สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด!ผลการปฏิบัติงาน คสช. เดือนที่3

เปิด!ผลการปฏิบัติงาน คสช. เดือนที่3

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เปิด "ฉบับเต็ม" ผลการปฏิบัติงานของ คสช. เดือนที่3 แจงความมั่นคง-เศรษฐกิจ-กฎหมาย-สังคมและกิจการพิเศษ

นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่าสามเดือนแล้ว ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ส่งผลให้สถานการณ์โดยรวมของประเทศในด้านการเมือง มีความสงบเรียบร้อย และการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในชาติ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่ง คสช. ได้ดำเนินการในทุกมิติ ตามแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยหรือ โรดแมป ที่วางไว้ ดังนี้

การเปลี่ยนผ่านโรดแมปจากระยะที่ 1 การแก้ปัญหาเร่งด่วน และขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องที่ติดขัดและเป็นปัญหา เข้าสู่โรดแมประยะที่ 2 คือ การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ทั้งการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การสรรหานายกรัฐมนตรี การยกร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติในกรอบเวลา 1 ปี โดยหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา

คสช.ได้เดินหน้าจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.จำนวน 200คนขึ้นมาใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนรัฐสภาทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตราพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และกฎหมายอื่นๆ และเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธาน และรองประธาน สนช.ได้มีการเรียกประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาททันที ซึ่งที่ประชุม สนช.ได้มีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระแรก พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาจำนวน 50 คน

โดยกำหนดให้สมาชิก สนช. เสนอแปรญัตติภายใน 7 วัน และต้องจัดทำรายงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 กันยายน เพื่อนำเข้าสู่การประชุมวาระ 2 ในวันที่ 17 กันยายนนี้ โดยคาดว่า จะประกาศใช้ได้ในวันที่ 1 ตุลาคม และล่าสุด เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม สนช.ได้มีมติเอกฉันท์ 191 เสียงเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่โรดแมประยะที่ 2 ที่ คสช.กำหนด

นอกจากการแต่งตั้ง สนช.แล้ว คสช.ยังได้เดินหน้าสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือ สปช. มาทำหน้าที่ศึกษา และเสนอแนะ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จำนวน 250 คน โดยหลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เปิดงาน “ เส้นทางการปฏิรูปประเทศ ” เมื่อวันที่ 9สิงหาคม กระบวนการสรรหาสมาชิก สปช.ซึ่งมีที่มาจาก 2 ส่วนก็เริ่มขึ้นทั้งการสรรหาจากส่วนกลาง และแต่ละจังหวัด

โดยส่วนกลางได้เปิดโอกาสให้นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ องค์กรวิชาชีพต่างๆ และองค์กรของรัฐ เสนอชื่อบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเป็น สปช.ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน จากนั้น กกต.จะส่งบัญชีรายชื่อให้คณะกรรมการสรรหาที่แต่งตั้งโดย คสช.จำนวน 11 คณะ คัดเลือกให้เหลือด้านละ 50 คน รวมเป็น 550 คน ก่อนส่งต่อให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือ173 คน ส่วนการสรรหาของแต่ละจังหวัด คณะกรรมการประจำจังหวัดจะเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการคัดเลือก จังหวัดละ5 คน รวม 385 คน เพื่อให้ คสช.เลือกเหลือจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และหลังจาก คสช.เลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งไม่เกิน 250 คนแล้ว หัวหน้า คสช.จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม โดยกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จไม่เกิน วันที่ 2 ตุลาคมนี้

จากการดำเนินการตามโรดแมปดังกล่าว ส่งผลให้ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 เพิ่มจากไตรมาสแรกที่ร้อยละ 0.9 และตัวเลข จีดีพีเศรษฐกิจไทยโตขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้สรุปผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนกรกฎาคม 2557 จำนวน1,147 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 89.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.4 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นค่าดัชนีสูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556

โดยนักวิเคราะห์ทั้งไทย และต่างชาติเห็นตรงกันว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจดูดีขึ้นมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลาย และการที่ คสช.เดินหน้าตามโรดแมปที่ประกาศไว้ขณะเดียวกันเมื่อการจัดทำงบประมาณแผ่นดินบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ตามกำหนด และสามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้มีการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5-2.5 ในปีนี้เป็นร้อยละ 3.5-4.5 ในปีหน้า

นอกจากการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านโรดแมประยะที่ 1 เข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว การแก้ปัญหาเร่งด่วน และการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินยังคงดำเนินการไป อย่างต่อเนื่อง โดย 5 ฝ่าย และ 1 ส่วนงานต่างก็เดินหน้าปฏิบัติตามนโยบายที่หัวหน้า คสช. ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายรีบแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้

1. ฝ่ายความมั่นคง ยังคงเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต ซึ่งหลายนโยบายได้บรรลุเป้าหมายโดยเฉพาะการดูแล และให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง โดยได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมได้ในทุกจังหวัด และทุกอำเภอ เพื่อเป็นศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จในการรับแจ้งข้อมูล และเรื่องราวร้องทุกข์ รวมทั้งให้คำปรึกษากับประชาชนทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยได้ใช้มาตรการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพของประชาชน โดยการกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ และการสร้างรายได้ให้กับประชาชน เช่น การลดค่าเช่าที่นา การตรวจสอบพฤติกรรมการทวงหนี้ชาวนา การจัดอบรมเพื่อส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต และการสร้างความเข้าใจระหว่างเกษตรกรกับผู้ค้าปุ๋ยเคมี รวมทั้ง ยังส่งเสริมโครงการ OTOP ทั้งด้านการบริหารจัดการและการขยายตลาด โดยจัดให้มีกิจกรรมเป็นส่วนรวม เช่น งาน OTOP 2014 งาน OTOP ภูมิภาค และโครงการศิลปาชีพประทีปไทยOTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี เป็นต้น

ขณะที่การสร้างความปรองดอง และความสมานฉันท์ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน นอกจากจะจัดกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปแล้ว แต่ละหน่วยงานยังกำหนดแผนงานในส่วนของตนเองให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว โดยจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดเวทีการปรึกษาหารือในท้องถิ่น การจัดกิจกรรมการปรองดองสมานฉันท์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อคืนความสามัคคีในสังคม ซึ่งถือเป็นพลังอำนาจอันแข็งแกร่งของชาติ

