สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อีโบลา-ไวรัสร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

ยกระดับสู่ขั้นที่เรียกได้ว่าร้ายแรงสูงสุดอย่างแท้จริง สำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสมรณะอีโบลาในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ล่าสุด องค์การอนามัยโลกประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา เป็น ‘ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ’

แถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลกระบุอย่างชัดเจนว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดระหว่างประเทศที่ขยายวงมากขึ้น และนับเป็นเรื่องที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง เพราะไวรัสอีโบลามีระดับอันตรายสูงสุด

ความหมายของประกาศข้างต้นคือ มีความเสี่ยงอย่างมากที่ไวรัสอีโบลาจะระบาดลุกลามออกนอกประเทศกีนี ไลบีเรีย เซียราเลโอน และไนจีเรีย หลังจากพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อและเสียชีวิตในประเทศซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ประเทศแคนาดาประกาศกักตัวผู้โดยสารจากไนจีเรียต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลาหลังมีอาการไข้ขึ้นสูง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) แผนกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน(เอ็มเอสเอฟ)  ออกมาประสานเสียงพร้อมกันว่า การประกาศขององค์การอนามัยโลกออกจะล่าช้าเกินไป เพราะเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดอยู่ในระดับคงที่ องค์การอนามัยโลกเคยคาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดจะยุติภายในวันที่ 22 พ.ค. แต่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นพิสูจน์แล้วว่าองค์การอนามัยโลกคาดการผิด

แม้จะมีข่าวดีของการใช้ยาและวัคซีน (ซีแม็พพ์) รักษาไวรัสอีโบลา 2 นายแพทย์อาสาชาวอเมริกันที่ติดเชื้อจากการช่วยผู้ป่วยในไลบีเรีย แต่กระนั้น ผลการให้ยารักษาที่ยังไม่เสถียรจนไม่อาจกล่าวได้เต็มปากว่าสามารถจัดการกับไวรัสอีโบลาได้ชะงัด 100 % กลายเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเร่งเตือน ให้นานาประเทศสรรหามาตรการสกัดกั้น ไม่ให้ไวรัสมรณะอีโบลากล้ำกรายเข้ามาในเขตแดนประเทศตนเอง

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยอมรับว่า จนถึงขณะนี้ มาตรการป้องกันที่มีอยู่เป็นไปในแบบต่างคนต่างทำ ไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจังตามแบบที่องค์การอนามัยโลกคาดหวัง แทบทุกประเทศที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่การระบาด ต่างใช้มาตรการที่คล้ายกันคือ ตั้งด่านตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสาร โดยเฉพาะเที่ยวบินที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาด พร้อมสั่งกักตัวผู้โดยสารที่มีอาการไข้ทันทีเพื่อตรวจสอบเชื้อไวรัสอีโบลา

อินเดีย ซึ่งมีแรงงานกว่า 4.5 หมื่นคนทำงานในพื้นที่ระบาด ได้ตั้งระบบเฝ้าติดตามผู้ที่เดินทางไปหรือกลับจากพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน 4 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม เคอิจิ ฟุคุดะ หัวหน้าด้านความปลอดภัยทางสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกแสดงความคาดหวังว่า ไวรัสอีโบลาแม้จะดูอันตรายและคุกคามชีวิตมนุษย์รุนแรง แต่ไวรัสก็คือไวรัส ซึ่งหมายความว่าโรคที่เกิดขึ้นไม่ได้ลึกลับ เป็นโรคติดเชื้อที่ไม่เกินความสามารถของมนุษย์ในการจัดการควบคุม

ขอเพียงแต่ไม่ประมาท ประชาคมโลกย่อมจัดการให้ผ่านพ้นไปได้

ประเทศไทยความเสี่ยงต่ำ-สธ.ดันกฎหมายคุมโรค

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คงยากที่จะมีการแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย  เนื่องจากไม่มีเที่ยวบินบินตรงจากประเทศแอฟริกาตะวันตก และระยะฟักตัวค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงเห็นได้ชัดก่อนที่จะเดินทางออกนอกประเทศ

