สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความสำเร็จของคน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Education Ideas โดย ดร.เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย บริษัท อินสปายริ่ง วิสดอม จำกัด

คราวที่แล้วได้พูดถึงโรคติดกลุ่ม ติดการฝึกอบรมสัมมนาของคนไทย ที่มีหลักสูตรดี ๆ ที่ไหน ก็เป็นต้องแห่กันไปเรียน บางคนเรียนเพราะอยากรู้จริง ๆ บางคนเรียนเพราะกลัวตกเทรนด์ หรือบางคนเรียนเพราะติดกลุ่ม ถ้าไม่ได้ไปเรียนจะรู้สึกหมดพลังในการดำเนินชีวิต พอได้เรียนแล้วสบายใจ แต่พอนำความรู้นั้นมาลงมือทำอะไรบางอย่าง มักจะรู้สึกดีในตอนแรกที่เริ่มลงมือทำ แต่ต่อมาภายหลังมักจะท้อ และทำไม่สำเร็จในที่สุด ว่าแล้วต้องไปสมัครเรียนหลักสูตรใหม่ที่คิดว่าดีกว่าหลักสูตรที่ได้เคยเรียนมา

ความจริงแล้วมนุษย์ทุกคนต่างแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าเพื่อการพัฒนาตัวเอง แต่ปัจจัยอะไรคือสิ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จของบุคคลนั้น ๆ ในขณะที่ผู้คนพากันเข้าใจว่าความฉลาดทางปัญญา หรือไอคิว (IQ) หรือคนที่เรียนเก่งกว่า ฉลาดกว่าคนอื่น แม้แต่ความฉลาดทางสังคม หรือคนที่เข้ากับผู้คนได้ดี, รอบรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคม และบุคลิกรูปร่างหน้าตากายภาพภายนอก จะเป็นตัวกำหนดว่าคนคนนั้นจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่าคนอื่นที่ขาดคุณสมบัติเหล่านั้น

ทุกวันนี้ พ่อ, แม่ และผู้ปกครองทั้งหลายต่างพากันผลักดันให้ลูกหลานของตนเรียนนู่นเรียนนี่ จนเด็กไม่มีเวลาจะเป็นตัวของตัวเอง คนที่โตขึ้นมาหน่อยก็พยายามจะเสริมเติมแต่งรูปร่างหน้าตา สรรค์สร้างบุคลิกที่ตนคิดว่าจะช่วยทำให้ประสบความสำเร็จจนมีธุรกิจ "ปั้น" คน ให้ดูเหมือนประสบความสำเร็จออกมามากมาย

บทความใน www.Forbe.com วันที่ 29 ตุลาคม 2013 กล่าวถึงงานวิจัยของ "ดร.แอนเจล่า ลี ดั๊กเวิร์ท" ที่พบว่า คุณสมบัติต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ส่งผลต่อความสำเร็จของคนเราเลย ผู้คนที่หยิบจับอะไรก็ประสบความสำเร็จนั้น มีเพียงคุณสมบัติที่เธอเรียกว่า "ความทรหดอดทนจนถึงที่สุด" (Grit)

ลองเหลียวมองรอบ ๆ ตัว รวมทั้งมองกลับมาที่ตัวเราเองนั้นจะพบว่ามีผู้คนมากมายที่มีความฝัน และมีความตั้งใจที่ดี แต่พอลงมือทำไปสักช่วงระยะหนึ่งมักจะเกิดการถอดใจหรือที่ชอบบอกกับคนอื่น ๆ ว่า "ขี้เกียจ" มักมีเหตุผลต่าง ๆ นานามาเป็นข้ออ้าง เพื่อที่จะไม่ต้องลงมือทำสิ่งนั้นต่อ

