สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตัดสิทธิพิเศษ GSP ไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย ณกฤช เศวตนันทน์

คอลัมน์ พร้อมรับ"AEC"หรือยัง?
โดย ณกฤช เศวตนันทน์
Thai.attorney@hotmail.com


จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป หรือ European Union (EU) (อียู) ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 28 ประเทศ ได้แถลงผลการประชุมเกี่ยวกับประเทศไทย ในการประชุม ณ กรุงลักเซมเบิร์ก ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา


โดยมีความเห็นต่อมาตรการดำเนินการของประเทศไทยในหลายประการ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาชะลอการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศไทย จนกว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ในช่วงแรกเป็นแค่เพียงการคาดการณ์ว่าจะมี การชะลอ เท่านั้น แต่ในปัจจุบันต้องถือว่า ถูกชะลอแล้ว เนื่องจากตามกำหนดเดิม การเจรจาจะต้องมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

การทำ FTA ระหว่าง ประเทศไทย กับ อียู มีความสำคัญในแง่ของการแข่งขันทางการค้า การลงทุนไปยังตลาดอียู โดยการทำ FTA กับอียูนั้น ก็เพื่อจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นแบบถาวร ทดแทนการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของอียู หรือ GSP (Generalized System of Preference) ซึ่งเป็นการให้สิทธิชั่วคราวที่ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ทั้งหมดในวันที่ 1 มกราคม 2558

อันจะส่งผลกระทบให้สินค้าส่งออกของไทยไม่ได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีนำเข้า ทำให้สินค้าไทยอาจต้องปรับราคาสูงขึ้น และไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น ๆ
ที่ยังได้สิทธิพิเศษอยู่ และบางประเทศได้ลงนาม FTA กับอียูไปแล้ว อย่างประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

ล่าสุด อียูได้ออกระเบียบหลักเกณฑ์การให้สิทธิพิเศษ GSP โดยมีสาระสําคัญคือ จะยกเลิกการให้สิทธิพิเศษกับประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป (Upper Middle Income) หรือประชากรมีรายได้เกิน 3,975 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปีติดต่อกัน 3 ปีจะต้องถูกตัดสิทธิ

ซึ่งมีอยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ จีน เอกวาดอร์ มัลดีฟส์ และไทย โดยมีผลใช้บังคับไปแล้ว โดยทั้ง 4 ประเทศที่ถูกระงับสิทธิจะมีระยะเวลาในการปรับตัว 1 ปี

สำหรับประเทศไทย ยังคงมีสินค้าบางรายการที่ยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP อยู่จนถึงสิ้นปีนี้ ได้แก่ กุ้ง จักรยาน รองเท้า ปลาหมึก เม็ดพลาสติกมอเตอร์ไฟฟ้า บอลแบริ่ง น้ำมันปาล์มดิบ ล้อรถยนต์ ทูน่ากระป๋อง ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป สินค้าทุกชนิด ทุกประเภท จะต้องจ่ายภาษีในอัตราปกติ


จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ออกมาแนะนำแนวทางการรับมือผลกระทบในเบื้องต้นแก่ผู้ประกอบการใน 2 แนวทาง

แนวทางแรก
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพาตลาดอียูเป็นหลัก ควรพิจารณาการลงทุนในประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP เพื่อลดต้นทุนการส่งออก

แนวทางที่สอง สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ต้องพึ่งพาตลาดอียูเป็นหลัก ควรหันไปให้ความสนใจกับ "ตลาดอื่น" ที่มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้ อาทิ จีน เกาหลีใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศในอาเซียน ซึ่งในขณะนี้พบว่ามีผู้ประกอบการไทยหลายกิจการทยอยขยายฐานการผลิตไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP ในตลาดอียูแล้วจำนวนมาก

ได้แก่ กัมพูชา พม่า ลาว และบังกลาเทศ โดยผู้ประกอบการเหล่านี้มองว่าการย้ายฐานผลิตดังกล่าว นอกจากจะได้ประโยชน์ในแง่ของการเสียภาษี 0% แล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องของแรงงานได้อีกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับมือกับปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว กรมการค้าต่างประเทศก็จะดำเนินมาตรการในการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ในการรับมือกับการถูกตัดสิทธิ GSP และจะส่งเสริมมาตรการที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการที่ไม่ต้องพึ่งพาสิทธิพิเศษ GSP ด้วยการลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพแต่ราคาไม่แพงให้อีกด้วย

แม้ว่าที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปยังตลาดอียูที่ใช้สิทธิพิเศษ GSP จะมีมีมูลค่า 2 แสนล้านบาทต่อปี แต่ก็ต้องยอมรับว่ากฎเกณฑ์ของอียูที่ออกมาไม่สามารถเปลี่ยนได้ และประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพิงสิทธิพิเศษ GSP ได้ตลอดไป

ดังนั้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการควรพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐาน สร้างมูลค่าให้กับสินค้า และตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยไม่ต้องพึ่งพาสิทธิพิเศษ GSP


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตัดสิทธิพิเศษ GSP ไทย

view