคริสโตเฟอร์ ซอนเดอร์ กรรมการบริหารงานตรวจสอบบัญชีธุรกิจธนาคาร บริษัท เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า IFRS 9 จะมีผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มธนาคารและบริษัทประกัน ซึ่งต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ ขณะเดียวกัน ธนาคารและผู้ลงทุนต้องพิจารณาผลกระทบ

ทั้งด้านการรายงานทางการเงินและการคำนวณเงินกองทุน โดยเฉพาะธุรกิจประกันที่จะได้รับผลกระทบทั้งจาก IFRS 9 และ IFRS 4 (เรื่องบัญชีสัญญาประกันภัย) ซึ่งธุรกิจอื่นๆ ก็อาจได้รับผลกระทบด้วย

นายปิยะพงศ์ แสงภัทราชัย กรรมการบริหารงานบริหารความเสี่ยงทางการเงิน บริษัท เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า บริษัทต่างๆ ไม่ควรรีบสรุปว่า IFRS 9

เป็นเรื่องของสถาบันการเงิน เนื่องจาก IFRS 9จะกำหนดให้สัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน (Derivative Contracts) ต้องบันทึกด้วยมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนต่องบกำไรขาดทุนของบริษัท หากไม่เลือกใช้และปฏิบัติตามข้อกำหนดการจัดทำบัญชีป้องกันความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม เคพีเอ็มจีคาดว่า สภาวิชาชีพบัญชีฯ จะนำ IFRS 9 มาใช้ในประเทศไทยภายในปี 2562 ซึ่งธนาคารและบริษัทต่าง ๆ ควรเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร ระบบ การสอบทานกระบวนการ และนโยบายการป้องกันความเสี่ยง ในการรายงานทางการเงินเพื่อให้สามารถปฏิบัติตาม IFRS 9 ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ในรายงานของมูลนิธิมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศระบุว่า IFRS 9 เกิดขึ้นเพื่อปิดช่องโหว่การใช้เครื่องมือทางการเงิน ที่เคยเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตการเงินโลกในช่วงปี 2551-2552 ดังนั้น จึงกำหนดให้ต้องรายงานการด้อยค่าของสินทรัพย์ การทำบัญชีป้องกันความเสี่ยง ด้วยการให้พิจารณาถึงความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อให้เกิดการรับรู้ในการคำนวณและการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เตือน แบงก์ ประกัน รับมือ มาตรฐานรายงานการเงินฉบับใหม่ เปิดเผย ความเสี่ยงทางเครดิต

view