"ครูเคท" เห็นด้วยกับงานวิจัยของ "ดร.ดั๊กเวิร์ท" อย่างยิ่งว่า สาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ชอบคิดจะทำนู่นทำนี่ ทำหลาย ๆ อย่าง แต่ไม่สำเร็จสักทีนั้น เหมือนกับหนังสือของครูเคท เรื่อง "เรียนภาษาอังกฤษกันเข้าไปแต่ไม่สำเร็จสักที" ที่ว่าคนเราจะประสบความสำเร็จในการฝึกภาษาอังกฤษจนใช้งานได้ หรือทำอะไรสักอย่างให้ประสบความสำเร็จโดยไม่จอดกลางคันนั้น จะต้องมีคุณสมบัติอยู่ 2 ประการ คือ "ลูกบ้า" กับ "ลูกอึด"

"ลูกบ้า" (Passion) คือความชอบแบบจริง ๆ จัง ๆ ชนิดหายใจเข้าออกเป็นเรื่องนั้น ส่วน "ลูกอึด" (Perseverance) คือความอึด, อดทน, ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคปัญหา และข้อจำกัด เนื่องจากมีความมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงอย่างที่หวังไว้

ผู้คนในรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) และเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Gen X) เป็นรุ่นที่เติบโตมาด้วยลำแข้ง, ปากกัดตีนถีบ และพ่อแม่ลูกช่วยกันทำมาหากินทั้งครอบครัว จึงส่งผลให้มี "ลูกอึด" หรือความอึด และอดทน มากกว่าคนในรุ่นเจเนอเรชั่นวาย (Gen Y) กลายเป็นคนที่มีชีวิตเติบโตมาแบบสำเร็จรูป, ใช้เงินซื้อได้ และพ่อแม่ทำงานหนัก แต่ลูกเป็นคนใช้เงิน โดยไม่คำนึงถึงความยากลำบากในการทำงานเพื่อให้ได้เงินมา

จึงมีความอึดและอดทนที่ต่ำกว่า ส่วน "ลูกบ้า" ของคนรุ่นเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Gen X) ก็มีมากกว่า เนื่องจากการดำเนินชีวิตที่ไม่เร่งรีบเท่ายุคนี้ ทำให้ผู้คนมีเวลาศึกษาสิ่งต่าง ๆ อย่างลงลึก การจะได้อะไรมาสักอย่างเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ผู้คนจึงหลงใหลและเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ มากกว่ารุ่นเจเนอเรชั่นวาย (Gen Y) ที่ทุกอย่างสามารถซื้อได้ทันทีไม่ต้องเสียเวลาทำให้ขี้เกียจรอ

นอกจากนี้ คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรือรุ่นเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Gen X) มีความผูกพันในครอบครัวใกล้ชิดมากกว่ารุ่นเจเนอเรชั่นวาย (Gen Y) จึงมีการชี้แนะแนวทาง และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้มีความมุมานะ พยายามไม่ถอดใจ หรือถอนตัวออกไปก่อนงานจะสำเร็จ

จากประสบการณ์ของครูเคท ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Coaching) และการให้คำปรึกษา (Counseling) ให้กับผู้คนมากมายพบว่าคนรุ่นเจเนอเรชั่นวาย (Gen Y) จะมีปัญหาเรื่องการถอดใจสูงกว่าคนรุ่นเก่า ทั้ง ๆ ที่มีความตั้งใจอยากทำนู่นทำนี่ และอยากประสบความสำเร็จมากกว่าคนรุ่นเก่าหลายเท่า

ดังนั้น ถึงเวลาที่พ่อ, แม่ และผู้ปกครอง รวมถึงรุ่นพี่, หัวหน้า และเจ้านายทั้งหลาย ต้องหันมาช่วยกันเสริมสร้างทักษะให้กับลูกหลานรุ่นเจเนอเรชั่นวาย (Gen Y) และเจเนอเรชั่นซี (Gen Z) ที่เริ่มคลานตามกันมา ให้มี "ลูกบ้า" และ "ลูกอึด" กันมากขึ้น

ส่วนจะทำอย่างไร มาคุยกันต่อ ในคราวหน้าค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความสำเร็จของคน

view