สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อเมริกาจะเข้าป่าค่อนข้างแน่

อเมริกาจะเข้าป่าค่อนข้างแน่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ข่าวสารรายวันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบ่งบอกว่าอเมริกากำลังเผชิญปัญหาสารพัด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

จากภายในและทางด้านความท้าทายจากภายนอก คงเข้าใจได้ไม่ยากหากฝ่ายต่อต้านและเกลียดอเมริกาจะพากันมองว่าอเมริกากำลังจะเข้าป่าและล่มสลาย แต่ที่น่าแปลกใจคือฝ่ายที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “อเมริกานิยม” สุดขั้วก็มองว่าปัญหานั้นหนักหนาสาหัสจนอาจทำให้ประเทศของตนล่มสลาย ฝ่ายนี้มีทั้งนักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจและนักการทหารที่ร่วมหัวกันสนับสนุนรัฐบาลให้รุกรานต่างชาติในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการทหาร

ภายในฝ่ายหลังนี้มีกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่เรียกตนเองว่า “สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ” (Council on Foreign Relations) สภาฯ นี้เป็นที่เกลียดชังของชาวโลกจำนวนมากรวมทั้งคนไทยหลายคนซึ่งคงไม่อ่านวารสารของสภาฯ ชื่อ Foreign Affairs ผมเป็นสมาชิกวารสารนี้ แต่มิใช่เพราะมีความเอนเอียงไปทางจุดยืนของสภาฯ หากเพราะอยากรู้ว่าพวกเขาคิดอย่างไรในหลายๆ ประเด็น วารสารเล่มล่าสุดซึ่งครอบคลุมเดือนกันยายนและตุลาคมของปีนี้มีปัญหาของอเมริกาเป็นประเด็นหลักโดยมีนักวิชาการชั้นแนวหน้ารวมทั้ง ฟรานซิส ฟูกิยามา เขียนบทความเกี่ยวกับความเสื่อมของระบอบประชาธิปไตยในแนวอเมริกัน

สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาติดตามความคิดทางด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศของอเมริกา ขอเรียนว่าฟูกิยามาเป็นนักวิชาการสายอเมริกันนิยม ชื่อเสียงของเขาโด่งดังจากการเขียนหนังสือชื่อ The End of History and the Last Man เมื่อปี 2535 หลังสหภาพโซเวียตแตกสลายจากการพ่ายแพ้สงครามเย็น แก่นของหนังสือคือการตีปีกตะโกนว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและระบอบประชาธิปไตยคือคำตอบสุดท้ายสำหรับชาวโลกซึ่งต่อไปนี้จะมีแต่ความสันติสุข หลังเวลาผ่านไปไม่นาน เหตุการณ์ได้พิสูจน์ว่าฟูกิยามาตีปีกเร็วเกินไป ตอนนี้เขาคงเปลี่ยนใจอย่างสมบูรณ์แล้วเพราะในวารสารดังกล่าว เขาเขียนบทความชื่อ America in Decay : The Sources of Political Dysfunction ซึ่งคงแปลว่า “อเมริกาในภาวะเสื่อมสลาย : เหตุปัจจัยของความล้มเหลวทางการเมือง”

ฟูกิยามายอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยในอเมริกาทำงานไม่ได้ตามอุดมการณ์เพราะมันได้กลายเป็นระบบที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มผลประโยชน์ที่มีเงินมากและกลุ่มที่มักมีแนวคิดตกขอบ เขามองว่าอเมริกาคงจะเสื่อมต่อไปเนื่องจากในขณะนี้ไม่มีอะไรที่จะจูงใจให้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจัง สิ่งที่อาจจะผลักดันให้ชาวอเมริกันร่วมมือกันปฏิรูปประเทศคงเป็นเหตุการณ์ใหญ่ ๆ จากภายนอก เขาไม่ได้บอกว่าเหตุการณ์นั้นจะเป็นอะไร แต่น่าจะเป็นจำพวกความท้าทายจากขั้วอำนาจใหม่ที่กำลังแข็งแกร่งขึ้น

