สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อคิดเกี่ยวกับอาชีพ

ข้อคิดเกี่ยวกับอาชีพ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ระยะนี้มีผู้ปกครอง (ส่วนใหญ่เป็นคุณแม่) มาหารือกับดิฉันเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพของลูกๆ

และมีบัณฑิตใหม่มาหารือถึงการเรียนต่อหรือการเปลี่ยนสายการเรียนรวมถึงการต้องการเปลี่ยนจากอาชีพที่ทำอยู่ ไปทำอาชีพอื่น

สัปดาห์นี้จึงอยากจะฝากข้อคิดไว้สำหรับผู้ปกครองเป็นของขวัญในวันแม่ค่ะ

เนื่องจากดิฉันเป็นนักการเงิน เกือบทั้งหมดของคนที่มาหารือจึงหารือว่า อยากเข้าสู่อาชีพนักการเงิน จะดีหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่

เมื่อถามกลับไปว่า เหตุใดจึงต้องการเปลี่ยนมาทำงานด้านการเงิน คำตอบที่ได้รับมากที่สุดคือ ถูกดึงดูดใจด้วย “รายได้” เห็นตัวอย่างของคนที่ทำงานด้านนี้มีรายได้ดี เห็นเพื่อนๆ ที่เข้าไปทำงานด้านนี้ดูอู้ฟู่ หรูหรากว่าใครๆ

นอกจากนี้ คนทำงานด้านการเงินยังสบายกว่า งานไม่หนัก

ข้อคิดแรกที่อยากฝากเอาไว้คือ “เงินไม่ใช่ทุกอย่าง” อย่าเลือกทำงาน หรืออยากเปลี่ยนอาชีพ เพียงเพราะ “เงิน” อย่างเดียว

ดิฉันเคยให้สัมภาษณ์และรวบรวมไว้ในหนังสือ “ฉลาดเลือก ฉลาดออม ฉลาดลงทุน” ว่าในช่วงแรกของการทำงาน เราไม่ควรจะมุ่งเรื่องของเงินรายได้ เพราะเรายังต้องเรียนรู้อีกมาก เรายังไม่เก่ง ไม่มีความชำนาญ ไม่มีประสบการณ์ เราต้องฝึกฝนให้ได้ประสบการณ์ก่อน

นอกจากนี้ก็ต้อง “อดทน” ไม่มีอะไรถูกใจไปทุกอย่าง เวลาเรียนเราสบาย ไม่ต้องเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็น มีช่วงว่างระหว่างวันให้ไปทำกิจกรรม ไปคุยกับเพื่อน ไปดูหนังฯลฯ เยอะแยะมากมาย แต่พอมาทำงาน เราต้องอยู่ในกรอบ ในวินัย ยิ่งถ้าเป็นงานการเงิน ยิ่งต้องเข้าทำงานตรงเวลา เพราะอาจจะมีคนอื่นรอคอยข้อมูลจากเรา หรือรอรับบริการจากเราได้

ข้อคิดที่สอง “สิ่งที่เราเห็น หรือที่ได้ยินมา อาจเป็นเพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด” คนที่คิดว่าอาชีพการเงินทำงานไม่หนัก คงไม่ทราบว่า วาณิชธนากรส่วนใหญ่ ทำงานถึงสองสามทุ่มทุกวัน และหากจะมีการปิดดีล บางครั้งต้องทำงานจนสว่าง

นอกจากนี้ คงไม่ทราบว่า ผู้จัดการกองทุน หรือนักบริหารเงิน ต้องนั่งติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ตลาดเงิน และตลาดทุนต่างๆ ในช่วงกลางคืน หลังจากเลิกงานกลับบ้าน เพื่อติดตามสถานการณ์และนำมาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดของเราเมื่อตลาดเปิดในเช้าวันรุ่งขึ้น

และหากต้องมีการประมูลเพื่อรับทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานวาณิชธนกิจ งานจัดการลงทุน หรืองานอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็ต้องทำเอกสารเพื่อยื่นประมูลกันจนถึงนาทีสุดท้าย

ข้อคิดที่สาม “รักในสิ่งที่ทำ”

อาชีพที่เราทำควรจะเป็นอาชีพที่เรามีความถนัด หรือมีความรัก ความชอบอยู่ ตรงนี้อาจจะไม่ใช่สำหรับทุกคน เพราะหลายคนเข้าเรียนในสาขาที่พ่อแม่อยากให้เรียน หลายคนคะแนนไม่ถึงที่จะเรียนในสาขาที่ชอบ แต่จากประสบการณ์ของดิฉัน ของบางอย่างทำไปก็จะชอบเอง

หากต้องทำงานที่ไม่รัก ไม่ชอบ อยากนะนำให้มองด้านอื่นของงาน เช่น เรามีความจำเป็นต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวหรือไม่ หากใช่ ควรจะตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้ดี และ “ทำใจ” ให้รักในสิ่งที่เราทำ หากในอนาคตมีโอกาสที่เราจะสามารถเปลี่ยนไปทำในสิ่งที่เรารักเราชอบได้ เราก็สามารถไปทำได้ ชีวิตเริ่มต้นได้หลายครั้ง ไม่ต้องกลัวเรื่องเสียเวลาค่ะ เพราะไม่ว่าเราจะทำงานอะไร เราก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่แล้ว

หลายคนทำงานที่ชอบ ที่ถนัด ที่รัก อยู่แล้ว แต่ไม่สบายใจ อยากเปลี่ยนไปทำงานอื่น โดยเฉพาะงานด้านการเงิน เพราะเห็นว่ารายได้ดี แต่ไม่เห็นเบื้องหลังฉากดังที่กล่าวไป และสิ่งที่ไม่เห็นแน่นอนคือ “ความเครียด” อันเกิดจากความรับผิดชอบที่มีอยู่มาก ส่วนใหญ่ก็มากเกินกว่าที่ในชีวิตนี้จะหามาชดใช้ได้

คนที่มีคุณสมบัติเป็นพนักงานที่ดีและประสบความสำเร็จนั้น ส่วนใหญ่ให้งานอะไรไปทำก็จะพยายามทำให้ดี แม้จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ และเมื่อไปถึงขั้นเป็นเจ้าของกิจการแล้ว ชอบหรือไม่ชอบก็ต้องทำ เลือกไม่ได้

ข้อคิดสุดท้ายที่อยากฝากเอาไว้คือ สิ่งที่เราเรียนมาเป็นเพียงพื้นฐาน สำหรับทำงานเบื้องต้น เรายังต้องเรียนรู้อีกมาก ทั้งเรียนรู้ในวิชาชีพ เรียนรู้ในการปรับตัวทำงานร่วมกับคนต่างวัย ต่างประสบการณ์ และเรียนรู้ที่จะประยุกต์วิทยาการใหม่ๆ มาใช้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะทำอะไร เราต้อง”ซื่อสัตย์” และต้องมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จค่ะ คนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่การทำงานมักจะมีทัศนคติ “Work-Life Balance” มากเกินความพอดีไปหน่อย คือไม่บ้าทำงานหามรุ่งหามค่ำแบบกลุ่ม Baby Boomer หรือ Generation X แต่จะทำเท่าที่อยากทำ และอยากมีเวลาทำอะไรส่วนตัวที่ชอบเยอะๆ ดิฉันก็อยากจะฝากเรื่องการมีวินัยไว้นะคะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อความสำเร็จ ความสุข และเพื่อความภูมิใจที่จะติดตัวไปตลอดชีวิตค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้อคิดเกี่ยวกับอาชีพ

view