ส่วนมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย และจัดระเบียบสังคมต่างๆ รวมไปถึงการดำเนินการกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งต่อสถาบันสำคัญของชาติ การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และทรัพยากรธรรมชาติ การเล่นพนัน การติดตามทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย การทุจริต การแพร่ระบาดของยาเสพติด และอาวุธสงคราม ซึ่งยังคงมีการสานต่องานอย่างจริงจัง ที่เห็นได้ชัดเจนคือ นโยบายด้านยาเสพติดที่ได้ใช้มาตรการป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดรักษาตามโครงการ 1 จังหวัด 1 อำเภอ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน รวมทั้งการนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนด้วยการจัดให้มีจุดตรวจด้านความมั่นคง และการตรวจค้น เพื่อป้องปรามการก่ออาชญากรรม และควบคุมกิจกรรมเชิงอบายมุข ส่วนการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวด้วยนโยบายการจัดตั้งศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จหรือ One Stop Service ในพื้นที่กรุงเทพมหานครปริมณฑล และจังหวัดชายทะเลนั้น ยังคงมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงงานต่างด้าวมาใช้บริการจดทะเบียนแล้วกว่า 8 แสนคน

2. ฝ่ายเศรษฐกิจ ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องค่าครองชีพ และราคาสินค้า โดยตลอดเดือนที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการต่อเนื่องในเรื่องการจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพกระจายลงสู่ระดับอำเภอรวม 36ครั้ง สามารถลดค่าครองชีพให้กับประชาชนกว่า 1 แสนคน ขณะเดียวกันยังให้กระทรวงพาณิชย์จัดงานกระตุ้นเศรษฐกิจ และดูแลค่าครองชีพ ภายใต้งานมหกรรม “พาณิชย์ขับคลื่อนเศรษฐกิจคืนความสุขให้ประชาชน” ที่จังหวัดเชียงใหม่ และอุดรธานีในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

หลังจากนี้จะจัดงานดังกล่าวอีก 2 ครั้งที่จังหวัด พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับอาหารสำเร็จรูป กระทรวงพาณิชย์ และกรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกัน เปิด “โครงการร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จเพื่อคืนความสุขทุกจานให้ประชาชน” หรือ “หนูณิชย์พาชิม” ด้วยการจำหน่ายอาหารราคาไม่เกินจานละ 25 - 35 บาทเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน และส่งเสริมร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นกลไกชี้นำให้กับร้านอาหารทั่วไปไม่ให้ปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเชิญชวนร้านเข้าร่วมโครงการในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจำนวน 1,000 ร้านค้า ก่อนจะขยายพื้นที่เชิญชวนร้านอาหารให้เข้าร่วมโครงการไปยังจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ สงขลา นครราชสีมา นครสวรรค์ กาญจนบุรี ต่อไป นอกจากนี้ยังได้มีการกำกับดูแลราคาสินค้าให้เกิดความเป็นธรรม อาทิ การตรวจสอบราคา การติดป้ายแสดงราคา การกักตุนสินค้า และยังเปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนมาที่สายด่วน 1569 อีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำคสช.จะไม่ใช้นโยบายแทรกแซงตลาดที่ทำให้เกิดการบิดเบือนราคา แต่จะให้ความสำคัญเรื่องการลดต้นทุนการผลิตควบคู่กับการเพิ่มคุณภาพของผลผลิตและการเพิ่มช่องทางการตลาด โดยในส่วนของข้าว นอกจากการวางแนวทางแก้ปัญหาผลผลิตข้าวในฤดูกาลต่อไปตามแนวทางข้างต้นแล้ว การตรวจสอบปริมาณข้าวคงเหลือของรัฐจากโครงการรับจำนำข้าว รวมทุกโกดัง 1,787 แห่ง มีจำนวนข้าวกว่า

18 ล้านตัน สรุปผลที่ตรวจสอบแล้ว จำนวน 1,726 แห่ง พบว่า เป็นข้าวที่มีสภาพปกติ 1,384 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80.1 เป็นข้าวสภาพผิดปกติ จำนวน304 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 17.6 ส่วนที่เหลือ 38 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.2 ไม่สามารถระบุสภาพข้าวได้ สภาพกระสอบเปื่อยยุ่ยหรือ จำหน่ายข้าวแล้ว ซึ่งการตรวจสอบเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา เพื่อนำผลสรุปเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ส่วนข้าวที่ผ่านการตรวจสอบแล้วและมีคุณภาพดีจะเริ่มทยอยระบายออกมาให้สอดคล้องกับกลไกตลาด โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางไปเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับประเทศจีน มีผลการเจรจาคือ จะมีการส่งมอบข้าวให้กับจีนตามสัญญาเดิมที่เหลือ 9 แสนตัน โดยจะดำเนินการทุกเดือน เดือนละ 8 หมื่นถึงหนึ่งแสนตัน จนถึงเดือนกันยายน 2558 ขณะเดียวกัน จีนยังสนใจสั่งซื้อปลายข้าวเพิ่มเติมจากไทย จำนวน 1 แสนตัน และเปิดโอกาสให้ไทยส่งตัวอย่างข้าวที่ผ่านการตรวจสอบเพื่อให้ทางจีนพิจารณาสั่งซื้อเพิ่ม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป

สำหรับปัญหาราคาอ้อย คสช.ได้อนุมัติเพิ่มค่าอ้อยฤดูการผลิตปี 2556/2557 อัตรา 160 บาทต่อตัน เพื่อจ่ายตรงให้ชาวไร่อ้อยที่ส่งผลผลิตเข้าโรงงานน้ำตาลจำนวน 103.67 ล้านต้น ส่งผลให้ชาวไร่อ้อยกว่า 3 แสนรายได้รับส่วนแบ่งผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาอ้อยพันธุ์ดี มีคุณภาพเพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