อันที่จริงความท้าทายอาจมองเห็นได้แล้ว มันมิใช่เรื่องใหม่ แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่คงเลือกที่จะไม่มอง ย้อนไปไม่กี่ปีหลังจากที่ฟูกิยามาเขียนหนังสือเรื่อง The End of History and the Last Man แซมวล ฮันติงตัน ซึ่งเป็นอาจารย์ของฟูกิยามาเขียนหนังสือชื่อ The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order (หนังสือเล่มนี้มีบทคัดย่อภาษาไทยซึ่งอาจดาวน์โหลดฟรีได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) แก่นของหนังสือคือผู้เขียนมองว่าต่อไปโลกจะไม่สงบเพราะประชาธิปไตยเป็นคำตอบให้ชาวโลกดังที่ฟูกิยามาคิด หากจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างผู้ยึดมั่นในความสำคัญของวัฒนธรรมของตน เหตุการณ์ในช่วงทศวรรษกว่า ๆ มานี้บ่งชี้ว่าฮันติงตันมองถูก อเมริกากำลังถูกท้าทายจากหลายขั้ววัฒนธรรมโดยเฉพาะจากจีน รัสเซียและโลกมุสลิม ในบรรดาขั้วเหล่านี้ เขามองว่าโลกมุสลิมจะเป็นขั้วที่ท้าทายที่สุด

อเมริกาจะไปทางไหนท่ามกลางความท้าทายซึ่งชาวอเมริกันยังมองไม่เห็นว่าสำคัญจนถึงกับรวมตัวกันออกมาต่อสู้? ประเด็นนี้คงมองได้จากหลากหลายมุม เราอาจมองอย่างกว้าง ๆ ว่าความเป็นมหาอำนาจก็เป็นอนิจจัง ฉะนั้น มันจะต้องล่มสลายไปในวันหนึ่งแน่นอน แต่นั่นอาจง่ายไป เราอาจมองในแนวที่ พอล เคนเนดี เขียนไว้ในหนังสือชื่อ The Rise and Fall of the Great Powers ก็ได้ (หนังสือเล่มนี้มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน) เคนเนดีศึกษาการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจและการเสื่อมสลายของมหาอำนาจในช่วงเวลา 500 ปีที่ผ่านมา เขาสรุปว่ามหาอำนาจทางทหารเกิดและอยู่คู่กับความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อใดเศรษฐกิจอ่อนแอจนไม่สามารถสนับสนุนกิจการทางด้านการทหารได้ เมื่อนั้นมหาอำนาจจะเสื่อม มุมมองนี้เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเนื่องจากอเมริกาซึ่งเป็นหัวหน้าทางด้านการใช้ระบบตลาดเสรีมีปัญหาเศรษฐกิจยืดเยื้อมานานในขณะที่กิจการทหารแผ่ขยายออกไปตามไล่ล่าผู้ที่อเมริกาคิดว่าเป็นศัตรูทั่วโลก

มุมมองหลังนี้อาจน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม คัลเลน เมอร์ฟี่ มองย้อนไปไกลกว่าเคนเนดีจนถึงปัจจัยที่ทำให้อาณาจักรโรมันล่มสลายและพิมพ์หนังสือออกมาชื่อ Are We Rome? (มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ดังที่อ้างถึงแล้วเช่นกัน) เขาสรุปว่าอเมริกาในช่วงนี้มีความคล้ายกับอาณาจักรโรมันก่อนล่มสลาย ทั้งในด้านการมีความฉ้อฉลสูง ความไม่เข้าใจโลกภายนอกและความล้มเหลวทางด้านการเมืองของตนเอง

เมื่อรวมเรื่องราวที่เล่ามานี้เข้าด้วยกัน ภาพที่ออกมาคงชี้บ่งว่าอเมริกาจะเดินเข้าป่าแน่ แต่ข้อสรุปนี้มีผู้แย้งแบบหัวชนฝา สำหรับเมืองไทย ฝ่ายไหนจะถูกคงไม่สำคัญเท่ากับเราจะทำอย่างไรในเมื่อทั้งประชาธิปไตยและตลาดเสรีต่างก็มีปัญหาสาหัส ประเด็นนี้ตอบไม่ยากหากเราตีโจทย์แตกว่าอเมริกามีปัญหาเพราะอะไร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อเมริกา จะเข้าป่า ค่อนข้างแน่

view