สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ป.ป.ช.จับมือภาคเอกชนดันโครงการ CAC ลดคอร์รัปชัน

ป.ป.ช.จับมือภาคเอกชนดันโครงการ CAC ลดคอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




บทบาทภาคเอกชนสำคัญต่อความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

เพราะ บริษัทเอกชนถูกมองว่า อยู่ในสมการคอร์รัปชันในฐานะผู้ให้ ถ้าบริษัทเอกชนพร้อมใจกันปฏิเสธ ไม่ให้ไม่จ่าย โอกาสที่คอร์รัปชันจะลดลงก็มีมาก แนวคิดนี้ได้นำมาสู่การจัดตั้งโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้าน การทุจริต หรือ CAC เมื่อปี 2553 เพื่อเป็นพื้นที่ให้บริษัทเอกชนสามารถมีแนวร่วมของบริษัทธุรกิจด้วยกัน ประกาศเจตนารมณ์ทำธุรกิจสะอาด ปลอดคอร์รัปชันเพื่อสร้างพลังธุรกิจสะอาดให้กับการทำธุรกิจในประเทศ ปัจจุบันโครงการ CAC มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ล่าสุดคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริตของภาคเอกชนของ ป.ป.ช. ได้ยกระดับโครงการ CAC เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของภาคเอกชนในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ นี้คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตที่มีชื่อภาษาอังกฤษ ว่า Collective Action Coalition of the Private Sector Against Corruption หรือ CAC ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 โดยองค์กรธุรกิจสำคัญแปดองค์กรคือ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าต่างประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียน สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างพื้นที่ให้บริษัทธุรกิจสามารถร่วมกันแก้ปัญหาคอร์รัปชันโดยประกาศ เจตนารมณ์ทำธุรกิจสะอาดและปลอดคอร์รัปชันอย่างสมัครใจ

เมื่อเข้าร่วม บริษัทมีภาระหน้าที่ที่จะต้องประกาศเป็นนโยบายของบริษัทที่จะทำธุรกิจโดยไม่ มีการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมกับวางระบบควบคุมภายในเพื่อลดโอกาสของการทุจริตคอร์รัปชันในการทำ ธุรกิจของบริษัท เมื่อบริษัทได้ดำเนินการในทั้งสองเรื่องนี้ คือ จัดทำนโยบายและมีการวางระบบการควบคุมภายใน เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน บริษัทก็จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อ ต้านการทุจริตที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและมีระบบการควบคุมภายในชัดเจนที่จะป้องกันการ ทุจริตคอร์รัปชัน สมควรที่จะได้รับการเชิดชูว่าเป็นบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการ หรือธรรมาภิบาลในขั้นสูงที่คนไทยควรทราบและสนับสนุน

ตั้งแต่เริ่มโครงการ CAC สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี ได้ขับเคลื่อนโครงการนี้ในฐานะเลขานุการโครงการ CAC แทนองค์กรจัดตั้งแปดองค์กรและถึงวันนี้ (สิ้นเดือนสิงหาคม) จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์มี 337 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 163 บริษัท เป็นบริษัทจำกัด 174 บริษัท และมีบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่ามีนโยบายและระบบการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว 54 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 19 บริษัท ปัจจุบันจำนวนบริษัทเข้าร่วมโครงการและบริษัทที่ผ่านการรับรองกำลังมีโมเมน ตั้มมากขึ้นๆ ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างพื้นที่การทำธุรกิจสะอาดและปลอดคอร์รัปชันที่กว้าง ขึ้น และจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะลดการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ

