สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้ พ.ร.บ. มหาชนและผลต่อกรรมการบริษัทไทย

แก้ พ.ร.บ. มหาชนและผลต่อกรรมการบริษัทไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วันพฤหัสที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์โดยกลุ่มพัฒนากฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น

เกี่ยวกับกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทในประเด็นเกี่ยวกับตลาดทุน กฎหมายทั้งสองฉบับจะกระทบต่อการทำงานของกรรมการบริษัทในหลายประเด็น ไอโอดีในฐานะสถาบันกรรมการบริษัทไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็น วันนี้จึงอยากจะเก็บประเด็นเหล่านี้มาแชร์กับแฟนคอลัมน์ “กรุงเทพธุรกิจ” โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกรรมการบริษัท เพื่อให้ทราบประเด็นสำคัญที่จะมีการแก้ไข และผลกระทบที่จะมีต่อการทำหน้าที่ของกรรมการบริษัท รวมถึงประเด็นที่ทางไอโอดีคงจะตามต่อ เพื่อรวบรวมแนวคิดของสมาคมเป็นข้อเสนอให้กับทางการ เพื่อประโยชน์ของการปรับปรุงกฎหมายทั้งสองฉบับต่อไป

ในรายละเอียด ประเด็นที่สำคัญต่อการทำหน้าที่กรรมการบริษัทส่วนใหญ่จะมาจากการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งมีประเด็นแก้ไขทั้งสิ้น 27 ประเด็น เป็นประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ถือหุ้น 9 ประเด็น เกี่ยวกับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ 8 ประเด็น และประเด็นเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ 10 ประเด็น ประเด็นแก้ไขเหล่านี้มาจากข้อเสนอของภาคธุรกิจ ภาคทางการ และสถาบันวิชาชีพ ภายใต้เหตุผลและมุมมองต่างๆ ที่ได้ถูกนำมาปรับปรุงเป็นข้อเสนอแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายทั้งสองฉบับมีความสมบูรณ์สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

สาระสำคัญของประเด็นแก้ไขที่จะกระทบการทำหน้าที่ของกรรมการบริษัทที่อยากจะกล่าวถึงเป็นตัวอย่างก็เช่น

หนึ่ง แก้ไขมาตรการ 68 เรื่องคุณสมบัติกรรมการโดยเพิ่มข้อยกเว้นให้กรรมการที่พ้นโทษมาแล้วห้าปี มีคุณสมบัติสามารถเป็นกรรมการของบริษัทมหาชนได้

สอง การแก้ไขมาตรา 85 เพิ่มบทบาทหน้าที่กรรมการว่านอกจากความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังแล้ว ยังต้องสอดส่องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัท อย่างผู้ประกอบกิจการค้าพึงกระทำ เพิ่มหลักการให้บริษัทรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของศาลแทนผู้ถือหุ้นที่ใช้สิทธิ์แทนบริษัท และเพิ่มบทลงโทษให้กรรมการเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำที่จงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

สาม แก้ไขมาตรา 71 กำหนดหลักการให้บริษัทสามารถกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการเองได้ โดยกำหนดไว้ในข้อบังคับ ทั้งนี้กรรมการแต่ละคนต้องมีวาระในการดำรงตำแหน่งไม่เกินสามปี ซึ่งจะส่งเสริมแนวทางการเลือกตั้งกรรมการโดยวิธีสะสมคะแนนเสียง หรือ Cumulative Voting

สี่ มาตรา 76 แก้ไขให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอาจลงมติให้กรรมการคนใดออกจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระได้ โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิ์ออกเสียง

ห้า มาตรา 79 แก้ไขให้บริษัทกำหนดวิธีการและสถานที่ที่จะทำการประชุมคณะกรรมการบริษัทได้เอง โดยกำหนดไว้ในข้อบังคับแต่ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในกฎกระทรวง ซึ่งประเด็นนี้จะเอื้อให้บริษัทสามารถจัดการประชุมโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การประชุมทางจอภาพ (Video Conference) โดยกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท แต่ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์เงื่อนไขในกฎกระทรวง รวมถึงเพิ่มเติมให้กรรมการสามารถประชุมโดยใช้มติเวียนได้ แต่ต้องได้รับมติเอกฉันท์จากกรรมการทั้งหมดของบริษัท ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

