สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดรายงานสภาพัฒน์-เด็กไทยไอคิวต่ำกว่ามาตรฐานสากล

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ

ในการรายงานภาวะสังคมประจำไตรมาสที่2/2557  ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)  หรือสภาพัฒน์มีประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพของเยาวชนไทยอนาคตของชาติที่น่าสนใจ 

“ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ”  รองเลขาธิการ สศช.  เปิดเผยว่า ตามผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย  (MICS4)  พบว่า  เด็กไทย 92% มีพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย การอ่าน อารมณ์ และการเรียนรู้  แต่ในส่วนของระดับสติปัญญาของเด็กวัยเรียนนั้นพบว่า มีระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและไม่มีการพัฒนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้  รายงานสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนไทยในปี 2554 ของกรมสุขภาพจิตพบเด็กนักเรียนอายุ 6-15 ปี มีไอคิวเฉลี่ย 98.59 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากล(ไอคิว=100) ต่ำกว่าประเทศในกลุ่มเอเชีย 5-10 จุด โดยเด็ก 48.5% มีระดับสติปัญหาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ (น้อยกว่า100) และมีระดับสติปัญหาบกพร่อง(น้อยกว่า70) อยู่ถึง 6.5% สูงกว่ามาตรฐานสากลที่ไม่ควรเกิน2%

ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบระดับเฉลี่ยของสติปัญญาของเด็กวัยเรียนเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนที่ระดับ 97-99 ทั้งที่ตามทฤษฏีการวัดความสามารถทางสติปัญญาเชื่อว่าโดยปกติจะมีการเพิ่มขึ้นของไอคิวเฉลี่ย 2-3 จุด ในทุก 10 ปี จากการที่ประชากรมีสุขภาพและการศึกษาที่ดีขึ้น แต่การสำรวจของไทยไม่เป็นไปตามทฤษฎีสะท้อนว่าในช่วง 8-10 ปีที่ผ่านมาไม่มีการพัฒนาของระดับสติปัญญา  และในส่วนของความฉลาดทางอารมณ์(อีคิว) มีคะแนนเฉลี่ย 45.12 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 50-100 โดยด้านที่อ่อนที่สุดคือความมุ่งมั่นพยายาม

รองเลขาธิการ สศช. ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาของเด็กนั้นหลักๆ มาจากการเตรียมความพร้อมของสุขภาวะแม่  และการวางแผนครอบครัว ที่จะช่วยคัดกรองโรคทางพันธุกรรมรวมถึงการลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมลดความเสี่ยงปัญหาพัฒนาของเด็ก แต่ที่ผ่านมาคนยังขาดความรู้เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์และยังไม่ให้ความสำคัญกับการวางแผนครอบครัว

อีกปัจจัยหนึ่งคือการเลี้ยงดู  ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเด็กในช่วงอายุ 3 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงที่สมองเด็กมีการพัฒนาเร็วที่สุด ดังนั้นการดูแลสุขภาพเด็กรวมถึงสภาพการเลี้ยงดูจึงเป็นตัวชี้ที่สำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมาย   แต่ผลการศึกษาหลายชิ้นระบุว่า เด็กไทยจำนวนมากไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากการเสียชีวิต หย่าร้าง และย้ายถิ่นไปทำงานหรือความจำเป็นในกาประกอบอาชีพ โดยเด็กไทย 1 ใน 5 ถูกเลี้ยงโดยย่ายาย  รวมถึงถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ  โดยเฉพาะในแม่กลุ่มที่มีการศึกษาต่ำ และมีฐานะยากจน  โดยจากการสำรวจ MICS4  พบว่า เด็กอายุ 3-5 ปีที่ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอมีถึง 6.1% ขณะที่เด็กแรกเกิดถึง 2 ปีมี 2.2%

ชุตินาฏ ระบุว่า แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะดำเนินโครงการหลายด้านที่เป็นการอุดหนุนสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องที่ครอบคลุมถึงตัวเด็ก เช่น หลักประกันถ้วนหน้า การสงเคราะห์บุตร สวัสดิการเกี่ยวกับการกศึกษาและค่ารักษาพยาบาลและค่ารักษาบุตรของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเบี้ยยังชีพผู้พิการ  แต่ปัญหาสำคัญที่ทำให้มีความไม่ทั่วถึงคือ ครัวเรือนยากจนส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กและผู้สูงอายุ หรือเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอุดหนุนจากสิทธิประโยชน์ของพ่อแม่แล้ว  ทำให้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก ไม่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ การเลี้ยงดูที่เหมาะสม ส่งผลต่อพัฒนาการ สติปัญญา และอารมณ์ของเด็ก ในที่สุด

สำหรับแนวนโยบายของภาครัฐเพื่อลดความเสี่ยงและปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ภาครัฐควรมีนโยบายอุดหนุนและให้ความช่วยเหลือเด็กในครัวเรือนที่ยากจนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องเงินและสิ่งของ เพื่อให้เกิดการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม เพราะที่ผ่านมาแนวทางการอุดหนุนจากรัฐส่วนใหญ่ที่มุ่งเน้นตัวเด็ก แต่ยังคงเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแบบเฉพาะ และไม่ได้ช่วยยกระดับให้พ้นจากความยากจน และ มักขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละรัฐบาล คาดการณ์เรื่องงบประมาณไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน โอกาสที่จะได้รับสวัสดิการยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ ดังนั้นรัฐจึงต้องดูแลกลุ่มนี้เป็นพิเศษ โดยกำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะ และต้องดูเป็นระบบมากขึ้น มีระบบข้อมูลที่ชัดเจนว่า เป็นเด็กหรือครัวเรือนที่ยากจนจริง  เพราะการให้คงไม่สามารถให้ได้ทั้งหมดหรือในรูปแบบของประชานิคม เพราะจะกระทบต่อฐานะการคลังในระยะยาว 


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดรายงานสภาพัฒน์ เด็กไทย ไอคิว ต่ำกว่า มาตรฐานสากล

view