“ผมไม่ได้บอกว่าไม่มีโอกาสที่จะเข้าประเทศไทย แต่โอกาสยังน้อยมาก ประเทศที่มีโอกาสมากกว่าคือยุโรป ที่มีเที่ยวบินบินตรง แต่มีมาตรการป้องกันเข้มข้นอยู่แล้ว ทำให้สามารถคัดกรองได้ก่อนถึงประเทศไทย ส่วนมาตรการควบคุมโรค เชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขสามารถรับมือได้ ประเทศไทยเคยรับมือกับโรคซาร์สหรือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มาแล้ว” นพ.ยงระบุ

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศภาวะฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก คือการระดมทรัพยากรทั้งเงินทุนและคน ช่วยเหลือประเทศที่เกิดการระบาด รวมถึงให้ทุกประเทศเตรียมพร้อมซึ่งประเทศไทยได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมถึงพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ส่วนกระแสข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อที่นครเจดดาห์ ซาอุดิอาระเบียนั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่าผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยหัวใจวาย ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสอีโบลา จึงยังไม่อยากให้ผู้ที่จะเดินทางไปแสวงบุญประกอบพิธีฮัจย์ ที่ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนก.ย.นี้ ตื่นตระหนก ปกติมีมาตรการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบียอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า จะเสนอที่ประชุมฝ่ายสังคมและจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในสัปดาห์หน้า เพื่อประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 เป็นโรคที่ 6 จากเดิม 5 โรคได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง กาฬโรค และโรคซาร์สหรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน หากคสช.เห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถดำเนินการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างเข้มข้น

สำหรับมาตรการป้องกันของประเทศไทย เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยว่า ได้ตั้งจุดตรวจวัดไข้ผู้ที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศซึ่งมีการแพร่ระบาด โดยปัจจุบันมีจำนวนลดลงจากเดิมเฉลี่ยสัปดาห์ละ 30 คน เหลือเพียงสัปดาห์ละ 20 คน ส่วนผู้โดยสารจาก 45 ประเทศแถบแอฟริกาต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน นอกจากนี้ได้ประสานไปยังประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกัน โดยกลุ่มประเทศดังกล่าวมีผู้เดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงเข้ามามากกว่าประเทศไทย

ด้านรท.สุรพล อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการรองผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ บริษัทการบินไทย เปิดเผยว่า เที่ยวบินไปยังทวีปแอฟริกาของการบินไทยมีเพียง โจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้เพียงจุดเดียว ให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบินแต่ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อแต่อย่างใด แต่ได้สั่งการให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ การบินไทยได้ออก 7 มาตรการป้องกันไวรัสอีโบลา ซึ่งใกล้เคียงกับการป้องกันการแพร่ระบาดของ โรคซาร์ เมื่อพ.ศ. 2546 และการระบาดไข้หวัดนกในพ.ศ. 2547 ซึ่งได้ผลดีและได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก ได้แก่ 1.คัดกรองการตรวจรับผู้โดยสาร หากมีความสุ่มเสี่ยงอาจขอใบรับรองแพทย์ 2. ให้ลูกเรือเฝ้าระวังสังเกตการผู้โดยสารตลอดการเดินทาง 3.พ่นยาฆ่าเชื้อโรคภายในห้องโดยสารระหว่างการจอดที่สนามบิน 4.ทำความสะอาดภายในอากาศยาน เพิ่มความสะอาดใน 36 จุดสัมผัสภายในห้องผู้โดยสาร เช่น ห้องน้ำ หน้าต่าง 5.เฝ้าระวังสุขอนามัยของพนักงานประจำเครื่องบิน 6.เพิ่มการตรวจสอบบรรจุภัณฑ์และหลีกเลี่ยงการขนส่งสินค้าที่มีความเสี่ยง 7.คัดเลือกวัตถุดิบและวิธีการปรุงอาหารที่สะอาดได้มาตรฐานและไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นพาหะของโรค

