สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำอย่างไรให้ตัดสินใจพลาด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พอใจ พุกกะคุปต์



ทักษะหนึ่งซึ่งมืออาชีพวันนี้ต้องมี หนีไม่ได้ เพราะต้องใช้ทุกวัน

..จะเลือกแผนใด

..จะเปลี่ยนงานไหม

..จะกินข้าวที่ไหนดี

ไม่ว่าเรื่องเล็ก หรือเรื่องใหญ่ เรามีเรื่องให้ “ตัดสินใจ” ไม่เว้นวัน

กระนั้นก็ดี แม้ต้องใช้ทักษะนี้มาก การตัดสินใจก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับคนจำนวนไม่น้อย

ที่สำคัญ ยิ่งคนที่อยู่สูงเท่าไหร่ในองค์กร ยิ่งต้องเร่งเก่งเรื่องการตัดสินใจ

ไม่เก่งไม่ได้ เพราะผลของการฟันธง ปลงใจว่าจะพาทีมไปซ้ายหรือขวา เดินหน้าหรือหยุด จะไม่สะดุดเพียงแค่เขา แต่ผลจะกระเพื่อมแผ่แบแบ่งให้เราๆ กระทบเพิ่มเป็นหลายเท่าทวีคูณ

ล่าสุด อาจารย์นักวิจัยมือฉมัง 2 ท่านคือ Dr. Jack Zenger และ Joseph Folkman กูรูผู้รู้ด้านพฤติกรรมผู้นำ จึงลงทุนลงแรงศึกษาเพื่อเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า พฤติกรรมการตัดสินใจของคนในองค์กรเป็นอย่างไร โดยศึกษาจากข้อมูลการประเมินพฤติกรรมแบบ 360 องศาของผู้นำกว่า 50,000 คน

อาจารย์และทีมงานวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้นำเหล่านี้ โดยแยกกลุ่มผู้นำออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถในการตัดสินใจสูง เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการประเมินว่าตัดสินใจได้ไม่ดี จากนั้นศึกษาว่า กลุ่มที่ตัดสินใจไม่เก่ง มีพฤติกรรมในการตัดสินใจอย่างไร แตกต่างจากกลุ่มที่มีฝีมือในการตัดสินใจอย่างไรบ้าง

ผลปรากฏว่า พฤติกรรม 5 ประการแรก ที่คนกลุ่มที่ตัดสินใจไม่ดี มีเหมือนกัน คือ

1.เอาง่ายเข้าว่า

ผู้บริหารที่ตัดสินใจได้ไม่ดี หลายทีเป็นเพราะพี่มีพฤติกรรมตายน้ำตื้น ยืนถึงทั้งสิ้น

หากขยันอีกนิด รอบคอบอีกหน่อย ไม่ปล่อยให้ข้อมูลหลวม กำกวมๆ พี่ต้องตัดสินใจได้ดีขึ้น อาจารย์ยืนยัน !

ที่พี่จำนวนไม่น้อยพลาด เพราะท่านขาดความถ้วนถี่ แม้อาจมีข้อดีว่าท่านกล้าลุย กล้าเคาะ แต่ถือว่ายังไม่พอเหมาะพอดี

ต้องเตือนตนว่า หากการตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ ทำได้ง่ายๆ มันคงไม่เหลือถึงมือพี่ เพราะมีน้องๆ ช่วยกรองไปบ้างแล้ว

เมื่อต้องตัดสินใจในระดับหัวหน้า ปกติย่อมแปลว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อนขึ้น มึนๆ ได้เพราะมีหลายปัจจัยเกี่ยวพัน

ลูกน้องกระซิบว่า หากคิดได้แค่สั้นๆ ง่ายๆ กรุณาย้ายกลับ ไปรับตำแหน่งลูกน้องใหม่ดีไหมครับ

2.ท่านอ่านไม่ขาดว่าผลการตัดสินใจ อาจทำให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

มนุษย์ที่ตัดสินใจไม่เก่ง ตัดแล้วเจ๊ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอ่านไม่ออก บอกไม่ถูกว่า อาจเกิดหายนะอะไรตามมาได้บ้าง

เมื่อมองไม่ทะลุ เล็งไม่ขาด ว่าอาจมีความเสี่ยงใด พี่จึงไม่มีแผนลดความเสี่ยง หรือมีทางเบี่ยงเลี่ยงไว้ล่วงหน้า หวังพึ่งโชคชะตาลมๆ แล้งๆ ล้วนๆ

