สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปลดล็อคกรงขังความคิดพนักงาน

ปลดล็อคกรงขังความคิดพนักงาน

โดย : รศ.ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สัปดาห์นี้ขอนำเสนอประเด็นที่ว่าทำอย่างไรสังคมไทยที่ค่อนข้างจะไม่ค่อยอ้าแขนรับการเปลี่ยนแปลง

การคิดนอกกรอบ จะสามารถพัฒนาปลูกฝังบุคลากรของเราให้เป็นคนใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเองตลอดเวลา

เป็นคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มองหาช่องทางในการปรับปรุงการทำงานของตนเองและองค์กรให้ดีขึ้นอยู่เสมอๆ โดยไม่ต้องมีหัวหน้างานมายืนชี้นิ้วสั่ง

คราวก่อนดิฉันได้นำเสนอกลยุทธ์การนำและการบริหารที่หัวหน้างานทุกระดับสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อที่จะปลูกฝังนิสัยใฝ่รู้ ขยันหาข้อมูล สนใจอ่านหนังสือให้แก่ลูกน้องไปบ้างแล้ว ซึ่งเชื่อว่าหากหัวหน้าและลูกน้องประสบความสำเร็จในการปูพื้นฐานการเป็นคนใฝ่เรียนรู้ และฝึกวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสรุปประเด็นในการนำเสนออยู่บ่อยๆ จะเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับการก้าวต่อไปเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม เป็นผู้สร้างนวัตกรรมและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนเราทุกคนไม่ได้เกิดมาพร้อม DNA ที่มีความสร้างสรรค์อยู่ในตัวเสมอไป แต่เราสามารถฝึกฝน สร้างวัฒนธรรมค่านิยมและบริหารสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในบ้าน ในโรงเรียนและสถานที่ทำงานให้เอื้ออำนวยกับการบ่มเพาะทัศนะคติ พฤติกรรมการเรียนรู้และการทำงานของบุคลากรให้เป็นในแนวทางสร้างสรรค์อย่างที่ปรารถนาได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ ทั้งนี้เราต้องตระหนักว่าสำหรับคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้มี DNA สร้างสรรค์ในตัวมากนักก็ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการพัฒนาพวกเขา

ทั้งนี้ผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการ ประกบ กระตุ้น และ กำกับ ให้พนักงานคิด พูดและปฏิบัติงานในเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์และมีวิสัยทัศน์ก็คือหัวหน้างานโดยตรงนั่นเอง เคยเห็นใช่ไหมคะว่ามีพ่อแม่หลายคู่ที่เป็นผู้มีการศึกษาดี ทำงานในองค์กรชั้นนำ แต่ยุ่งกับการงานมากจนไม่มีเวลาดูแลลูก ปล่อยให้พี่เลี้ยงเป็นคนดูแลเลี้ยงดู ผลก็คือเด็กในวัย 1-5 ขวบที่ใช้เวลาอยู่กับพี่เลี้ยงเป็นส่วนใหญ่ก็จะเรียนรู้และลอกเลียนบุคลิกภาพและพฤติกรรมของพี่เลี้ยง เด็กหลายคนพูดภาษาไทยด้วยสำเนียงท้องถิ่นของพี่เลี้ยง (ดิฉันเองไม่มีอคติในเรื่องของสำเนียงการพูด เจตนาคือเพื่อแสดงให้เห็นอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมกับการเรียนรู้ของคนเราค่ะ) ชอบทานอาหารแบบที่พี่เลี้ยงชอบ ชอบดูรายการโทรทัศน์และฟังเพลงแนวที่พี่เลี้ยงชอบ ซึ่งกว่าพ่อแม่จะปรับแก้พฤติกรรมของลูกให้เป็นในแนวทางที่ปรารถนาก็ต้องใช้เวลาพอสมควร

เช่นเดียวกันกับการสร้างพฤติกรรมหรือแก้ไขพฤติกรรมของพนักงานที่คิดว่าการทำงานตามคำสั่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว ไม่ได้คิดว่าบางทีหัวหน้าอาจสั่งงานเราพลาดก็ได้ เราควรมีความคิดเป็นของตัวเอง แสวงหาข้อมูลมาปรึกษาวิเคราะห์กับหัวหน้า เพื่อช่วยกันค้นหาแนวทางที่ดีที่สุดร่วมกัน ในการที่จะปลดล็อคกรงขังความคิดของพนักงาน (และของตัวผู้นำเอง) ทั้งนี้เราสามารถทำได้ผ่านกิจกรรมและวิธีการต่างๆ เหล่านี้ค่ะ

ฝึกการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงานที่ต้องออกจากสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย (Get out of your comfort zone) คำพูดนี้ได้ยินคนฝรั่งและคนไทยพูดกันบ่อยๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่คนที่พูดหลายคนทำไม่ได้ จากประสบการณ์ของตนเองและจากการศึกษาบุคลิกภาพของผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จหลายท่านพบว่า การที่เราต้องเดินทางไปทำงานหรือไปพำนักในสถานที่ซึ่งไม่คุ้นเคย การเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน การรับประทานอาหารประจำท้องถิ่นอื่นๆ ที่เราไม่คุ้นเคย การฝึกทำงานด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด ฯลฯ