ขณะที่กรณีกุ้งเกิดการระบาดของโรคตายด่วนหรือ EMS ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการส่งออกไปยังต่างประเทศ คสช.ได้อนุมัติงบ 96 ล้านบาทให้กรมประมงไปจัดหาพ่อแม่พันธุ์กุ้งจากต่างประเทศที่มีคุณภาพไว้ใช้ภายในประเทศ เน้นการป้องกัน เฝ้าระวังโรคกุ้งทะเล และคัดกรองโรค EMS ตลอดจนผลิตจุลินทรีย์ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อทำให้ผลผลิตกุ้งฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนปัญหายางพาราที่ คสช.ได้อนุมัติงบกลางกว่า 6,600 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 127,113 ครัวเรือน เป็นเงิน 2,520 บาทต่อไร่ไปแล้วนั้น พบว่า ปัจจุบันได้จ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบ และยืนยันสิทธิ์แล้วเกือบ 8 หมื่นครัวเรือน

นอกจากการช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว คสช.ยังให้ความสำคัญกับการดูแลราคาผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล้วยไม้ ตลอดจนผลไม้เศรษฐกิจ เช่น ลำไย ลองกอง เงาะ และมังคุด โดยจะหาแนวทางแก้ปัญหาให้ได้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเขตส่งเสริมการเพาะปลูกตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ การลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า การจัดหาตลาดแหล่งใหม่ และการแปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าสูงขึ้น รวมไปถึงการรณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งจากการตรวจสอบร้านค้า และผู้ประกอบการที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยประเภทต่างๆ กว่า 225 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 ได้การรับรองมาตรฐาน ส่วนที่เหลือพบว่า มีการปลอมแปลงเมล็ดพันธุ์ต่างชนิดผสมกัน ซึ่งจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น หัวหน้า คสช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้าคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ซึ่งมีพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธานฯ มีหน้าที่สำคัญในเรื่อง การขับเคลื่อนสินค้าเกษตรให้เกิดความสมดุล เข้มแข็ง และมั่นคง รวมทั้งมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดที่ยั่งยืน อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้ในภาพรวมต่อไป ส่วนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ยังอยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการกำหนดนโยบาย และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไขปัญหาที่มีความเหมาะสม สอดคล้อง ครอบคลุมทุกพื้นที่ลุ่มน้ำ

ทั้งในมิติน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพของน้ำ ซึ่งกำหนดการทำแผนเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนตุลาคมนี้ และด้วยการที่ คสช.ตระหนักถึงงานที่ต้องปฏิบัติอย่างเร่งด่วนในปี 2557 โดยเฉพาะการฟื้นฟู ขุดลอกคูคลองต่างๆ คณะกรรมการฯ ได้เดินทางไปตรวจความก้าวหน้าโครงการกำจัดผักตบชวาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเน้นย้ำ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้ได้มาตรฐาน โปร่งใส และเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จทันตามแผนที่กำหนด

นอกจากปัญหาค่าครองชีพ และการช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว คสช.ยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยในส่วนของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม คณะกรรมการต่างๆ ที่ คสช.แต่งตั้งขึ้นมา เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เร่งขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ และนโยบายส่งเสริมการลงทุนในระยะ7 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2564 เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ดังนี้ 1. ส่งเสริมการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2. ส่งเสริมกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3. ส่งเสริมให้เกิดสร้างการรวมกลุ่มการลงทุนที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ 4. ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5. ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ

ส่วนคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมหรือSME ด้วยการที่ปัจจุบัน ไทยมีผู้ประกอบการวิสาหกิจ SME ประมาณ 2.76ล้านราย คสช.จึงได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมวิสาหกิจ SME ด้วยการกำหนดมาตรการส่งเสริมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้นได้แก่ การกำหนดให้การส่งเสริม SME เป็นวาระแห่งชาติ และจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริม SME อย่างบูรณาการ โดยกำหนดกรอบงบประมาณแยกออกมาอย่างชัดเจน

ขณะที่ในส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ให้ความสำคัญในด้านคมนาคมขนส่ง และด้านพลังงาน โดยด้านคมนาคมขนส่งมุ่งที่จะรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีหน้า คสช.ได้ให้ความเห็นชอบหลักการกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 ประกอบด้วย 5 แผนงานคือ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะ การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวง และการให้บริการขนส่งทางอากาศ พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทางพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางราง

โดยปรับปรุงรถไฟทางคู่ในเส้นทางรถไฟเดิมช่วงที่มีปัญหาความคับคั่งของการเดินรถ เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าและสำหรับขบวนรถไฟท้องถิ่น 6 เส้นทาง ซึ่งจะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพในปี 2563 หากการก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่แล้วเสร็จครบทุกเส้นทางจะให้บริการเดินรถ จาก 288 เที่ยวต่อวันในปัจจุบันเป็น 800 เที่ยวต่อวัน ส่วนการวางมาตรฐานใหม่สำหรับอนาคต โดยการสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตรใน 2 เส้นทาง คือ หนองคาย-นครราชสีมา-ท่าเรือแหลมฉบัง และเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ใช้ระบบไฟฟ้าความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ใช้งบลงทุนน้อยกว่ารถไฟความเร็วสูงถึงร้อยละ 30

ด้านพลังงาน คสช.ได้ให้ความเห็นชอบหลักการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง อาคาร และบ้านพักอาศัย การปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงาน การศึกษาวิจัยด้านการอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะสมกับประเทศ และการพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานให้เพียงพอที่จะดำเนินการให้งานด้านพลังงานของประเทศเกิดผลสัมฤทธิ์ ส่วนด้านพลังงานทดแทนจะดำเนินการตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก อาทิ การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในระดับชุมชน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ เป็นต้น

3. ฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม นอกจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และการแก้ไขกฎหมายด้านต่างๆ ให้ปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้นแล้ว จนถึงปัจจุบัน ฝ่ายกฎหมายฯ ได้ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้มีผลบังคับใช้แล้ว 11 ฉบับเช่น การเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญที่ได้รับเงินต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท และการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรดแมประยะที่ 2 ไม่เพียงสนับสนุนให้ สนช.สามารถผลักดันกฎหมาย ได้ตามระยะเวลาที่ คสช.กำหนด ยังได้นำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ คสช. เพื่อเสนอให้ สนช.พิจารณามากกว่า 40ฉบับ และฝ่ายกฎหมายฯ ยังได้เตรียมเสนอร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่สังคมในวงกว้างให้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระแรกรวม 5 ฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.การทวงหนี้ และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ และผู้ค้ำประกัน เป็นต้น

