สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไอเอ็มเอฟประเมินเศรษฐกิจจีน

ไอเอ็มเอฟประเมินเศรษฐกิจจีน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นจีนปรับตัวสูงขึ้นโดยสาเหตุหลักน่าจะมาจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน

ซึ่งเดิมนักลงทุนเป็นห่วงว่าการที่รัฐบาลจีนพยายามลดทอนการขยายตัวของสินเชื่อโดยเฉพาะในภาค “ธนาคารเงา” (shadow banking) นั้นน่าจะส่งผลกระทบให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 7.5%

ไอเอ็มเอฟได้ประเมินเศรษฐกิจจีนประจำปี 2014 และเผยแพร่รายงานในเดือนกรกฎาคมซึ่งผมเห็นว่าเป็นบทวิเคราะห์ที่มีความละเอียดและครบถ้วนที่ควรนำมาสรุปดังนี้

ข้อสรุปหลักของไอเอ็มเอฟคือ เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีข้างหน้า กล่าวคือจีนเมื่อ 30 ปีก่อนหน้า เคยขยายตัว 9-10% ต่อปี ชะลอลงเหลือ 7.7% ต่อปีในช่วง 2012-2013 และจะขยายตัวต่ำกว่า 7% นับจากปี 2016 (ตารางประกอบ)

ไอเอ็มเอฟ มองว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัวชะลอลงด้วยเหตุผล 5 ประการ คือ

1. เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่มาก (จีดีพีเท่ากับ 9 ล้านล้านดอลลาร์) จึงยากที่จะโตปีละ 10% ทั้งนี้เศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาที่มีขนาดรวมกัน 4 เท่าของจีนยังขยายตัวได้เพียง 2%(หรือส่วนที่เพิ่มขึ้น ประมาณ 730,000 ล้านดอลลาร์) น้อยกว่าการขยายตัวของจีนในปี 2014

2. เศรษฐกิจจีน “กินบุญเก่า” ของการปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อ 30 ปีก่อนหน้ามาใกล้หมดแล้วจึงต้องปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้งหากต้องการจะขยายตัวอย่างยั่งยืน (แต่ก็น่าจะอยู่ที่ระดับ 5% ต่อปีไม่ใช่ 10% ต่อปีเช่นแต่ก่อน)

3. เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การส่งออกของจีนได้รับผลกระทบ

4. การขยายตัวของจีนในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2008-9 เป็นต้นมาเป็นการขยายตัวที่ไม่ยั่งยืนเพราะพึ่งพาการลงทุนและสินเชื่อมากเกินไป ซึ่งกำลังสร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจ (growth has relied too much on investment and credit which is not sustainable and has created rising vulnerabilities…growth is slowing yet risks are still rising)

5. สิ่งที่กำลังท้าทายรัฐบาลจีนในขณะนี้คือจะต้องค่อยๆ ลดการพึ่งพาภาครัฐ การลงทุน (เพื่อส่งออก) และการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในภาคการผลิตเพราะปล่อยให้ขยายตัวสูงเช่นนี้ต่อไปไม่ได้ แต่หากดำเนินการลดทอนพฤติกรรมดังกล่าวมากเกินไปภายในระยะเวลาอันสั้นก็เสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างฉับพลัน (hard landing) ทั้งนี้ไอเอ็มเอฟประเมินว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวอย่างฉับพลันนั้นยังอยู่ที่ระดับต่ำเพราะรัฐบาลกลางมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับสภาวการณ์ดังกล่าวได้ แต่ก็กล่าวเตือนอย่างหนักแน่นว่าหากจีนไม่ปรับตัว (without a change in the pattern of growth) ความเสี่ยงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นระดับกลางใน 5 ปีข้างหน้า

