สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รักษาคนเก่งไว้ในองค์กร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ ดร.เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย krukate@hotmail.com

ยุคนี้บรรดาเจ้านายทั้งหลายพากันบ่นว่า หาคนเก่งมาทำงานได้ยาก ไอ้ที่เก่ง ๆ ก็อยู่ไม่ทน สมัยที่ครูเคทยังเป็นผู้บริหารของหน่วยงานราชการ และประกาศรับสมัครลูกจ้างช่วยปฏิบัติงานในหน่วยงาน ดิฉันได้ออกแบบกระบวนการทดสอบทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

ด้วยความที่อยากประหยัดเวลาและงบประมาณในการทดสอบ เพราะถ้าทดสอบเป็นภาษาไทยคงจะมีคนมาสมัครกันมากมาย แต่พอเป็นภาษาอังกฤษก็มีคนมาสมัครน้อยลง แต่คุณภาพคับแก้ว มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าหากรับคนเก่งจะอยู่ไม่ทน สู้รับคนไม่ค่อยเก่ง แล้วมาฝึกฝนจะอยู่ทนกว่า

แต่ครูเคทยังมีความเชื่อว่า หากรับคนเก่งและรู้จักวิธีการรักษาคนเอาไว้ แม้งานราชการในตำแหน่งลูกจ้าง จะเป็นงานที่ไม่มีความมั่นคง และค่าตอบแทนต่ำมากแต่หากเราเข้าใจความต้องการของคนที่ต้องการทำงานราชการ ซึ่งครูเคทพบว่ามีความต้องการหลากหลาย บางคนต้องการงานเบาสบายมั่นคง แต่บางคนต้องการโอกาสในการเรียนรู้งานเป็นหลัก ค่าตอบแทนเป็นเรื่องรอง

ครูเคทเชื่อว่ายังมีคนกลุ่มหลังที่เก่ง และต้องการทำงานราชการอยู่บ้าง จึงยืนยันที่จะรับคนเก่งเข้ามาทำงาน โดยหาวิธีการผูกใจให้เขาอยู่กับเราให้นานที่สุด

บทความงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Deloitte University Press พูดถึงเทรนด์ของทรัพยากรบุคคลในปี 2014 เอาไว้ว่า การที่จะรักษาคนเก่งและดีเอาไว้ในองค์กรยุคนี้ ผู้บริหารต้องสร้างให้พนักงานมี Passion ในการทำงาน และทำให้เป้าหมายขององค์กรสอดคล้องกับเป้าหมายของพนักงาน

เรื่องที่ท้าทายผู้บริหารขณะนี้ คือ การขยายตัวของ Gen Me หรือคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบการตีกรอบที่มีอยู่ประมาณ 34% ของแรงงานทั่วโลก และก่อนปี 2025 จะขยายเพิ่มเป็น 75% คนกลุ่มนี้อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง ซึ่งขัดต่อความรู้สึกของผู้บริหารรุ่นเก่าที่อยากได้พนักงานที่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร

Gen Me ต้องการองค์กรที่มีโครงสร้างแบบ Flat Organization ทุกคนเท่าเทียมกันแต่ผู้บริหารที่ยังยึดถือเรื่องลำดับชั้นจะชอบองค์กรที่ซับซ้อน Gen Me ยังต้องการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีคนจำนวนมาก

แต่ผู้บริหารปัจจุบันพยายามทำองค์กรให้เป็น Lean Organization ไม่อุ้ยอ้าย ดู ๆ แล้วเป้าหมายองค์กรที่ถูกสร้างโดยคนรุ่นเก่ากับเป้าหมายส่วนตัวของคนรุ่นใหม่ ยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก

เราคงต้องกลับมาหาทางตอบคำถามว่า องค์กรจะรักษาคนเก่งและดีไว้ได้อย่างไร ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคตที่คน Gen Meจะมีมากขึ้น คน Gen Me ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานที่พวกเขาจะบริหารจัดการได้อย่างอิสระ

คนกลุ่มนี้เกลียดการเข้าสำนักงานทุกวันตอกบัตร สแกนนิ้วมือ ต้องเข้าประชุมนาน ๆโดยไม่มีประเด็นอะไรชัดเจน เขาสามารถทำงานบนแท็บเลตหรือโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ ไม่ว่าจะที่บ้านหรือร้านกาแฟ ซึ่งผู้บริหารรุ่นใหญ่อาจไม่เข้าใจและรับไม่ได้

ครูเคทเคยทดลองการทำงานนอกออฟฟิศในช่วงน้ำท่วมใหญ่เมื่อสองปีก่อน ตอนนั้นทีมงานของครูเคทเป็นคนรุ่น Gen Me เป็นส่วนใหญ่ ครูเคทให้ทีมงานไม่ต้องเข้าที่ทำงาน แต่มีข้อตกลงว่าขอให้ทุกคนทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ ครูเคทพบว่าทีมงานทำงานได้ดีกว่าทำงานที่ทำงานด้วยซ้ำไป พวกเขารู้สึกมีอิสระในการบริหารจัดการของพวกเขาอย่างมีความสุข ผู้บริหารรุ่นเก่าอาจนำไปพิจารณาดูนะค

ดังนั้น การรักษาคนเก่ง ๆ ไว้กับองค์กรในยุคใหม่ ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว และถือเป็นเรื่องท้าทายที่จะพิสูจน์ฝีมือผู้บริหารอย่างแท้จริง คนเราต้องการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า การบริหารจัดการแบบควบคุมอาจไม่เหมาะกับยุคสมัยนี้อีกต่อไป การบริหารงานแบบกำหนด KPI เป็นการบริหารแบบควบคุม แม้ว่าบางองค์กรพนักงานจะเป็นผู้กำหนด KPI ของตนเองก็ตาม เราต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่าเขามีคุณค่า และเขาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์กร ให้เขาเกิด Passion ที่จะทำงาน เป็นสิ่งที่อยากทำ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำ

ผู้บริหาร HR ต้องมีกลยุทธ์ในการรักษาคนเชิงรุก ไม่ใช่มัวแต่วิเคราะห์ Exit Survey ซึ่งเป็นวิธีวัวหายล้อมคอก เพราะคนลาออกไปแล้ว แต่ควรจะต้องมีระบบเตือนภัย หรือระบบทำนายล่วงหน้า ก่อนปัญหาจะเกิด คือมองให้ออกก่อนว่าคนแต่ละคนมีความต้องการอย่างไร จะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เขาอยากทำงาน และอะไร และเมื่อไหร่ ที่จะทำให้เขาลาออกจากงานคนเก่ง และดีหายาก แต่เมื่อได้

คนเก่ง และดีมาแล้ว การรักษาเขาไว้ยากกว่า ได้เวลาที่ผู้บริหารจะหันมามองตัวเอง เรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจในความแตกต่างของคน และเคารพในความแตกต่างนั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รักษาคนเก่ง องค์กร

view