ส่วนผลงานในภาคปฏิบัติ นโยบายสำคัญที่ยังเร่งเดินหน้าคือ การปราบปราม และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดตาม 6 มาตรการที่ได้กำหนดร่วมกันของ 15 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเพิ่มความเข้มข้นในการสกัดกั้นและปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด การจัดระเบียบสถานบริการและสถานประกอบการ การสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เด็ก และเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การยึด และอายัดทรัพย์สินผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ เป็นต้น โดยจะมีการประเมินผลครั้งแรกภายในเดือนนี้ ส่วนปัญหายาเสพติดในเรือนจำจะเร่งแก้ไขปัญหาให้หมดไปโดยเร็วผ่านมาตรการทั้งการตรวจค้นที่เข้มข้น การกำหนดให้มีเรือนจำเฉพาะสำหรับผู้ต้องหายาเสพติดเพิ่มขึ้น และการเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ และปรับปรุงระเบียบเรือนจำให้รัดกุมขึ้น

4. ฝ่ายสังคมจิตวิทยา รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาที่ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ โดยร่วมกับฝ่ายต่างๆ จัดกิจกรรม คืนความสุขให้กับคนในชาติในรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเร่งขับเคลื่อนงานในส่วนที่รับผิดชอบทุกด้าน โดยมีผลงานที่ชัดเจน คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ยังเดินหน้าปราบปราม และหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยได้กำหนดแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินคดีด้านทรัพยากรป่าไม้ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังได้ยึดคืนที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีการออกโฉนดมิชอบมากกว่า 380 แปลง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในชายหาดทั้งหมด โดยหลังจากตรวจสอบที่ดินบริเวณหาดในทอน 17 ราย และที่ดินหาดในยาง 11รายไปเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการอีกหลายจุดในพื้นที่หาดทรายแก้ว และส่วนเชื่อมกับหาดในยางที่เป็นอาคารค่อนข้างถาวร ทั้งนี้ การทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต ทั้งในด้านเอกสารสิทธิ์ และการรื้อถอน จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

กระทรวงสาธารณสุข นอกจากการเดินหน้าให้ประชาชนได้รับบริการ ด้านสาธารณสุขที่ดียิ่งขึ้นด้วยการปฏิรูประบบบริการสุขภาพในรูปแบบเขตบริการสุขภาพทั้ง12 เขตแล้ว ยังได้มีการเตรียมพร้อมรับมือวิกฤติการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ที่แม้การแพร่ระบาดยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกแต่ได้มีการกำหนดมาตรการหลักไว้รับมือคือ มาตรการเฝ้าระวังโรค มาตรการดูแลรักษา และมาตรการการตรวจทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังนำมาตรการทางด้านกฎหมายมาใช้เสริมด้วยการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะมีผลดีช่วยให้เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ มีอำนาจในการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เมื่อโรคเกิดในต่างประเทศ เจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองจะมีอำนาจดำเนินการกับยานพาหนะ และผู้เดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ รักษา แยกกัก กักกัน และการให้วัคซีน และหากโรคเกิดในประเทศ เจ้าพนักงานสาธารณสุขจะมีอำนาจห้ามเข้า-ออกปิดสถานที่ ห้ามเข้าสถานที่ชุมชน ให้แจ้งการเกิดโรค ให้กำจัดแหล่งแพร่โรคเป็นต้น

กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการจัดการแสดง คืนความสุขให้คนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแสดงทางวัฒนธรรม เรื่อง “ในสวนฝัน” ผสานใจภักดิ์ แด่ อัคราภิรักษศิลปิน โดยศิลปินแห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 12 สิงหาคม 2557 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษา และพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้เจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 2 และ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีประชาชนสนใจเข้าชมจนเต็มทุกรอบ

นอกจากนี้ ยังได้เดินหน้าโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 : ชาวประชาเป็นสุข เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และความสุขของคนในชาติ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของ คสช. ที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับหน่วยงานทหารในพื้นที่ดำเนินการอย่างบูรณาการตามวิถีวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดครอบครัวรักษาศีล 5และหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในทุกจังหวัด โดยมีพระภิกษุในพื้นที่เป็นแกนนำ และมีผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงผู้สูงอายุในหมู่บ้านช่วยกันดูแลลูกหลาน เอาใจใส่กันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความรัก ความเอื้ออาทร และความปรองดองสมานฉันท์ โดยในระยะเร่งด่วนได้นำร่องจังหวัดรักษาศีล 5 ต้นแบบใน 11 จังหวัดคือ สระบุรี เลย แพร่ กาญจนบุรี ราชบุรี หนองคาย บึงกาฬ ยโสธร ชัยนาท สมุทรสงคราม และปทุมธานี โดยได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระดมสรรพกำลังดำเนินการอย่างเข้มแข็ง และจริงจัง เพราะเมื่อคนในหมู่บ้านตั้งใจรักษาศีล 5จะทำให้สังคมไทย เป็นสังคมที่ไม่มีการเบียดเบียน ทำร้ายกัน ไม่มีการลักทรัพย์ ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น ไม่พูดเท็จ ไม่มียาเสพติด เป็นสังคมที่สงบสุข และเต็มไปด้วยรอยยิ้มเช่นในอดีต

กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้การช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบีย และเดินทางกลับมายังประเทศไทยตามคำสั่งจากหัวหน้า คสช. ซึ่งชุดแรกเป็นนักศึกษาชายจำนวน 8 คน โดยเบื้องต้นได้ให้การช่วยเหลือเรื่องค่าอาหาร ค่าพาหนะ และค่าประสานงานระหว่างการเดินทาง เพื่อส่งกลับภูมิลำเนา ส่วนในขั้นต่อไป ศูนย์พัฒนาสังคมในพื้นที่จะออกเยี่ยมบ้านนักศึกษากลุ่มดังกล่าวต่อไป สำหรับการช่วยเหลือคนไทยในชุดต่อไปสามารถดำเนินการได้ทันทีที่ได้รับการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศ

