สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธุรกิจไอทีรับมืออย่างไรในยุคของคลาวด์คอมพิวติ้ง

ธุรกิจไอทีรับมืออย่างไรในยุคของคลาวด์คอมพิวติ้ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ถ้าพูดถึงเทรนด์ไอทีในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นที่ยังต้องจับตามองกระแสของคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing)

ซึ่งเป็นการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ที่ใช้งานประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที โดยสามารถใช้งานทั้งซอฟต์แวร์และงานสารสนเทศผ่านผู้ให้บริการคลาวด์ (Cloud Providers) ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้ให้บริการแพร่หลายมากขึ้น ทั้งนี้ คลาวด์คอมพิวติ้งไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ที่น่าสนใจเนื่องจากตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตสูง เห็นได้จากจำนวนผู้ใช้งานทั้งบุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย Gartner ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้าน IT ชั้นนำของโลกคาดว่าตัวเลขการใช้จ่ายสำหรับคลาวด์แบบสาธารณะ (Public Cloud) ซึ่งเป็นคลาวด์ที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ทั่วไป จะเติบโตถึงราว 17% ต่อปี ในช่วงปี 2013-2016 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มจำนวนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เติบโตสูงและการเข้าสู่ยุคของ Internet of Things (IoT) คือการที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั่วโลกจะมีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต โดย Cisco คาดว่าจะมีอุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากถึง 50,000 ล้านชิ้นภายในปี 2020 ส่งผลให้มีการใช้งานข้อมูลจะมีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

คลาวด์คอมพิวติ้งจะมีบทบาทสำคัญที่ตอบโจทย์ในยุคของ IoT เนื่องจากความต้องการใช้งานในการประมวลผลข้อมูลต่างๆ จะมีมากขึ้น และการที่จะทำให้อุปกรณ์ต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันจะต้องอาศัยเทคโนโลยีของคลาวด์เข้ามาใช้เพื่อทำให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถสื่อสารกันได้โดยง่าย อย่างเช่น อุปกรณ์ IT ที่สวมใส่ (Wearable Devices) ได้ ซึ่งอาศัยคลาวด์ในการเชื่อมต่อและแสดงผลข้อมูลลงบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต นอกจากนี้ ภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ต่างให้ความสนใจใช้บริการคลาวด์มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เพื่อลดต้นทุนในการลงทุนด้าน IT แต่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับงานในด้านต่างๆ ทั้งการจัดเก็บข้อมูลและแอพพลิเคชั่น อาทิ การจัดการทรัพยากรภายในองค์กร ทั้งการจัดซื้อและการบริหารงานทรัพยากรบุคคล ตลอดจน การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management)

คลาวด์คอมพิวติ้งไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจที่นำมาประยุกต์ใช้งาน หากมองอีกมุมหนึ่งคลาวด์คอมพิวติ้งยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการด้านไอทีในยุคนี้อย่างมหาศาล เริ่มจาก IT vendors ที่ต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่จะใช้คลาวด์คอมพิวติ้ง หรืออาจจะมีการปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจ จากที่มีบริการแต่เพียงระบบเครือข่าย หรือการขายผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจต่อยอดมาสู่การให้บริการคลาวด์โซลูชั่นในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การวางระบบ เซิร์ฟเวอร์ การจัดเก็บข้อมูล มาจนถึงการมีซอฟต์แวร์ และระบบความปลอดภัยของข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจครบวงจรมากขึ้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่ตลาดตกต่ำต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากผลกระทบของความนิยมในอุปกรณ์โมบายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์คลาวด์คอมพิวติ้งจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้พลิกฟื้นได้ อาทิ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (storage) อย่าง ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) สำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับผลกระทบ ทั้งจากการที่ผู้บริโภคหันไปนิยมสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตและการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ความนิยมในโซลิดสเตตไดรฟ์ (SSD) มากขึ้น

แม้ว่ายอดขาย HDD สำหรับคอมพิวเตอร์จะชะลอตัวลงค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ท่ามกลางวิกฤติ ยังมีโอกาสรออยู่ข้างหน้า เนื่องจากความต้องการใช้ข้อมูลบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต (mobile data traffic) จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงราว 4-5 เท่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า และทำให้ความต้องการพื้นที่ในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลในศูนย์ข้อมูล (Data Center) ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผู้ผลิตจึงต้องมีการปรับตัวจากเดิมที่เน้นตลาดคอมพิวเตอร์ไปสู่ตลาดองค์กร (Enterprise storage) และตลาดคลาวด์ (Cloud storage) มากขึ้น

ผู้ผลิตรายใหญ่ทั้ง Western Digital และ Seagate ต่างเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์จัดเก็บข้อมูลรูปแบบต่างๆ อาทิ คลาวด์สตอเรจส่วนบุคคลเพื่อตอบโจทย์ในการบันทึก แบ่งปันภาพถ่าย คลิปวีดิโอ และ เพลง ซึ่งสามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา และคลาวด์สตอเรจสำหรับองค์กร เพื่อรองรับความต้องการในการจัดเก็บและประมวลข้อมูลขนาดใหญ่ที่เติบโตสูง รวมทั้งการที่ภาคธุรกิจมีการนำคลาวด์คอมพิวติ้งไปใช้ในองค์กรมากขึ้น โดยพัฒนาเพิ่มความจุในการเก็บข้อมูล ความเร็วให้สูงขึ้น และทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่าง real-time กระแสความนิยมดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนของคลาวด์สตอเรจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีสัดส่วนที่ราว 40% ของการจัดเก็บข้อมูลองค์กรทั้งหมด ขณะเดียวกัน ยังมีการพัฒนา SSD เพื่อตอบโจทย์คลาวด์สตอเรจไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เท่านั้น ผู้ประกอบการสตอเรจยังมีการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อพัฒนาโซลูชั่นสำหรับให้บริการคลาวด์อีกด้วย

ภาพการแข่งขันของธุรกิจไอทีในระยะต่อไป เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่การแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เท่านั้น แต่จะเห็นภาพการแข่งขันในแง่ของการให้บริการคลาวด์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยก็มีความพร้อมที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้มากขึ้น เห็นได้จากหลายบริษัททั้งกลุ่มฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่เดินหน้าขยายธุรกิจมาให้บริการคลาวด์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่รายได้จากการให้บริการเสียงลดลงและผู้บริโภคหันมาใช้งานด้านข้อมูลและอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จึงปรับตัวโดยอาศัยความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การให้บริการคลาวด์โซลูชั่นรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างเช่น

ทรูไอดีซี ซึ่งให้บริการค่อนข้างครบวงจรและได้รับการตอบรับที่ดีและยังมีการจับมือกับหัวเหว่ยในการยกระดับให้บริการคลาวด์สาธารณะ นอกจากนี้ บริษัทที่พัฒนาซอฟต์แวร์ก็จะมีโอกาสในการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ๆ โดยเข้ามาแข่งขันให้บริการผ่านคลาวด์มากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไอทีที่สามารถปรับโมเดลทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการคลาวด์คอมพิวติ้งได้ จะช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ยังสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในยุคหลัง PC (The Post-PC Era)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธุรกิจไอที รับมืออย่างไร ยุคของคลาวด์คอมพิวติ้ง

view