หากจะอธิบายแบบตรงไปตรงมาก็คือเศรษฐกิจจีนขยายตัวแบบนี้ต่อไปไม่ได้เพราะลงทุนมากเกินไป ทำให้ผลิตสินค้าออกมามากเกินไป นอกจากนั้นก็ยังกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากมาผลิตโดยต้นทุนทางการเงินต่ำ (ดอกเบี้ยถูก) เพราะภาครัฐกดดอกเบี้ยเงินฝากให้ต่ำ และแม้ว่าทางการได้พยายามลดทอนการขยายตัวของสินเชื่อก็ได้มีการจัดตั้งระบบ “ธนาคารเงา” ขึ้นเพื่อระดมเงินฝากจากประชาชนโดยให้ดอกเบี้ยสูง เพื่อนำมาลงทุนในโครงการต่างๆ ที่ถมเงินลงไปมากแต่น่าจะมีกำไรน้อย โดยผู้ฝากเงินเชื่อว่าเงินต้นจะไม่สูญหายและจะได้รับดอกเบี้ยครบถ้วน เพราะเชื่อว่ารัฐบาลกลางจะไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงระบบธนาคารเงาก็จะขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งและการลงทุนจนขาดความสมดุลทางเศรษฐกิจก็จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ หมายความว่าฟองสบู่ในภาคธนาคารเงาก็มีแต่จะขยายตัว และเพิ่มความเสี่ยงและความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจจีน

ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นนั้นสามารถนำเอา “ตัวเลขจริง” ในประเทศจีนมาใส่ให้เห็นภาพอย่างชัดเจนดังนี้

1. ประเทศส่วนใหญ่ภาคเอกชนลงทุน 20-25% ของจีดีพีและบริโภค 50-60% ของจีดีพี (ไทยลงทุน 20% บริโภค 55%) แต่ภาคเอกชนจีนลงทุนเกือบ 50% ของจีดีพีในปี 2013 แต่บริโภคเพียง 35% ของจีดีพี (สัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 35% ของจีดีพีในปี 2000 ขณะที่สัดส่วนการบริโภคลดลงมาโดยตลอด) กล่าวคือจีนผลิตสินค้ามากแต่ไม่มีคนซื้อนั่นเอง

2. จีนมีการออมสูงกว่าการลงทุน ซึ่งในที่สุดแล้วการบริโภคน้อยและผลิตมากก็ทำให้จีนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง แปลว่าต้องส่งออกสินค้าเพราะไม่มีกำลังซื้อในประเทศนั่นเอง

3. เมื่อดอกเบี้ยต่ำก็กู้ได้มาก ทำให้สินเชื่อมีสัดส่วนสูงกว่า 200% ของจีดีพี โดยสินเชื่อภาคธนาคารเงาซึ่งก่อกำเนิดเมื่อ 5 ปีที่แล้วแต่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 53% ของจีดีพีในเดือนมีนาคม 2014 (หรือประมาณ 1/4 ของสินเชื่อทั้งหมด) ซึ่งสินเชื่อส่วนใหญ่น่าจะถูกนำไปจัดสรรให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 15% ของจีดีพีและภาคการผลิตที่มีหนี้ประมาณ 110% ของจีดีพีและรัฐบาลท้องถิ่นที่มีหนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7.5% ของจีดีพีในปี 2013 (แต่สูงถึง 70% ของรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นและ 23% ของจีดีพีของท้องถิ่น)

4. ไอเอ็มเอฟเปรียบเทียบการขยายตัวของสินเชื่อ (credit boom) พบว่าในการศึกษา 43 ประเทศในรอบ 50 ปีที่มีการขยายตัวของสินเชื่อสูงนั้นมี 4 กรณีที่คล้ายคลึงกับจีนคือมีสินเชื่อสูงตั้งแต่ต้นและสินเชื่อขยายตัวสูงจนสินเชื่อต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไปอีก 70% หลังจากนั้นภายใน 3 ปี ก็เกิดวิกฤติการเงินทุกราย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไอเอ็มเอฟ ประเมิน เศรษฐกิจจีน

view