ส่วนกรณีเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ผ่านฝ่ายกฎหมายฯ และฝ่ายสังคมจิตวิทยา เพื่อเสนอให้ คสช.พิจารณา โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ คือ ห้ามมิให้มีการตั้งครรภ์แทน เพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งที่ประชุม คสช.จะส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป

5. ฝ่ายกิจการพิเศษ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ วันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร“62 พรรษามหาวชิราลงกรณ” ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2557 โดจัดกิจกรรมพิธีบำเพ็ญกุศล พิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 162 รูป พิธีถวายเครื่องสักการะจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลและถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ และได้ดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา82 พรรษา 12 สิงหาคม 2557 ณ บริเวณสวนอัมพร ลานพระราชวังดุสิต และท้องสนามหลวง รวมถึงกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดรวมทั้งจัดพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล ณ บริเวณท้องสนามหลวง

ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน หลังจากที่มีการปรับระบบการรับข้อร้องเรียนใหม่ พบว่า ประชาชนสามารถส่งข้อร้องเรียนเข้ามามากยิ่งขึ้น เฉพาะช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนกว่า 58,000 เรื่อง แก้ไขปัญหาได้ข้อยุติกว่า 40,000 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการกว่า 6,500 เรื่อง นอกจากนี้ ได้ให้การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มายื่นข้อร้องเรียนอย่างครบวงจร เร่งรัดกระบวนการติดตาม และแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแจ้งผลการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทราบโดยเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นว่า คสช. มิได้ละเลยต่อทุกปัญหาของประชาชน

สำหรับงานที่เป็นหน่วยขึ้นตรงกับหัวหน้า คสช. ได้รับมอบหมายให้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ของ คสช. รวมถึงการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ ของประชาชน และจากการติดตามงานด้านต่างๆพบว่า ส่วนใหญ่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมสำคัญตามนโยบายของ คสช. ซึ่งจากการกวดขันจับกุม และระดมกวาดล้างผู้กระทำผิดมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถิติคดีอาญาในห้วงเดือนที่ 3 ลดลงเกือบทุกคดี เมื่อเทียบกับห้วง3 เดือนแรกของปี เช่น คดีอุฉกรรจ์ และสะเทือนขวัญ ลดลงร้อยละ 17 คดีต่อชีวิตร่างกาย และเพศ ลดลงร้อยละ 6 ส่วนคดีที่จับกุมได้มากขึ้นได้แก่ คดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย เป็นต้น และนอกจากการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมแล้ว ยังกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการจราจร

โดยนโยบาย 5 จริง5 จอม จนถึงปัจจุบันมีสถิติการจับกุม จอมปาด จอมล้ำ จอมขวาง จอมย้อนและจอมปลอม รวมกว่า 126,000 ราย ขณะที่สถิติ ยกจริง ล็อคจริง ขังจริง และจับจริง มีสถิติการดำเนินคดีมากกว่า 2 แสนราย ขณะที่ในส่วนของ กอ.รมน.ยังคงเดินหน้าปราบปราม และหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ตามที่หัวหน้า คสช.ได้อนุมัติแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนแล้ว ซึ่งจากการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 502 คดี รวมผู้ต้องหา 419 คน เลื่อย 101 เครื่อง

ส่วนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วตามแนวทาง “พื้นที่ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัย” พบว่า สถิติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ ขณะเดียวกันในด้านงานอำนวยความยุติธรรม ในส่วนศูนย์ดำรงธรรม ศอ.บต.”ได้ดำเนินงานมิติใหม่เพิ่มขึ้น 4 ประการ ได้แก่ 1. การตรวจสอบ และเร่งรัดเรื่องที่ประชาชนเคยได้รับความเดือดร้อน และยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา 2. การเปิดโทรศัพท์สายด่วน 1880 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์และแจ้งเหตุ 3. การสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอำนวยความเป็นธรรม เรียกว่า “การอำนวยความเป็นธรรมภาคประชาชน” ในทุกอำเภอ และ 4. การจัดจ้างบุคลากรที่มีวุฒิปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ และเป็นคนในพื้นที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์ดำรงธรรมทั้ง 37 อำเภอ เพื่อช่วยเหลือด้านกฎหมายให้กับประชาชน

สำหรับงานของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในรอบเดือนที่ผ่านมาที่สำคัญประกอบด้วย 1. ทำการสำรวจพื้นที่เส้นทางภายใต้โครงการศึกษาพื้นที่เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาศักยภาพการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวตามเส้นทางความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่รองรับการเติบโตของโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงกันในภูมิภาคอาเซียนของเส้นทาง R9 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต - ดานัง) เชื่อมต่อกับเส้นทาง R1 (หวุงเต่า - โฮจิมินห์) 2. ความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นั้น อยู่ระหว่างการจัดสิทธิประโยชน์เป็นพิเศษจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ จัดระบบแรงงานต่างด้าวแบบไป - กลับ การดำเนินการเกี่ยวกับด่านศุลกากร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนเป็นการเฉพาะ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการระดับชาติ

3. การประชุมระดับรัฐมนตรีในเวทีหารือเพื่อการเตรียมระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6 ภายใต้แผนงาน GMS มีมติให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่ง ลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาค ส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และปรับเปลี่ยนบทบาทเวที ECF ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง 4. เรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ฝ่าย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย จะเร่งพัฒนาด่านชายแดนด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นด่านสำคัญทางการค้า เพื่อเดินหน้าพัฒนาเส้นทางรถไฟ รองรับการขนส่งสินค้า จากสิงคโปร์ มาเลเซีย ผ่านไทยไปยังลาว และจีน การร่วมมือดูแลสินค้ายางพาราร่วมกันตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ยาง การส่งออก การวิจัยพัฒนา ด้วยการร่วมการเดินหน้าตั้งระเบียงยางพารา (Rubber Corridor) เพื่อร่วมกันดูแลยางพาราอย่างครบวงจรตามโครงการ Rubber City

ขณะที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือ สมช.ได้ทบทวน และปรับปรุงร่างนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2558-2562 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เบื้องต้น แบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะเร่งด่วนจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ การสร้างความสมานฉันท์ในชาติ และการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนระยะต่อไปจะให้ความสำคัญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การจัดระบบบริหารจัดการชายแดน การแก้ปัญหาภัยคุกคามข้ามชาติและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความมั่นคงทางพลังงาน และอาหาร เป็นต้น