ดิฉันลองกับตัวเองแล้วในหลายๆ รูปแบบ เช่น หัดนั่งรถเมล์ในถิ่นที่เราพูดภาษาของเขาไม่ได้ มีเพียงแต่แผนที่ในมือ บางครั้งก็ลองจินตนาการว่าหากเราต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ซึ่งไม่ค่อยพัฒนา ไม่มีเครื่องทุ่นแรงและเทคโนโลยีครบแบบในเมืองใหญ่จะทำอย่างไร อาหารก็เลือกไม่ได้ แล้วเมื่อต้องทานในสิ่งที่ถิ่นนั้นมีอยู่ ดิฉันแสวงหาประสบการณ์เช่นนี้ในชีวิตอยู่เป็นระยะๆ ทำให้ตนเอง อยู่ได้ ในหลายสภาพแวดล้อม บางทีต้องนอนในเต็นท์หรือในที่พักเล็กๆ หรือนั่งสัปหงกกับเพื่อนร่วมทางตามป้ายรถเมล์ ต้องฝึกตัวเองให้หัดสังเกตการณ์ดีๆ หูไวตาไวเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขัน แต่ละครั้ง แต่ละหนที่ผ่านประสบการณ์เหล่านั้นล้วนให้บทเรียนที่มีคุณค่าที่สอนให้ดิฉันทิ้งกฎเกณฑ์และกรอบความคิดต่างๆ ไปได้มากพอสมควร และพร้อมที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจเพื่อปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่

องค์กรสามารถจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ฝึกให้พนักงานต้องออกจากมุมสบายและมุมปลอดภัย (Comfort zone และ safety zone) ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นทำการสลับหน้าที่งาน (Job rotation) กันทำเพื่อสร้างทักษะให้พนักงานสามารถสลับหน้าที่งานได้ เวลาเกิดเหตุวิกฤตฉุกเฉินที่พนักงานบางตำแหน่งมาทำงานไม่ได้ ชาวญี่ปุ่นเขาก็ใช้วิธีการนี้ในการฝึกงานพนักงานเช่นกันเพื่อสร้างความยืดหยุ่นคล่องตัว

ฝึกให้คิดหาวิธีการทำงานมากกว่าหนึ่งวิธี (Find other possible ways to work) คนที่เกลียดการเปลี่ยนแปลงมักจะชอบการทำงานที่เหมือนเดิม ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องคิดใหม่ แต่ในยุคของการแข่งขันดุเดือดและเทคโนโลยีสื่อสารก้าวหน้าแบบนี้ ขืนไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคงไม่มีใครอยู่รอด ผู้นำจึงต้องสร้างระบบการทำงานที่กระตุ้นและกำกับให้พนักงานต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น โดยเราเริ่มจากการฝึกคิดในประเด็นงานประจำวันก่อน ยังไม่ต้องคิดอะไรยากๆ มากนัก เช่น ให้พิจารณากระบวนการขั้นตอนในการทำงานประจำวันของพนักงานแต่ละคนว่าวิธีการที่ทำอยู่นั้นมีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร พนักงานมีข้อเสนอแนะอะไรบ้างที่จะทำงานที่รับผิดชอบอยู่ด้วยวิธีอื่นที่เร็วกว่าเดิมหรือประหยัดกว่าเดิม นี่คือการฝึกให้คิดในระดับบุคคล แต่บางคนอาจจะหัวสี่เหลี่ยมจริงจริ๊ง...ประมาณว่าคิดไม่ออกเลย แล้วแต่หัวหน้าจะสั่งก็แล้วกัน แบบนี้หัวหน้าก็ต้องรู้จักป้อนคำถามให้เขารู้จักคิด

ทั้งนี้งานระดับปฏิบัติการที่ใช้เครื่องจักรทำงานเป็นส่วนใหญ่อาจจะทำให้พนักงานไม่ทราบว่าจะปรับปรุงวิธีการทำงาน (ของเครื่องจักร) อย่างไร หัวหน้างานก็ต้องหาประเด็นอื่นๆให้พนักงานคิดให้เหมาะสมตามสถานการณ์นะคะ เรื่องของการฝึกคนให้คิดเป็น คิดอย่างสร้างสรรค์ กล้าเปลี่ยนแปลงและมีวิสัยทัศน์อย่างเห็นผลจับต้องได้ต้องอาศัยองค์ประกอบและขั้นตอนการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมหลายประการดังที่กล่าวไปแล้ว

แค่ส่งพนักงานไปฝึกอบรมเรื่องการมีความคิดสร้างสรรค์สัก 2-3 วัน แล้วนึกว่าพอเพียงที่จะสร้างให้พวกเขาเป็นนักสร้างสรรค์นั้น ขอบอกว่าท่านอาจกำลังคิดผิด ครั้งหน้าจะคุยกันต่อว่าเราจะเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานให้ตอบโจทย์ลูกค้าและตลาดได้อย่างไรกันค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปลดล็อค กรงขัง ความคิดพนักงาน

view