สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อฝึกอบรม โตเป็นสถานศึกษา

เมื่อฝึกอบรม โตเป็นสถานศึกษา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ทำให้บริษัทเอกชนจำนวนมาก ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง มากกว่าการรอสรรหาพนักงาน

เมื่อพูดถึงการพัฒนาบุคลากรในความหมายเดิม หรือที่เราเข้าใจกันทั่วไป หลายคนคงนึกถึงระบบการศึกษาไม่ว่าจะสายสามัญ สายอาชีวะ หรืออุดมศึกษา และการศึกษานอกระบบผ่านช่องทางและวิธีการต่างๆ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวนอกจากเป็นไปเพื่อพัฒนาคนให้เป็นไปตามโครงสร้างที่เป็นสากล โดยมีผลสอบและวุฒิการศึกษาเป็นสิ่งบ่งชี้ความสำเร็จในแต่ละก้าวย่างแล้ว

การฝึกอบรมเฉพาะเรื่อง และการฝึกปฏิบัติในบางสาขา เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้บุคลากรนั้นๆ มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานในหน้าที่หรือตำแหน่งงานนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความต้องการในสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ลำพังความรู้ทั่วไปกับความเข้าใจในสภาพงานอาจจะไม่พอ สิ่งที่บริษัทหรือองค์กรต่างๆ ต้องการมากกว่านั้นคือประสบการณ์ในงาน หรือที่เรียกว่า ทักษะ (Skill) นั่นเอง เพราะเป็นสิ่งเดียวที่บ่งชี้ว่าบุคคลนั้นทำได้ทำเป็น

สำหรับหัวหน้างานและผู้บริหาร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทักษะในการบริหารงาน (Management Skill) เพิ่มเติมขึ้นไปอีก เพราะจะมีเรื่องให้ปวดหัวมากกว่าแค่เรื่องงาน แต่ต้องจัดการกับคนควบคู่ไปกับการแก้ปัญหางานพร้อมกันไป เงื่อนไขสถานการณ์แปลกๆ ที่ต้องใช้การตัดสินใจ จึงเป็นโจทย์ที่ผู้บริหารหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตำแหน่งต้องได้รับการฝึกฝน

ความรู้ในงานอาจเพิ่มเติมได้ผ่านการฝึกอบรม (Training) และแน่นอนการฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวกับทักษะที่ดีที่สุดก็คือ On-the-Job Training คืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับการทำงานจริงที่สุด นี่เองบริษัทชั้นนำใหญ่ๆ ที่ต้องการงานที่มีคุณภาพและผลิตภาพที่สูง จึงลงทุนกับการสร้างศูนย์ฝึกอบรมที่จำลองสถานที่ทำงานเหมือนจริง เพื่อให้พนักงานได้ฝึกปฏิบัติภายใต้การควบคุม และไม่สร้างผลกระทบกับการทำธุรกิจ อาทิ ร้านสะดวกซื้อต้นแบบ ที่มีการซื้อขายจริงๆ ทุกอย่าง แต่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลจากครูฝึกหรือรุ่นพี่ เพื่อให้รุ่นน้องหรือพนักงานใหม่ได้ฝึกฝีมือ นอกจากนั้นยังใช้ร้านจำลองต้นแบบนี้ในการทดลองระบบใหม่ๆ เพื่อดูผลการปรับปรุงพัฒนาได้อีกด้วย

เมื่อมีแนวคิดใหม่ ระบบใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ต้องการทดสอบความสมบูรณ์เพื่อดูว่ายังมีข้อบกพร่องอื่นใดหรือไม่ หรือต้องการวัดผลการปรับปรุง ก็สามารถนำสิ่งใหม่นั้นใส่เข้าไปในร้านจำลอง ซึ่งการทำเช่นนี้มีในบริษัทชั้นนำมากมาย อาทิ ร้าน Fast Food ต้นแบบ สถานีบริการน้ำมันต้นแบบ สาขาธนาคารต้นแบบ เป็นต้น

ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ตลอดจนความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งาน ทำให้บริษัทเอกชนจำนวนมากต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง มากกว่าการรอสรรหาพนักงาน ที่เป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาที่ผลิตแบบ Mass Production

แนวคิด Corporate University เป็นอะไรที่เก่ามากในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะเพิ่งจะเติบโตในประเทศไทยอย่างชัดเจนสัก 10 กว่าปีที่ผ่านมา และกำลังเบ่งบานออกดอกออกผล จนหลายๆ องค์กรเริ่มขยับทำตามกันเป็นแถว ต่างจากกระแสคลั่งไคล้สินค้าแฟชั่นที่เกิดขึ้นไม่กี่เดือนแล้วก็เลือนหายไป หากแต่สิ่งนี้ได้ผ่านการลองผิดลองถูก พิสูจน์ผลงานจนเป็นที่ประจักษ์พอสมควร

ผู้อ่านบางท่านอาจจะงง ว่ากำลังพูดถึงมหาวิทยาลัยของประเทศไหน เพราะชื่อแปลกๆ แบบนี้ คงไม่คุ้นหู และไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ามีในประเทศไทย Corporate University หรือสถานศึกษาที่มีความใกล้ชิดหรือเชื่อมโยงเข้ากับภาคธุรกิจ ที่บอกว่าใกล้ชิดนั้นมีได้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบบเป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ จนถึงมีเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดมาจากที่เดียวกัน ก็คือภาคธุรกิจเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นจนกลายเป็นสถาบันการศึกษาในที่สุด