กลุ่มงานสุดท้าย คือ กลุ่มงานสร้างความปรองดอง และการปฏิรูปนอกจากการเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม เส้นทางปฎิรูปประเทศไทย ณ สโมสรกองทัพบกแล้ว ยังคงเดินหน้ารวบรวมข้อมูลข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปจัดทำ “กรอบความเห็นร่วม” ในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ โดยในห้วงเดือนที่ 3 ได้รวบรวมข้อเสนอแนะของประชาชนทั่วประเทศผ่านทางช่องทาง โทรศัพท์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-mail และไปรษณียบัตร รวมทั้งได้สังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารงานวิจัยต่างๆ รวม 684 เรื่อง และจากการสัมภาษณ์เชิงลึกเพิ่มอีก 29 ครั้ง ขณะเดียวกัน ยังได้มีการจัดเสวนาเรื่องการปฏิรูปการเมืองการปกครอง และการศึกษา เพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง

นอกจากนี้ ยังได้จัดมหกรรมปรองดองสมานฉันท์คืนความสุขให้คนในชาติ ณ ท้องสนามหลวง โดยมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าราคาถูก และการจัดนิทรรศการ

การดำเนินงาน ขั้นตอนการทำงาน และผลการดำเนินงานของคณะทำงานฯรวมทั้งการรับฟัง ความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องการปฏิรูปฯ โดยมีประชาชนทุกเพศทุกวัยร่วมแสดงความคิดเห็น และเมื่อในวันที่ 9 - 11 สิงหาคมที่ผ่านมาได้ร่วมจัดนิทรรศการในงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องของการปฏิรูปในด้านต่างๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลข้อเสนอแนะดังกล่าว คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปฯ ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การจัดทำกรอบความเห็นร่วมในการปฏิรูปประเทศเท่านั้น แต่ยังได้เพิ่มเติมเพื่อสร้างความสมบูรณ์ในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว10 ด้าน ส่วนการปฏิรูปในด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นด้านที่ 11 นั้น กำลังจัดทำข้อมูลการปฏิรูปเพิ่มเติม โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จในห้วงต่อไป เพราะหลังจากนี้จะยังคงมีการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง และเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนทุกด้านจะรายงานให้ คสช. ทราบ เพื่อนำไปพิจารณาใช้ประโยชน์ต่อไป

หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เห็นได้จากสังคมถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศของ คสช. จะเห็นได้ว่า ขณะนี้ทั้งการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน และระบบเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนปัญหาต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขนั้น ล้วนเป็นปัญหาที่สะสมมายาวนานจึงต้องใช้เวลาในการสะสาง และหลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย คสช.เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งนี้ คสช.ขอให้คำมั่นว่า ทั้ง คสช. และรัฐบาลที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จะร่วมมือกันทำให้สังคมไทยลดความหวาดระแวงที่มีต่อกัน และร่วมกันสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนทุกหมู่เหล่าให้มีต่อภาครัฐ เพื่อร่วมกันสร้างประเทศเทศไทยที่เข้มแข็ง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และการก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยในประชาคมโลกให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นต่อไป


พบ 3 เดือน คสช.อนุมัติงบแล้วรวม 3.68 แสนล้าน!!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

เปิดงบประมาณ คสช. 3 เดือน อนุมัติแล้ว 38 รายการ 3.68 แสนล้าน จ่ายจำนำข้าวมากสุด 9.2 หมื่นล้าน ช่วยสวนยาง 1.2 หมื่นล้าน สร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า ใน ทบ. 2.4 พันล้าน ให้ สตช.สร้างโรงพัก 5.8 พันล้าน ซื้ออาวุธ 2.6 พันล้าน แก้น้ำท่วม 1.7 หมื่นล้าน ให้กทม.ระบายน้ำ 2 หมื่นล้าน กองทุนหมู่บ้าน 2.6 หมื่นล้าน ให้ อปท. 8.5 พันล้าน แต่ห้ามนำไปใช้ดูงานเด็ดขาด ให้ กปภ.ปรับปรุงระบบขาดแคลนน้ำ 1.8 หมื่นล้าน
         วันนี้ (1 ก.ย.) เว็บไซต์ Thaigov.go.th ของทำเนียบรัฐบาล ได้มีการเผยแพร่การอนุมัติงบประมาณ ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง ทั้งรายการปกติในปี 2557 และการอนุมัติงบค้างจ่ายต่อเนื่องมาจากปี 2556 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบผูกพันข้ามปี และการปรับเปลี่ยนรายการงบประมาณ จากจำนวน 12 ครั้ง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน และการประชุมคณะกรรมการระดับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และการประชุมระดับกระทรวงต่างๆ ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา รวม 38 รายการ วงเงิน 368,133.95 ล้านบาท โดยแยกเป็นรายการพบว่า
       
       1.อนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายเงินค้างชำระหนี้ของชาวนา ในโครงการจำนำข้าว วงเงิน 92,431 ล้านบาท 2.อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตรปี 2555-2557 วงเงิน 5,498.9 ล้านบาท 3.อนุมัติงบกลาง จากรายการงบกลางเพื่อสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยแผ่นดินไหวในจังหวัดเชียงราย วงเงิน 449 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณช่วยเหลือสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนเงิน 322 ล้านบาท และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ วงเงิน 127 ล้านบาท 4.อนุมัติงบประมาณช่วยชาวสวนยาง 2 โครงการ วงเงิน 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เพื่อช่วยเหลือการปลูกยางทั้งระบบจำนวนเงินงบประมาณ 6,600 ล้านบาท มีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 100,000 ราย และโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นโครงการตกค้างในการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2555 และปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ประสบภัยทางธรรมชาติประมาณ 580,000 กว่าราย และวงเงินอีก 5,400 กว่าล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ
       