หก มาตรา 80 องค์ประชุมกรรมการ แก้ไขเพื่อให้การนับองค์ประชุม (ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด) ให้มีความชัดเจนในกรณีกรรมการออกจากตำแหน่งว่าต้องถือตามจำนวนกรรมการที่มีอยู่จริงหรือทั้งหมดตั้งแต่แรก โดยให้กำหนดจำนวนกรรมการทั้งหมดไว้ในข้อบังคับ และใช้เป็นหลักในการนับองค์ประชุม อีกประเด็นที่แก้ไข ก็คือ กรรมการที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องใดจะไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุม และออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นการกำหนดเพิ่มเติมจากเดิมที่ห้ามกรรมการที่มีส่วนได้เสียลงคะแนน เพื่อให้ที่ประชุมมีความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นและลงมติ

เจ็ด มาตรา 82 เพิ่มวิธีแจ้งนัดประชุมที่นอกจากจะส่งเป็นหนังสือแล้ว ยังให้ส่งด้วยวิธีการอื่นที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือโทรสาร ซึ่งจะสะดวกกับการทำธุรกิจปัจจุบัน

แปด แก้ไขมาตรา 6 ลดระยะเวลาการประกาศการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์จาก 3 วัน เป็น 1 วัน ด้วยเหตุผลที่อยากจะลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของบริษัท

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างบางส่วนของ 27 ประเด็นที่จะมีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. บริษัทมหาชนที่กำลังดำเนินการอยู่ที่จะกระทบการทำหน้าที่ของกรรมการอย่างมีนัยสำคัญ ข้อเสนอแก้ไขแม้ส่วนใหญ่จะทำให้การทำธุรกิจคล่องตัวขึ้น แต่ในทุกประเด็น มุมมองและเหตุผลเบื้องหลังการแก้ไขก็มองได้หลากหลาย ทั้งในแง่ประโยชน์ที่จะมีต่อตัวบริษัท ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น มุมมองจากหน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริโภค นักลงทุน และการมีหลักธรรมาภิบาลที่ดีในการกำกับดูแลกิจการบริษัทมหาชน เท่าที่ดูก็มีหลายประเด็นที่ยังสามารถถกเถียงได้และควรถกเถียงด้วยเหตุและผล เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เหมาะสม เช่น

การแก้มาตรา 68 เรื่องคุณสมบัติกรรมการให้ผู้ที่ถูกพิพากษาจำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ได้ทำการทุจริตสามารถเป็นกรรมการได้เมื่อพ้น 5 ปีไปแล้วนับแต่วันพ้นโทษ หรือกรณีผู้ที่เคยถูกไล่ออกหรือปลดออกจากราชการหรือองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐที่ทุจริตต่อหน้าที่ให้สามารถเป็นกรรมการได้เมื่อพ้นห้าปีไปแล้วนับแต่วันพ้นโทษ

คำถามคือ แนวคิดนี้เหมาะสมหรือไม่กับหลักของการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ต้องการมีคนดีที่ไว้วางใจได้เข้ามาทำหน้าที่ตามกฎหมายดูแลสินทรัพย์และประโยชน์ของผู้อื่น (Fiduciary Duty) ในตำแหน่งกรรมการบริษัทภายใต้หลักของการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เน้นการทำหน้าที่อย่างระมัดระวัง โปร่งใส มองประโยชน์ของบริษัทเป็นที่ตั้ง และถูกต้องตามกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับ เรื่องนี้จะสำคัญอย่างยิ่งถ้าคดีความที่ถูกพิพากษาเป็นคดีคอร์รัปชัน และมีคำถามว่าบุคคลผู้นั้นเหมาะสมหรือไม่ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการในบริษัทมหาชนหรือรัฐวิสาหกิจ ที่จะมีผลให้มาตรฐานกรรมการบริษัทมหาชนโดยรวมหย่อนยานลง

นี่คือตัวอย่าง

การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงสำคัญที่ต้องตอบสนองทั้งต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งรวมถึงกรรมการบริษัท และต่อการมีหลักธรรมาภิบาลที่ถูกต้อง ซึ่งไอโอดีในฐานะสถาบันกรรมการบริษัทไทยก็คงจะวิเคราะห์ประเด็นแก้ไขเหล่านี้ตามแนวการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเสนอความเห็นต่อภาคทางการในโอกาสต่อไป เพื่อประโยชน์ของการแก้ไขกฎหมาย ประสิทธิภาพของธุรกิจ และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของภาคเอกชนในประเทศ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้ พ.ร.บ. มหาชน ผลต่อกรรมการ บริษัทไทย

view