สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเสี่ยงของการลงทุนใน หุ้นกู้

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สถานีลงทุน สินีรัตน์ สิริอิทธิวงศ์ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ด้วยทิศทางของดอกเบี้ยในประเทศซึ่งอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ภาคเอกชนของไทยระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ หรือ "หุ้นกู้" สูงถึง 320,000 ล้านบาทในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) และเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่กำลังมองหา สินทรัพย์ ซึ่งให้ผลตอบแทนในระดับที่ยอมรับได้พร้อมกับความเสี่ยงที่ไม่สูงมากนัก

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ออกหุ้นกู้ในปัจจุบันมีพื้นฐานและลักษณะของการทำธุรกิจที่ต่างกัน การลงทุนในหุ้นกู้แต่ละตัวจึงมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ซึ่งความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นกู้นั้นมีอะไรบ้าง เราลองมาทำความเข้าใจจากบทความสั้น ๆ นี้ค่ะ

โดยปกติแล้วผู้ที่ลงทุนในหุ้นกู้จะมีฐานะเป็น "เจ้าหนี้" ของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ดังนั้น ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเป็นเจ้าหนี้ก็คือ การที่ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา (ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเงินต้นหรือดอกเบี้ย) หรือที่เราเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "Default Risk" นั่นเอง

ทั้งนี้ "อันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating" เป็นสิ่งที่จะช่วยบอกเราว่าบริษัทนั้น ๆ มีความเสี่ยงของการไม่สามารถจ่ายชำระหนี้อยู่ในระดับสูงหรือต่ำ โดย Credit Rating ที่ประกาศโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (ในประเทศไทยมีสถาบันที่ทำหน้าที่นี้อยู่ 2 แห่ง คือ TRIS Rating และ Fitch Thailand) จะมีตั้งแต่ระดับที่ดีที่สุด คือ "AAA" และลดต่ำลงไปเป็น "AA" , "A", "BBB", "BB" จนถึงระดับ "D (Default)" ซึ่งเป็นระดับแย่ที่สุด หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะผิดนัดชำระหนี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม อันดับความน่าเชื่อถือมักจะแปรผกผันกับผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน โดยหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือสูงมักจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหุ้นกู้มีความ น่าเชื่อถือต่ำ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจึงสามารถเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือ แตกต่างกัน ตามระดับของความเสี่ยงที่ยอมรับได้ แต่ก็ไม่ควรจะลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำจนเกินไปด้วยค่ะ (ควรจะลงทุนในหุ้นกู้ที่มี Credit Rating ตั้งแต่ "BBB" ขึ้นไป)

นอกจากนี้แล้ว การลงทุนในหุ้นกู้ยังต้องพิจารณาความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) ควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากในช่วงที่ดอกเบี้ยในตลาดขยับตัวสูงขึ้น ราคาของหุ้นกู้จะปรับตัวลดลง แต่ถ้าดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวลดลง ราคาของหุ้นกู้จะขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อกำไร-ขาดทุนหากมีการขายหุ้นกู้ก่อนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน แต่ถ้าเป็นการถือหุ้นกู้เอาไว้จนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนโดยไม่ขายออกมาก่อน ก็จะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของความผันผวนจากอัตราดอกเบี้ย (แต่ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของ Default Risk อยู่)

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยในตลาดจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น การคาดการณ์ถึงความเสี่ยงในเรื่องดอกเบี้ยจึงอาจจะทำได้ค่อนข้างยากค่ะ

ความเสี่ยงที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) หรือความเสี่ยงที่จะไม่สามารถขายหุ้นกู้ที่ถือครองเอาไว้ได้อย่างรวดเร็วใน ช่วงเวลาที่ต้องการ เนื่องจากการซื้อขายตราสารหนี้ยังถือว่ามีสภาพคล่องที่น้อยกว่าการซื้อขาย หุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม เราสามารถลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้น้อยลงได้ด้วยการลงทุนผ่านกองทุนรวม ตราสารหนี้ ซึ่งสามารถทำการซื้อขายได้อย่างสะดวกรวดเร็วในทุกๆ วันทำการ และถึงแม้การลงทุนในหุ้นกู้จะมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาหลายด้าน แต่ผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อเทียบกับความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในยุคที่ดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างต่ำเช่นในปัจจุบันค่ะ


ข้อจำกัดความรับผิด (Disclaimer) บทความฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับตลาด ตราสารหนี้ โดยอ้างอิงจากข้อมูลสถิติในอดีต ประกอบกับทรรศนะส่วนตัวของผู้เขียน ทั้งนี้ ThaiBMA ขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อผู้ที่นำเอกสารฉบับนี้ ไปใช้แล้วก่อให้เกิดซึ่งความสูญเสียกำไรหรือสูญเสียโอกาส หรือความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเสี่ยงของการลงทุน หุ้นกู้

view