       5.อนุมัติงบกลางประจำ ปี 2557 โครงการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมสมบัติอันล้ำค่าของแผ่นดิน ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และภาคภูมิใจในความเป็นไทย บริเวณหอประชุมกองทัพบก ถนนนครราชสีมา วงเงิน 2,455 ล้านบาท 6.อนุมัติงบประมาณ เพื่อสมทบค่าเบี้ยประกันภัยนาข้าวปี 2557 วเงิน 2,292 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาฤดูกาลผลิต 2557/58 โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตให้เกษตรปลูกข้าวนาปีลงร้อยละ 3 ต่อปี รายละไม่เกิน 50,000 บาท 7.อนุมัติใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 2 โครงการ 400 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงานปี 2557 วงเงิน 200 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนปี 2557 วงเงิน 200 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการอยู่ใน 23 โครงการ ที่ทางคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เสนอให้ทบทวน และทางคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่มีปลัด กระทรวงพลังงานเป็นประธาน พิจารณาเรียบร้อยแล้วว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์จึงให้ดำเนินการต่อไป
       
       8.อนุมัติงบประมาณสำหรับกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต วงเงิน 163 ล้านบาท เช่น ลำไยจาก 8 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 74.5 ล้านบาท เงาะ และลองกอง จากภาคตะวันออก จำนวน 51 ล้านบาท มังคุด และลองกอง จากภาคใต้ จำนวน 37.5 ล้านบาท 9.อนุมัติงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตเพื่อแก้ปัญหาราคายางพารา ระยะสั้น วงเงิน 6,160 ล้านบาทให้แก่เกษตรกร 112,253 ราย เพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ในอัตราไร่ละ 2,520 บาท เฉพาะที่เปิดกรีดแล้ว ขณะที่ระยะยาว จะสนับสนุนให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิต 10.อนุมัติงบกลาง ให้กรมประมงแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและลดความสูญเสียของสินค้ากุ้งทะเลจากกลุ่ม การตายด่วน วงเงิน 96 ล้านบาท 11.อนุมัติตามกรอบงบประมาณเดิม ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อการปรับปรุงปรับทัศนียภาพ และอาคารสถานที่ภายในทำเนียบรัฐบาล จำนวน 252 ล้านบาท
       
       12.อนุมัติงบกลาง โครงการสนับสนุนงบกลางช่วยการศึกษาทางไกล ขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 15,441 โรงเรียนทั่วประเทศวงเงิน 1,300.6ล้านบาท 13.อนุมัติงบประมาณ ให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อนำไปชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าเหมาซ่อมสำหรับปีงบประมาณ 2558 จำนวน 4,401 ล้านบาทเศษ แบ่งเป็น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 2,870 ล้านบาทเศษ และค่าเหมาซ่อม 1,531 ล้านบาทเศษ เพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และให้เกิดการประหยัดดอกเบี้ยจ่ายกรณีผิดนัดชำระหนี้ 14.อนุมัติงบ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สร้างโรงพัก 8,357 ล้านบาท แต่มีงบเก่าอยู่ 2,459 ล้านบาท ดังนั้น จะเหลือที่ต้องอนุมัติใหม่เพียง 5,898 ล้านบาท (จำนวนโรงพักทั่วประเทศ 375 แห่ง) สำหรับอาคารอีก 215 หลังนั้น ต้องใช้วงเงินประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะต้องตั้งคำของบประมาณในปีงบประมาณ 2558 15.อนุมัติงบประมาณที่ผูกพันไว้แล้ว ให้สำนักงานป้องกันการฟอกเงิน หรือ ปปง. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร วงเงิน 200 ล้านบาท
       
       16.อนุมัติงบประมาณเพื่อซื้ออาวุธ เป็นงบผูกพัน รวม 2,588 ล้านบาท (ผูกพัน 4 ปี) 17.อนุมัติงบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำ ให้ทันสิ้นปีงบประมาณ 2557 และกันไว้ใช้ในปี 2558 วงเงิน 17,000 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับการขุดลอกคูคลอง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง 18. อนุมัติงบประมาณให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) สร้างระบบระบายน้ำ วงเงิน 20,000 ล้านบาท จำนวน 16 โครงการ เช่น โครงการที่เป็นการบูรณาการเพื่อแก้ปัญหากับพื้นที่รอยต่อในจังหวัดใกล้เคียง เป็นหลัก โดยในส่วนของการก่อสร้างโครงการใหญ่ คือ อุโมงค์ระบายน้ำ และโครงการเร่งด่วนที่สามารถบูรณาการการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดใกล้ เคียงทั้งจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนนทบุรี
       
       19.อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปรับปรุงถนน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ วงเงิน 835.9 ล้านบาท โดยเป็นงานก่อสร้างถนนซึ่งใช้ยางธรรมชาติผสมยางมะตอยในการปูผิวถนน รวมทั้งสิ้น 37 สายทาง ระยะทาง 164.97 กิโลเมตร ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน 360 วัน 20.อนุมัติงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือชาวประมง และปศุสัตว์ ปี 2557 ในพื้นที่ 68 จังหวัด วงเงิน 5,498 ล้านบาท
       
       21.อนุมัติงบประมาณ รายการงบกลางปี 2557 เพื่อซ่อมแซมท่าเรือหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 115 ล้านบาท 22.อนุมัติงบประมาณผูกพันข้ามปี (2558-2561) เพื่อสร้างศูนย์รังสีบำบัด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ วงเงิน 1,200 ล้านบาท 23.อนุมัติแผนงานและกรอบงบประมาณปี 2557-2558 แก้ปัญหามาบตาพุด 8 แผนงาน เพื่อดูแลโรงงาน จัดการขยะ ปรับปรุงผังเมือง จัดระเบียบจราจร ปรับปรุงด้านสาธารณูปโภค วงเงิน 677 ล้านบาท 24.อนุมัติงบประมาณเพื่อปรับปรุงเรือนจำภูเก็ต 1,104.6 ล้านบาท
       
