สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเสี่ยง

ความเสี่ยง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




คนทั่วไปมักจะมองการทำนวัตกรรมว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นการสร้างสินค้าและบริการใหม่ ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด

หรือยังไม่เคยมีใครนำเสนอในแบบนั้นมาก่อน ก็เลยมองว่า อาจมีความเสี่ยงที่ลูกค้าอาจไม่ยอมรับก็ได้ หมายความว่า อาจไม่ประสบความสำเร็จเมื่อนำสินค้านั้นเข้าสู่ตลาด

เมื่อถามว่า ความเสี่ยงหมายถึงอะไร คนส่วนใหญ่มักจะตอบว่า ความเสี่ยง คือ มีโอกาสประสบความสำเร็จและล้มเหลวได้พอกัน ครึ่งๆ

ผมมีความเห็นว่า การอธิบายความเสี่ยงในภาษาแบบนี้ เป็นมายาคติที่น่าสนใจมาก

คนไทยเรามองเรื่องการเสี่ยงในรูปแบบของการพนันขันต่อเสียส่วนใหญ่ ดังนั้น เวลาที่ให้ความหมายก็พาดไปนึกถึงเรื่องของความคาดหวังต่อผล จากการทำในลักษณะดังกล่าว เมื่อเป็นการพนันก็ทำให้คาดว่า เป็นเรื่องระหว่าง “ได้” กับ “เสีย” และให้โอกาสความน่าจะเป็นร้อยละ 50 คือ ไม่ได้ก็เท่ากับเสีย

มุมมองต่อความเสี่ยงในมิตินี้ ออกจะเป็นการมองด้วยวิธีการเฉพาะพอสมควร ผมเคยถามคนต่างชาติ ต่างภาษากับเรา ก็มักจะได้คำตอบที่แตกต่างจากมุมมองของคนไทยโดยทั่วไปพอสมควร คนไทยเราให้ค่าความหมายของคำว่า ความเสี่ยง ในลักษณะที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ค่อนข้างติดลบ และถ้าเลือกได้ก็มักจะ “หลีกเลี่ยง” มากกว่าที่จะ “เผชิญหน้า”

ด้วยมุมมองในลักษณะนี้ ทำให้วัฒนธรรมการทำนวัตกรรมของคนไทย พลอยติดร่างแหของวังวนความหวาดระแวง ไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ และหนักเข้าคือ ไม่กล้าขออยู่ในขอบเขตความปลอดภัย รักษาสถานะเดิมไว้จะมั่นคงกว่า

ด้วยวิธีคิดแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อย ยึดติดกับการทำงานแบบต้องการ “ความมั่นคง” เป็นหลัก พ่อแม่สมัยก่อนจึงนิยมให้บุตรหลานรับราชการ เพราะมองเห็นว่าจะสามารถเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้ดีกว่าอาชีพอื่น แน่นอนว่า ทัศนคติแบบนี้เปลี่ยนผ่านจากเวทีราชการมายังเวทีอาชีพในบริษัทเอกชนไม่น้อย เด็กจบใหม่นิยมเลือกทำงานกับบริษัทใหญ่ที่ดู “มั่นคง” มากกว่าบริษัทเล็ก สามารถสังเกตจากความนิยมในบริษัทที่บัณฑิตจบใหม่หมายตาเป็นลำดับแรกของทุกปีได้

อันตรายของความมั่นคง คือ การไม่อยากเปลี่ยนแปลง

ซึ่งเป็นทัศนคติที่เป็นภัยต่อนวัตกรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะรากฐานของนวัตกรรมคือ การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ด้วยการมองความเสี่ยงในวิธีคิดเช่นนั้น ทำให้เราไม่กล้าทำนวัตกรรมเต็มตัว หรืออย่างร้ายแรงที่สุดคือ ไม่ทำนวัตกรรมเลย เพราะมองว่า ทำแล้วเสี่ยง ดังนั้น จะทำไปทำไม

น้อยคนนักที่จะรู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “เสี่ยง” ถ้ารู้แล้วอาจจะถึงบางอ้อก็ได้

เพราะ “เสี่ยง” แท้จริงแล้วแปลว่า “ลองเผชิญดู”

ดังนั้น การเสี่ยง และความเสี่ยง ก็เป็นคำนามของอากัปกริยาของการ “ลองเผชิญดู” ในรากศัพท์ของไทยเรา จึงไม่ได้สนใจที่ “ผลลัพธ์” ว่าจะได้หรือเสีย

แต่สนใจที่ “วิธีการ” ว่าจะเอาหรือไม่เอา ทำหรือไม่ทำ ถ้าทำแล้วก็ขอให้ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด ส่วนผลจะได้หรือเสีย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะมันสำคัญที่วิธีการ ซึ่งก็คือ การตัดสินใจที่จะลองดู ด้วยวิธีการที่วางไว้ ด้วยยุทธศาสตร์ที่กำหนด