โดยความใกล้ชิดนั้นจะเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่ได้จากการเรียนการสอน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเชิงปฏิบัติ และสอดรับกับความต้องการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม จนไปถึงการวิจัยพัฒนาให้ได้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ที่พร้อมนำไปต่อยอดใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น

บางแห่งก็ตั้งเป็น Academy หรือ Training Center แล้วตามด้วยชื่อบริษัทของตัวเอง บางแห่งก็แยกฝ่ายฝึกอบรมออกมาเป็นบริษัทย่อยทำหน้าที่ให้บริการจัดอบรม โดยมีภารกิจเริ่มต้นหรืองานหลักคือ การฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรของบริษัทในเครือทั้งหมด และบ่อยครั้งที่ทำได้ดีอย่างเหลือเชื่อจนขยายการบริการให้กับบริษัทที่เป็นคู่ค้าและกลายเป็นหน่วยธุรกิจในที่สุด

บางบริษัทไม่มีศักยภาพขนาดนั้น ก็รวมตัวกันเป็นเครือข่ายภาคี และมีสัญญาข้อตกลงกับสถาบันการศึกษาในโซนที่กลุ่มตนเองอยู่ เรียกว่าโรงเรียนสอนทฤษฎี ส่วนโรงงานสอนปฏิบัติ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบนี้ ก็ทำให้ได้บุคลากรที่ดีมีคุณภาพ และความสามารถเร็วขึ้น อย่างน้อยก็ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือและวิศวกรชำนาญงานไปได้บ้าง ในส่วนของพนักงานก็ได้ 2 เด้ง คือเงินเดือน และวุฒิการศึกษาควบคู่พร้อมกันไป

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่อยู่ในแวดวงการฝึกอบรม และการให้คำปรึกษาแนะนำ หลักสูตรฝึกอบรมทั่วไป (Public Training) ที่หน่วยงานให้บริการจัดอบรมต่างๆ จัดเป็นรอบๆตามปฏิทินประจำปี โดยมีบุคลากรจากหลากหลายบริษัทมาเข้ารับการอบรมนั้น ส่วนใหญ่มักจะมาจากบริษัทขนาดกลางและเล็กเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่ามาเปิดโลกทัศน์หาสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในงานของตนเอง ซึ่งโดยมากเท่าที่สอบถามแบบไม่เป็นทางการ ค่อนข้างมีน้อยมากที่จะมีโอกาสได้นำไปใช้จริง

ยกเว้นบางองค์กรที่ขาโหดหน่อย หลังจากเข้าอบรมแล้วต้องส่งการบ้าน หรือนำไปใช้ในงานที่ต้องนำเสนอผู้บริหาร ซึ่งแน่นอนถ้าแค่ปรับปรุงงานของตนเอง คงไม่เป็นไร แต่ถ้าจะคาดหวังให้ถึงกับเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในองค์กร คงเป็นเรื่องยากออกแนวเพ้อฝันไปนิด เพราะไม่มีทางที่พนักงาน 1-2 คนที่ส่งไปอบรม จะกลับมาทำให้คนอีก 99.99% ในองค์กรเปลี่ยนแปลงได้ ยกเว้นแต่ว่าคนที่มาเข้าอบรมเป็น CEO หรือผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ซึ่งเอาเข้าจริงก็เห็นน้อยมากที่ระดับนี้จะมาเข้าเรียน

องค์กรใหญ่ ทันสมัย และใช้เงินเป็นเดี๋ยวนี้ จึงเน้นที่จะให้วิทยากรไปฝึกอบรมภายใน (In-house Training) เสียมากกว่า โดยกำหนดวัตถุประสงค์และความต้องการอย่างชัดเจน วิทยากรก็ต้องทำงานหนักขึ้นที่จะต้องปรับเนื้อหา ตลอดจนกรณีศึกษาและแบบฝึกหัด ให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงของบริษัทผู้ว่าจ้างให้มากที่สุด

จนบางครั้งถึงขนาดต้องให้เอาโจทย์ปัญหา หรือสภาพความเป็นจริงในองค์กรมานั่งทำกันในห้อง เรียกว่าจบหลักสูตรได้ชิ้นงานเอาไปใช้งานต่อได้ทันที แบบนี้เรียกว่าเรียนเป็นทีม ทำเป็นทีม และได้ผลแน่นอน คุ้มค่าเงินอย่างที่สุด

ลองใช้วิธีการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรแบบผสมผสานหลากหลายวิธีดู แต่ไม่ว่าจะแบบไหน อยู่ที่วัตถุประสงค์ว่าต้องการอย่างไร ถ้าต้องการเห็นผล ต้องกล้าลงทุน ฝึกอบรมพร้อมกันทีเดียวแบบหมู่คณะ จะได้ช่วยกันนำไปใช้จริง แต่ถ้าต้องการแค่ให้เปิดโลกทัศน์หาสิ่งใหม่ ฝึกอบรมทั่วไปหรือสัมมนาก็มีประโยชน์เหมือนกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฝึกอบรม โตเป็นสถานศึกษา

view