สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิจัยชี้ 95 เปอร์เซ็นต์ ปชช.ไม่พอใจการทำงานของตำรวจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

วิทยานิพนธ์มจร. เปิดโปงพฤติกรรมตำรวจ ขาดจริยธรรม มีทั้งเล่นพรรคเล่นพวก จับผู้ต้องหาผิดตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ได้พิจารณาคัดเลือก วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เรื่อง "วิธีการพัฒนาจริยธรรมของข้าราชการตำรวจเชิงพุทธบูรณาการ" โดยนางตวงเพชร สมศรี นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ให้เป็นวิทยา นิพนธ์ระดับดี ซึ่งงานวิจัยดังกล่าว เป็น งานวิจัยเชิงคุณภาพ และภาคสนาม ศึกษาเฉพาะเขตกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ใช้ระยะเวลาในการทำวิจัย 1 ปี เพื่อศึกษาหาสาเหตุ และวิธีการแก้ปัญหาการที่ประชาชนมีอคติต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ตำรวจ

นางตวงเพชร กล่าวถึงผลการวิจัยครั้งนี้ว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของตำรวจนั้น ทางคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้กำหนดไว้ในประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2553 ท้ายกฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของ ตำรวจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 ข้อ7 - ข้อ 15 แต่ยังพบปัญหาทางจริยธรรมของข้าราชการตำรวจ คือ ปัญหาด้านเนื้อหาของจริยธรรมตำรวจ ปัญหาการยอมรับที่จะนำจริยธรรมไปปฏิบัติ ปัญหาการนำจริยธรรมมาบังคับใช้ จึงทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งข้อมูลจากฝ่ายอำนวยการ 7 กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 1 พบว่า เรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด แบ่งเป็นสายงาน คือ 1.งานสอบสวน ไม่ได้รับความเป็นธรรม คดีไม่คืบหน้า 2.งานจราจร ไม่พอใจการจับกุม ตั้งด่านไม่มีนายตำรวจคุม 3.งานสายตรวจ ระงับเหตุล่าช้า ไม่ค่อยตรวจตามชุมชน 4.งานสืบสวน กลั่นแกล้ง ยัดข้อหา แม้ร้อยละ 95 ของเรื่องร้องเรียนจะไม่มีมูล แต่การร้องเรียนส่วนใหญ่มาจากการไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ

นางตวงเพชร กล่าวต่อไปว่า จากงานวิจัยยังสรุปปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในปัจจุบันขึ้น อยู่กับปัจจัย 4ประการ คือ 1.ภาวะความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของตำรวจ 2.สภาพการทำงานที่เสี่ยงอันตราย 3.งานบังคับใช้กฎหมายที่ต้องปฏิบัติภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง4.งานตำรวจเป็นงานที่มีการใช้ดุลยพินิจค่อนข้างมากสำหรับการปฏิบัติงานของตำรวจชั้นผู้น้อย ทั้งนี้ยังมีปัญหาที่พบในการปฏิบัติหน้าที่อีก อาทิเช่น ปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก โดยการคัดเลือกพวกพ้องของตนเข้ามาทำงาน, ปัญหาการ แต่ตั้งโยกย้ายที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง, ปัญหาค่าตอบแทนเงินเดือนน้อย แต่ความต้องการทางวัตถุมีสูง ตลอดจน ปัญหาการจับผู้ต้องหาผิดตัว เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน ยากที่จะแก้ไข จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

นางตวงเพชร กล่าวด้วยว่า ส่วนวิธีการพัฒนาจริยธรรมของตำรวจ จากผลการวิจัยเสนอว่า 1.สนับสนุนและส่งเสริมให้บุคคลหรือหน่วยงานภายนอกมีส่วนในการควบคุมตรวจสอบ จริยธรรมของข้าราชการเพิ่มขึ้น 2.สนับสนุนให้ดำเนินคดี และลงโทษข้าราชการตำรวจที่ประพฤติมิชอบอย่างเคร่งครัด 3.ไม่สนับสนุนค่านิยมของข้าราชการไทยที่มีอยู่แล้วในสังคมที่เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศ 4.ผู้บังคับบัญชาควรประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี5.สนับสนุนให้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ 6.ส่งเสริมการบริหารงานราชการตามแนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 7.สนับสนุนให้ผู้บังคับบัญชา ผู้บริหาร นำหลักธรรมมาปรับใช้ 8.สนับสนุนให้หน่วยงานทั้งหลาย รวมทั้งประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุม ตรวจสอบการปฏิบัติราชการด้านจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง

นางตวงเพชร กล่าวอีกว่า ที่สำคัญในการพัฒนาจริยธรรมของตำรวจยังสามารถนำหลักพุทธบูรณาการมาปรับใช้ได้โดย 1.หลักอคติ 4 คือ ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก โทสาคติ ลำเอียงเพราะเกลียด โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลาหรือเพราะความโง่หลงงมงาย ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัวหรือเพราะเกรงใจ เพราะถือเป็นหลักต้องห้าม ควรละเว้น เพราะถือเป็นการทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 2.หลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา 3.บุญกิริยาวัตถุ 3 คือ ทำบุญด้วยการให้ (ทานมัย) แบ่งปันสิ่งของ แก่คนอื่น ด้วยความเต็มใจ ทำบุญด้วยการรักษาศีล (ศีลมัย) สำรวมกายและวาจา อ่อนน้อมถ่อมตน มีวาจาสุภาพ ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา (ภาวนามัย) การฝึกอบรมจิตให้สงบและเกิดปัญญา ไม่ถูกโมหะครอบงำ คิดแต่เรื่องดีที่เป็นกุศล เป็นการสำรวมจิตใจ เพื่อกำจัดกิเลส

" 4.นำหลักพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข กรุณา ปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี อุเบกขา รู้จักวางเฉย มาปรับใช้5.สนับสนุนให้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ 6.สนับสนุนให้ผู้บังคับบัญชา ผู้บริหาร หรือแกนนำในการปฏิบัติราชการนำหลักกุศลกรรมบถมาใช้บูรณาการในการส่งเสริมให้เป็นผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบทำให้เกิดผลเป็นคนดีศรีสังคมหรือตำรวจดีมีคุณธรรม 7.สนับสนุนให้หน่วยงานทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมตรวจสอบการ ปฏิบัติราชการของข้าราชการด้านจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยการนำหลักทิศ 6 มาใช้บูรณาการสร้างเสริมการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบข้างหรือบุคคลที่จะต้องติดต่อประสานงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยจะช่วยทำให้การทำงานร่วม กันมีความสุขเป็นการสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกันกับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน "นางตวงเพชร กล่าว

นางตวงเพชร กล่าวว่า ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ จะจัดพิธีมอบรางวัลให้กับวิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปี 2557 ในวันที่ 17 สิงหาคม 2557 นี้ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย(มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งในปีนี้ไม่มีผลงานวิทยานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลดีเด่น มีเพียงผลงานวิทยานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลระดับดี จำนวน 4 เรื่อง ซึ่งงานวิทยานิพนธ์ วิธีการพัฒนาจริยธรรมของข้าราชการตำรวจเชิงพุทธบูรณาการ เป็น 1 ใน 4 เรื่องที่ได้รับรางวัล


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิจัย เปอร์เซ็นต์ ปชช. ไม่พอใจ การทำงานของตำรวจ

view