สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

CSV กับ Social Enterprise

CSV กับ Social Enterprise

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




Social Enterpriseเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ส่วน CSV เป็นคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมควบคู่กัน

นับจากที่ ศ.ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง ‘The Big Idea: Creating Shared Value’ ในฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว เมื่อปี 2554 จนนำมาสู่การก่อตั้งเป็น Shared Value Initiative (SVI) ในปี 2555 เพื่อนำแนวคิด CSV ที่ทั้งสองได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น ไปใช้ในภาคธุรกิจและทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ จนส่งผลให้มีการนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาเป็นกลยุทธธุรกิจกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก

ทิศทางการขับเคลื่อนเรื่อง CSR จากนี้ไป คงหนีไม่พ้นเรื่อง CSV (Creating Shared Value) ซึ่งถือเป็นภาคต่อขยายของ CSR และอยู่ในบริบทของ CSR-in-process ที่องค์กรสามารถใช้ยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมจากการดูแลผลกระทบในเชิงลบ มาสู่การส่งมอบคุณค่าในเชิงบวก ในอดีต เราเรียก CSR ในลักษณะนี้ว่า Strategic CSR แต่ปัจจุบัน นิยมใช้คำว่า CSV แทน

ที่ผ่านมาธุรกิจส่วนใหญ่มองประเด็นทางสังคม (Social Issues) ที่องค์กรต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในแง่ของความเสี่ยงทางธุรกิจ จึงมักใช้ CSR เป็นเครื่องมือป้องกันหรือจัดการความเสี่ยง แต่ในปัจจุบัน หลายธุรกิจเริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อประเด็นทางสังคมเหล่านั้น ว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจ CSV จึงกลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น ในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคม และในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปพร้อมกัน

ก่อนหน้านี้ มีธุรกิจที่นำเรื่อง CSV มาสื่อสารกับสังคมในเชิงภาพลักษณ์ และการหวังผลทางประชาสัมพันธ์ มากกว่าที่จะเป็นการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมอย่างแท้จริง บางธุรกิจนำเอาโครงการบริจาคหรือกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดำเนินการอยู่ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก มาปัดฝุ่นเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น CSV ทั้งที่กิจกรรมในเชิง Philanthropy ดังกล่าว ไม่ได้จัดว่าเป็น CSV ตามแนวทางของไมเคิล อี พอร์เตอร์

ความสับสนอีกกรณีหนึ่ง เกิดขึ้นจากการนำคำว่า CSV ไปใช้ในบริบทของการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise และอธิบายในทำนองว่า Shared Value จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อองค์กรธุรกิจมีการแปลงสภาพเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม

ในความเป็นจริง การสร้างคุณค่าร่วม มิได้ขึ้นอยู่กับสภาพของกิจการที่ต้องเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งมิได้เสนอให้กิจการต้องทำสิ่งที่ต่างไปจากการทำธุรกิจปกติ แต่เสนอให้กิจการทำธุรกิจเช่นปกตินั้น ด้วยการนำความเชี่ยวชาญขององค์กรมาใช้สร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ ให้เกิดแก่กิจการและสังคมไปพร้อมกัน

หากเปรียบเทียบความแตกต่าง จะพบว่า Social Enterprise (SE) เป็นวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยมีพันธกิจในการดำเนินงานเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ด้วยการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดหรือรูปแบบทางธุรกิจในการตอบสนองวัตถุประสงค์ทางสังคม ส่วน CSV เป็นการดำเนินงานของวิสาหกิจทั้งที่ดำเนินอยู่แล้วในรูปของธุรกิจปกติ (หรือที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในรูปอื่น) เพื่อมุ่งให้เกิดผลลัพธ์เป็นคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมควบคู่กัน

CSV จึงเป็นการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับกิจการและสังคม ภายใต้วิสาหกิจที่ดำเนินงานอยู่เดิม โดยไม่จำเป็นต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ หรือหากวิสาหกิจที่ดำเนินงานนั้นเป็น SE อยู่แล้ว ก็สามารถนำแนวคิด CSV ไปพัฒนาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดหรือรูปแบบทางธุรกิจ เพื่อส่งมอบผลลัพธ์เป็นคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมได้เช่นกัน

ลักษณะที่สำคัญอีกประการของ CSV คือ การให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ (Outcome) จากการดำเนินงาน มากกว่าความมุ่งประสงค์ (Purpose) ของกิจการ ไม่ว่าจะก่อตั้งด้วยวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจหรือในทางสังคมก็ตาม กิจการจะต้องสามารถส่งมอบคุณค่าให้กับทั้งตัวองค์กรและสังคมไปพร้อมกัน โดยนำความเชี่ยวชาญและสินทรัพย์ที่มีอยู่ มาใช้เป็นฐานในการสร้างคุณค่าร่วม

แนวคิด CSV ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพื่อสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับสังคมอย่างแท้จริง เพราะแนวคิด CSV จะช่วยชี้ให้องค์กรได้คำนึงถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย และค่าเสียโอกาสในการส่งมอบผลประโยชน์ทางสังคมอย่างรอบด้าน

เมื่อใดก็ตามที่การดำเนินงานมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าประโยชน์ที่ส่งมอบ คุณค่าสุทธิที่สังคมได้รับจะติดลบ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรสาธารณประโยชน์นั้นๆ และยิ่งไปกว่านั้น ชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย ก็จะพลอยเสียโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ค่าเสียโอกาสดังกล่าว กลายเป็นภาระต้นทุน (สะสม) ที่องค์กรไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ทิ้งไว้ในรูปของผลกระทบภายนอก (Externalities) ให้กับชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ปรากฏอยู่ในรายการผลการดำเนินงานใดๆ ทำให้ยังคงอ้างผลงานหรือเคลมเครดิตที่หน่วยงานได้เข้าให้ความช่วยเหลือดังกล่าวอย่างเต็มภาคภูมิ

ดูราวกับว่า เริ่มต้นเหมือนดัง ‘ดอกไม้’ แต่ลงท้ายกลับได้ ‘ก้อนอิฐ’ โดยไม่รู้ตัว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : CSV Social Enterprise

view