หากเราปรับเปลี่ยนมุมมองให้ถูกต้องตามที่ควรแล้ว จะเห็นได้ว่า มันคนละเรื่องกันเลยกับความคิดเดิมที่เคยมองกันมา

นวัตกรรมเอาเข้าจริงเป็นเรื่องที่ไม่ได้สนใจที่ผลเป็นหลัก เพราะบางครั้งผลเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ แต่ไม่ได้แปลว่า ให้ทำไปสุ่มๆ โดยไม่ต้องดูตาม้าตาเรือ เพราะการทำแบบนั้น คือ การพนัน ไม่มีหลักการ

การทำนวัตกรรมนั้น มีหลักการ มีวิธีการ มีกระบวนการของการทำที่ชัดเจน แต่ผลเป็นอีกเรื่อง เพราะผลมันเป็นเรื่องของการยอมรับของลูกค้า อันเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ทำ

ด้วยเหตุนี้ หากเรารักที่จะทำนวัตกรรม เราจึงควรที่จะมองความเสี่ยงในแง่มุมบวกให้มากขึ้น และพร้อมที่จะทำด้วยความพร้อม โดยการวางแผน กำหนดวิธีการ และสร้างกระบวนการที่ต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถทำนวัตกรรมได้อย่างมีความสุข แล้วโอกาสของการได้รับผลอย่างที่คาดหวังก็น่าที่จะสูงขึ้นตามลำดับของการพัฒนา

ส่วนที่จะทำครั้งเดียวแล้วเจอแจ็กพ็อตเลยนั้น มีบ้างแต่น้อยมากครับ นวัตกรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการพัฒนา

หากมองในมุมมองที่กว้างมากขึ้น จะเห็นว่า นี่เป็นเรื่องระดับวัฒนธรรมของประเทศเลยทีเดียว ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกานั้น เปิดกว้างต่อการยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น มิหนำซ้ำ ยังมองความล้มเหลวจากการเสี่ยงนั้นๆ ว่าเป็นเส้นทางปกติที่ต้องผ่าน ก่อนจะประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

พูดง่ายๆ คือ เขายอมรับความล้มเหลวได้ดีกว่าเรา โดยไม่มองว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย หรือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แน่นอนว่า ความเสียหายเกิดขึ้น แต่ในสังคมแบบอเมริกันมีการอ้าแขนยอมรับในเรื่องของความผิดพลาด และไม่ลงโทษทางสังคมต่อความล้มเหลว

คนที่นั่นเลยกล้าที่จะลงทุน กล้าที่จะดำเนินการ กล้าที่จะสร้างสรรค์แสวงหาสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ทำให้นวัตกรรมสำคัญๆ ของโลกเกิดจากแผ่นดินสหรัฐแล้วงอกงามไปทั่วโลกได้

ประเทศจีนเอง ในระยะปีสองปีที่ผ่านมานี้ ประธานาธิบดีของเขาเน้นย้ำเรื่องนวัตกรรมมาก เพราะมองว่า การสร้างสรรค์สิ่งใหม่จะช่วยให้จีนก้าวข้ามจากการเป็นผู้ส่งออกสินค้าราคาถูก แรงงานต่ำ ไปสู่การเป็นผู้ขายสินค้าที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูง

หลายคนหัวเราะเยาะว่า จีนฝันกลางวันเรื่องนวัตกรรม เพราะวัฒนธรรมแบบจีนในเวลานี้นั้น ไม่ได้ส่งเสริมให้คนกล้าเสี่ยง กล้าทำนวัตกรรม เพราะสังคมของเขาเป็นแบบสั่งการ ควบคุมและกำหนดเป้าหมายชัดเจน

ผมกลับเห็นต่างเพราะนวัตกรรมแบบอเมริกาก็เป็นแบบอเมริกา แบบจีนอาจจะไม่จำเป็นต้องเหมือนกันก็ได้ เรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ครับ

เพราะนวัตกรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้คนทำ โดยการสนับสนุนบ้างจากรัฐผ่านนโยบายที่เหมาะสม และการปรับวัฒนธรรมเชิงสังคมให้เอื้อต่อการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง การปรับตัว และการยอมรับความล้มเหลว เพื่อให้คนในสังคมกล้าที่จะ “ลองเผชิญดู” อย่างมีหลักการ สามารถคาดหวังผลผลิตที่น่าจะเป็นได้

คำถามที่น่าสนใจมากคือ ไทยเราจะเดินไปในจุดนั้นหรือเปล่า ถ้ายังตอบระดับมหภาคไม่ได้ ก็ลองปรับคำถามใหม่เป็น บริษัทหรือองค์กรของเราจะสามารถเดินไปบนเส้นทางนี้ได้ไหม? และเราควรจะเริ่มต้นเมื่อไหร่?

คำตอบส่วนบุคคลของผมคือ ได้แน่นอน และควรจะเริ่มเดี๋ยวนี้ เริ่มทันที ที่สำคัญคือ ต้องเริ่มอย่างมีวิธีการที่ถูกต้องด้วยครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเสี่ยง

view