สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โลกผวา-อีโบลา-สธ-ชี้ไทยยังเสี่ยงน้อยต่อการระบาด

จาก โพสต์ทูเดย์
ดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเชื้อไวรัสอีโบลาที่ระบาดหนักใน 3 ประเทศแถบแอฟริกา ได้แก่ กินี เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อไปแล้ว 1,201 คน เสียชีวิต 672 คน ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา

นอกจากนี้ ทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ มีผู้ป่วยหนีออกจากโรงพยาบาล ทำให้เชื้อไวรัสแพร่ไปในเขตชุมชน มีตัวเลขที่น่าตกใจว่า ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 วัน ระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 108 คน แม้แต่แพทย์จากสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปรักษาอย่าง นพ.เคนท์ แบรนลีย์ ก็ยังติดเชื้อเข้าเสียเอง

คำถามที่เกิดขึ้น คือ มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่เชื้อมรณะจะแพร่กระจายออกนอกทวีป หรือกระทั่งแพร่ระบาดมาถึงไทย เพราะขนาดองค์การอนามัยโลกก็ยอมรับว่าประเทศในแอฟริกาตะวันตกมีศักยภาพการควบคุมโรคต่ำ อาจทำให้ไวรัสระบาดออกนอกทวีป

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความเห็นว่า หากมองในแง่อัตราการเสียชีวิตและการระบาด ตัวเลขค่อนข้างน่ากังวล แต่หากมองในแง่ความสามารถในการระบาดยังถือว่าไม่รุนแรง เพราะเชื้ออีโบลาติดต่อทางสารคัดหลั่ง รวมถึงมีเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสศพผู้เสียชีวิตโดยไม่ป้องกัน

“หากเทียบกับโรคไข้หวัด 2009 ที่ปีเดียวติดกันมากกว่า 100 ล้านคน แต่เชื้ออีโบลาผ่านมาครึ่งปียังเพิ่งติดต่อแค่ประมาณ 1,000 คน เพราะฉะนั้นในแง่การระบาดยังไม่น่ากังวล”นพ.โอภาส กล่าว

ขณะที่ความเสี่ยงในการระบาดมายังประเทศไทยนั้น นพ.โอภาส บอกว่า การระบาดข้ามทวีปช่องทางที่ง่ายที่สุดคือทางเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม พื้นที่ระบาดอยู่แถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งไม่มีไฟลต์บินตรงมาไทย ฉะนั้นจึงมีการคัดกรองผ่านประเทศแถบยุโรปซึ่งมีหน่วยกักกันโรคเข้มข้นอยู่แล้ว ข้อดีอย่างหนึ่งคือ เชื้ออีโบลามีระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น เพียง 2 วันก็เห็นชัดว่าผู้ป่วยมีอาการหรือไม่

“สำหรับขาออก กระทรวงการต่างประเทศได้ออกคำเตือนคนไทยไม่ให้เดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยงในช่วงนี้แล้ว เนื่องจากเห็นว่าประเทศเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ส่วนคนเดินทางขาเข้าได้มีการคุมเข้มด่านตรวจและกักกันโรคในสนามบินนานาชาติทุกแห่ง โดยคุมเข้มในลักษณะเดียวกันกับโรคซาร์ส และไข้หวัด 2009 โดยหากมีผู้ป่วยต้องสงสัยก็มีมาตรการกักกัน และส่งให้กรมควบคุมโรคดูแลผู้ป่วยทันที”รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ

เช่นเดียวกับ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มองว่าโอกาสที่เชื้ออีโบลาจะระบาดข้ามทวีปมาฝั่งอเมริกาหรือเอเชียนั้น ยังมีความเป็นไปได้น้อย เพราะผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลามีอัตราการเสียชีวิตสูง 60-90% หมายความว่าเมื่อติดเชื้อแล้ว ผู้ป่วยมักไม่สามารถเดินทางได้ การระบาดจึงจำกัดอยู่ในแอฟริกาตะวันตก และจะค่อยๆ แผ่ออกไปยังประเทศข้างเคียงมากกว่าจะแพร่ระบาดข้ามทวีป

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า แม้ไทยจะมีความเสี่ยงต่ำต่อการระบาด แต่ก็ได้จัดระบบเฝ้าระวังป้องกัน 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.ให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ให้สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศเฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค หากพบผู้มีอาการอยู่ในข่ายสงสัยให้รายงานทันที

2.ให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้มาตรการดูแลรักษา หากมีผู้ป่วยมีอาการในข่ายสงสัยในระดับเดียวกับโรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส เป็นต้น และ 3.ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ

ทั้งนี้ อาการของผู้ติดเชื้อจะมีไข้สูงทันที อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะมาก ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย มีผื่นนูนแดงขึ้นทั่วตัว ในรายที่รุนแรงมีอาการเลือดออกง่าย ร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและช็อก อวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่ มีระยะฟักตัว 2-21 วัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โลกผวา อีโบลา สธ ชี้ไทย ยังเสี่ยงน้อย การระบาด

view