       25.อนุมัติให้กองทัพบกก่อหนี้ผูกพันข้ามปี (2557-2561) สำหรับก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ 2,599 ล้านบาท 26.อนุมัติงบประมาณ ตามที่กรมการทหารช่างขอให้อนุมัติหนี้ผูกพันข้ามปี (2557-2559) ในโครงการจัดสร้างโครงการตรวจวินิจฉัยผ่าตัด และรักษาพยาบาล อาคารภูมิศิริมังคลานุสรณ์ 1,738 ล้านบาท 27.อนุมัติงบประมาณ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน วงเงินไม่เกิน 1,600 ล้านบาท จะให้เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 และปีต่อๆ ไป 28.อนุมัติจัดสรรเงินงบประมาณปี 2558 จำนวน 82,403 ล้านบาท ให้ ธ.ก.ส. เพื่อชำระคืนดอกเบี้ย และเงินต้นจากแหล่งเงินกู้ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กู้มาให้ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงการใช้ดอกเบี้ยในส่วนเงินที่กู้ยืม ธ.ก.ส. มาใช้ในโครงการรับจำนำ 92,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยอีกกว่า 2,200 ล้านบาท ชดเชยดอกเบี้ยในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวในปี 2557
       
       29.อนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 26,000 ล้านบาท (มีเงินทุนสะสม 34,000 ล้านบาท) 30.อนุมัติปรับเปลี่ยนรายการงบประมาณ โดยสั่งยุติกองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านแล้วโยกงบประมาณ 5,700 ล้านบาท ไปรวมกับการสั่งยุติกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในชุมชน ซึ่งมีงบประมาณ 1,225 ล้านบาท รวมเป็น 6,925 ล้านบาท ไปใช้ในโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แทน 31.อนุมัติปรับเปลี่ยนรายการงบประมาณ โดยชะลอการใช้เงินกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วงเงิน 596 ล้านบาท และโอนงบประมาณไปยังโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือกองทุน สสว. แทน
       
       32.คสช. เห็นชอบ ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทน เงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และเงินช่วยเหลือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย สาระสำคัญ คือ ปรับอัตราเงินค่าตอบแทนของสมาชิก อส. เพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละ 5 มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 โดยระยะเวลาการปรับขึ้นเงินค่าตอบแทน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2554 ปรับใหม่ เป็นอัตราขั้นต่ำ 8,610 บาท และอัตราขั้นสูง 12,285 บาท และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป อัตราขั้นต่ำ 9,000 บาท อัตราขั้นสูง 12,285 บาทเช่นเดิม นอกจากนั้น ยังเห็นชอบการจ่ายเงินตอบแทนพิเศษให้แก่พนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย หรือ กนอ. ที่มีเงินเดือนเต็มขั้นสูงของระดับตำแหน่ง ภายใต้วงเงินรวมไม่เกินร้อยละ 4 ของฐานเงินเดือน รวมของพนักงานที่มีเงินเดือนเต็มขั้น โดยเงินตอบแทนพิเศษเป็นเงินที่ได้รับนอกเหนือจากเงินเดือน และจะไม่นำไปเป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเงินเดือน
       
       33.อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศเบิกจ่ายเงินเพื่ออุดหนุนกองทุน ความร่วมมืออาเซียนบวกสาม จำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ สืบเนื่องจากที่มีการตั้งกองทุนความร่วมมืออาเซียนบวกสามมาตั้งแต่เดือน เมษายน 2552 ประเทศไทย และประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดได้ให้เงินอุดหนุนเมื่อเริ่มต้นประเทศละ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สนับสนุนเงินอุดหนุนด้วยประเทศละ 9 แสนดอลลาร์สหรัฐ ต่อมา ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษเมื่อปี 2555 และที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 14 ปี 2556 มีมติเห็นชอบให้ประเทศสมาชิกสมทบเงินอุดหนุนเพิ่มเติม โดยประเทศไทยต้องสมทบเงิน จำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ
       
       34.อนุมัติงบประมาณ วงเงิน 5,938.25 ล้านบาท ภายใต้แผนพัฒนายางทั้งระบบ ระยะ 10 โดยมาตรการเร่งด่วนระยะสั้น ให้อนุมัติงบกลางปี 57 จำนวน 977.75 ล้านบาท เพื่อยกระดับราคายาง โดยเพิ่มสภาพคล่องของตลาด และเพิ่มมูลค่าคุณภาพผลผลิตรวมถึงส่งเสริมสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์ยางพารา 15,000 ล้านบาท 35.อนุมัติงบประมาณ 8,500 ล้านบาท ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. เพื่อสนับสนุนงานพัฒนาท้องถิ่น ทั้งเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถาวร การส่งเสริมอาชีพ การท่องเที่ยว ซึ่งจัดสรรให้ อปท.ละ 1 ล้านบาท ซึ่งหัวหน้า คสช. ได้ห้ามนำเงินงบประมาณนี้ให้บุคลากรท้องถิ่นนำไปใช้ศึกษาดูงานเป็นอันขาด 36.อนุมัติงบประมาณ 18,000 ล้านบาท ให้การประปาส่วนภูมิภาค ไปปรับปรุงงานทั้งระบบ โดยเฉพาะในพื้นที่ขาดแคลน เช่น เกาะสมุย
       
       37.เห็นชอบในหลักการแผนการลงทุน โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ของการเคหะแห่งชาติในกรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท รวม 38 โครงการ จำนวน 16,146 หน่วย วงเงินลงทุนรวมประมาณ 9,577 ล้านบาท เงินอดหนุนรวม 1,249 ล้านบาท และเงินกู้ภายในประเทศ 7,113 ล้านบาท และเงินรายได้ของการเคหะ 1,214 ล้านบาท ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง จัดการและค้ำประกันเงินกู้ และเห็นชอบวงเงินอุดหนุนของรัฐบาล จำนวน 1,249 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 2554 ที่เห็นชอบพลิกฟื้นองค์กรการเคหะแห่งชาติ โดยทางการเคหะแห่งชาติ ได้จัดทำแผนการลงทุนเสนอให้ ครม. พิจารณาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 และ 38.อนุมัติตามคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs ) อนุมัติงาน สสว. ทั้งยุทธศาสตร์ส่งเสริม SMEs ระยะเร่งด่วนปี 2558 รวม 4 ยุทธศาสตร์ 13 โครงการ วงเงิน 726.7 ล้านบาท มุ่งบูรณาการภาครัฐ พัฒนา SMEs ตามวงจรธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า-บริการ พร้อมกำหนด SMEs กลุ่มเป้าหมายที่จะส่งเสริมในปี 2558-2559 เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดผลการปฏิบัติงาน คสช. เดือนที่3

view