ไวรัสสายพันธ์มรณะ

อีโบลา เป็นกลุ่มโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการป่วยรุนแรง พบครั้งแรกพ.ศ.2519  คาดว่าแพร่ระบาดจากค้างคาวและลิง การแพร่ระบาดในคนจากการสัมผัส เลือด บาดแผล สารคัดหลั่งของเหลวจากร่างกาย และผู้ป่วยหรือศพที่ติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการภายในระยะเวลา 2-21 วัน โดยจะเริ่มจากมีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย ไข้สูงเฉียบพลัน เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ

อาการในระยะต่อมาคือเลือดออกทางจมูก ปาก ตา มีผิ่นนูนแดงตามร่างกาย ตับวาย ไตวาย ท้องเสียอาเจียน มีเลือดออกทางทวารหนัก เลือดออกง่ายทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ยังไม่มียารักษา อัตราการเสียชีวิตมากว่า 50 %

ลำดับเวลาระบาด 6 เดือนตายร่วมพัน

ก.พ. – พบผู้ติดเชื้ออีโบลารายแรกในกีนี
31 มี.ค. - พบผู้ติดเชื้อในไลบีเรีย
8 เม.ย. – องค์การอนามัยโลก ประกาศให้การระบาดของไวรัสอีโบลาเป็นความท้าทายสูงสุดในประวัติศาสตร์
10 เม.ย. –องค์กรนานาชาติออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาด
26 พ.ค. - พบผู้ติดเชื้อในเซียราเลโอน
18 มิ.ย. – องค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ค้นพบเชื้อครั้งแรกเมื่อ 40 ปีก่อน โดยมีอัตราการระบาดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 60 % ใน 2 สัปดาห์
23 มิ.ย. – องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ) ยอมรับอีโบลาระบาดรุนแรงเกินควบคุม
3 ก.ค. – องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าอีโบลาจะระบาดนานอีกหลายเดือน
25 ก.ค. – ไวรัสมรณะระบาดเข้าสู่ไนจีเรีย
28 ก.ค. – แพทย์อาสาชาวสหรัฐ 2 รายติดเชื้ออีโบลาขณะปฎิบัติภารกิจรักษาผู้ติดเชื้อในไลบีเรีย
1 ส.ค. – องค์การอนามัยโลกงบประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อจัดการการแพร่ระบาด
6 ส.ค. – พบผู้ต้องสงสัยชาวซาอุดิอาระเบียติดเชื้อคล้ายอีโบลาและเสียชีวิตแล้วเป็นรายแรกนอกทวีปแอฟริกา
8 ส.ค. – ดับเบิ้ลยูเอชโอประกาศยกระดับเตือนภัยการระบาดของไวรัสอีโบลาว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยยอดผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,711 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 932 คน

3 บริษัทเร่งทดลองยารักษา

- บริษัท แมพพ์ ไบโอฟาร์มาซูติคอล ในซานดิเอโก ทำงานร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ (เอ็นไอเอช) พัฒนายารักษาโรคอีโบลามาหลายปี ล่าสุดร่วมมือกับบริษัท ดีไฟรัส ในโตรอนโต ในการพัฒนายา “ซีแมพพ์” การทดลองในการรักษาโรคจากลิงไพรเมท 8 ตัวได้ผลค่อนข้างดี ขณะที่การให้ยากับนายแพทย์ชาวสหรัฐ 2 รายจนถึงขณะนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

- บริษัท ฟูจิฟิล์ม โฮล์ดิงส์ ครอป ของญี่ปุ่น ร่วมกับบริษัท เมดิเวคเตอร์ อิงค์ ในบอสตัน ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ในการเริ่มทดลองใช้ยา “ฟาวิพิราเวียร์” รักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลาในมนุษย์

- บริษัท เทคมิรา ฟามาซูติเคิล ในแคนาดา เปิดเผยว่า เอฟดีเอ สหรัฐ ได้เปลี่ยนสถานะของยา ‘ทีเคเอ็ม-อีโบลา’ ของบริษัทให้อยู่ในสถานะ ‘มีความเป็นได้ที่จะอนุญาตให้ใช้’ ในผู้ป่วยอีโบลาแล้ว นับเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะใช้ยาดังกล่าวกับผู้ป่วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อีโบลา ไวรัสร้ายแรง ที่สุดในประวัติศาสตร์

view