โดยเหตุนี้ทางคณะอนุกรรมการภาคเอกชนของ ป.ป.ช.ที่มีคุณประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธานจึงตระหนักถึงความสำคัญของโครงการนี้ และได้นำโครงการนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์หลักของ ป.ป.ช.ที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันร่วมกับภาคเอกชน คุณประมนต์เห็นความสำคัญของโครงการ CAC ว่าเป็นโครงการที่จะช่วยสร้างมาตรฐานการทำธุรกิจที่มีคุณภาพให้กับภาคเอกชน นำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดี และความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจในประเทศไทย ที่สำคัญ บริษัทเอกชนที่มีความประพฤติทางธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว (คือไม่ทุจริตคอร์รัปชัน) ก็จะมีแนวร่วมมากขึ้น และจะดึงให้บริษัทที่ไม่ทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ชอบการทุจริตคอร์รัปชันเข้า มาเป็นแนวร่วมมากขึ้น เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เหตุผลดังกล่าวทำให้ภาคทางการโดย ป.ป.ช.ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการ CAC และพร้อมช่วยผลักดันโครงการในการขยายแนวร่วม และใช้พลังธุรกิจที่เกิดขึ้นผลักดันการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการการทำงานของ หน่วยงานภาครัฐเพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชัน

ในการขับเคลื่อนโครงการภาคเอกชน และ ป.ป.ช. รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้วางกลยุทธ์ขับเคลื่อนโครงการ CAC ในระยะต่อไปไว้ห้าแนวทาง

หนึ่ง ขยายแนวร่วมบริษัทธุรกิจเอกชนให้มากขึ้น ทั้งบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์ และบริษัทที่ผ่านการรับรองโดยมุ่งไปที่ความร่วมมือของสมาคมธุรกิจในสาขา ธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ภายใต้สภาธุรกิจที่เป็นองค์กรจัดตั้ง ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียน ก.ล.ต. สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี และ ป.ป.ช.โดยเน้นการมีส่วนร่วมของบริษัทธุรกิจในภาคเศรษฐกิจจริง ผ่านการขับเคลื่อนของสมาคมธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

สอง ปลูกจิตสำนึกและกระแสความร่วมมือของภาคธุรกิจในโครงการ CAC โดยเน้นการเข้าร่วม ว่าเป็นหน้าที่ของบริษัทธุรกิจที่ควรทำ พร้อมส่งเสริมให้บริษัทที่อยู่ในโครงการ CAC และกลุ่มธุรกิจมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการทุจริตที่พบเห็นจากการให้บริการ ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชัน

สาม ให้ประโยชน์และชมเชยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการและผ่านการรับรอง เช่น ให้เป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษในการติดต่อทำธุรกิจกับภาคทาง การหรือสถาบันการเงิน

สี่ ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทยในการต่อ ต้านทุจริตให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์ของบริษัทไทยในการทำธุรกิจในต่างประเทศให้สามารถมีนโยบายและ ระบบการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงมีกลไกที่จะให้บริษัทที่ถูกเรียกสินบน โดยหน่วยงานรัฐสามารถมีช่องทางที่จะคุ้มครองหรือดูแลตัวเอง

ห้า ร่วมมือกับภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการ ก.พ.ร.ในโครงการปรับปรุงระบบการให้บริการของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และลดความเสี่ยงของการเกิดทุจริตคอร์รัปชัน

การขับเคลื่อนทั้งห้าด้านจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการแก้ไขปัญหา คอร์รัปชันที่จะสานบทบาทของภาคเอกชนและภาครัฐ นำไปสู่การสร้างมาตรฐานการทำธุรกิจที่มีคุณภาพ ซึ่งสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือ ให้กับการทำธุรกิจในประเทศ ดังนั้นจำเป็นที่บริษัทธุรกิจเอกชนทุกบริษัทต้องร่วมมือและสนับสนุนเพื่อให้ มาตรฐานในการทำธุรกิจของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพที่แท้จริง นำประเทศหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ที่ได้พาประเทศไปสู่ความถดถอย จากคอร์รัปชันที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศขณะนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ป.ป.ช. จับมือ ภาคเอกชนดัน โครงการ CAC ลดคอร์รัปชัน

view