เมื่อเกิดปัญหา จึงโทษฟ้าดินว่าไม่เป็นใจ

ลูกน้องทำใจ ฟันธงได้ว่า วัวหาย แล้วพี่ล้อมคอก ยังพอให้อภัย

แต่ปล่อยให้หายซากหายซ้ำ ไม่จดไม่จำ ไม่เรียนรู้ที่จะล้อมคอก มองอุปสรรคไม่ออก

ลูกน้องจึงได้แต่กลอกตาอย่างน่าเวทนายิ่ง

3.ไม่กล้าตัดสินใจ

อีกหนึ่งนิสัยที่ผู้บริหารบางกลุ่มชอบมี คือ พี่ขี้กังวล จนลังเล ละล้าละลัง นั่งละเลียดกับการตัดสินใจ แบบไม่ยอมฟันธง

..รอข้อมูล รอหารือ รอหนังสือ รอเอกสาร รอผลการรายงาน รอสารพัด

กว่าจะตัดสินใจได้ จึงไม่ทันกาล งานเข้า ข้าวเน่าจนเป็นตำนานเล่าขานไม่รู้จบ

เมื่อไม่ตัดสินใจ ทั้งอุปสรรคและโอกาสเขาบอกว่าไม่ง้อ ไม่รอนะจ๊ะ

4.ยึดอยู่กับอดีต

อีกปัญหาสำคัญคือ สมมติฐานในการตัดสินใจของพี่ มีที่มาจากอดีตกาล นานไปนิด

พี่ใช้ของเก่า เอาความรู้เดิมมาปัดฝุ่น

แบบเชื่อทั้งหัวใจว่า อดีต คือตัวขีดว่าอนาคตควรเป็นเช่นไร

ความยึดติด ผสมกับอัตตา และอำนาจของความเป็นหัวหน้า ถือเป็นสูตรผสมของความหายนะของแท้ ไม่มีข้อแม้ หรือข้อยกเว้นแต่ประการใด

“ตอนพี่ทำงานใหม่ๆ (..30 ปีที่แล้ว) ปัญหาก็ไม่หนีประเด็นที่เรามีตอนนี้ ใช้วิธีที่พี่เคยใช้ ย่อมไม่พลาด”

ลูกน้องรุ่น Gen Y ควักมือถือออกมาจ้าละหวั่น เคาะกูเกิ้ลเปิดดูหมวดพิพิธภัณฑ์ จะได้เข้าใจว่าหัวหน้าพูดถึงอะไร

5.ขาดการโยงใยกับภาพใหญ่

การตัดสินใจครั้งนี้ของพี่อาจดูดี ไม่มีที่ติ ..หากมองในมุมเล็กๆ มองจากมุมใกล้ๆ ที่ไม่ไกลตัวพี่

แต่หากเงยหน้ามองหาภาพใหญ่ และมองไปไกลขึ้น จะเห็นได้ชัดกว่า จนตระหนักว่า อย่าเลย !

อาทิ ตัดสินใจลดคุณภาพสินค้า เพื่อหากำไรในระยะสั้น แต่ต้องมีอันเป็นไปในไม่นาน เพราะลูกค้าเข็ด

คู่แข่งเป็นปลื้ม พี่อย่าลืมตัดสินใจอย่างนี้บ่อยๆ นะคะ

บางท่านตัดสินใจโดยมองเฉพาะหน้าตักตน คนอื่นฉันไม่สน จนคนในที่ทำงานเบื่อหน่าย กลายเป็นคนสังคมรังเกียจ

เสียน้อยท่านยอมเสียยาก จึงกลายเป็นต้องเสียมากเสียมาย

บางขณะ หัวหน้าจึงจะต้องกล้าตัดสินใจ

ยอมเสีย..เพื่อได้

ยอมเสียสละ ยอมขาดทุน..เพื่อกำไร ในภาพที่ยิ่งใหญ่กว่าตน

สรุปว่า ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใด จะเก่งกาจขนาดไหน คนเราก็มีสิทธิ์ตัดสินใจผิดพลาดได้

ผู้นำท่านใดไม่เคยตัดสินใจพลาด แสดงว่า ไม่น่าเคยตัดสินใจ

หัวใจคือ พลาดแล้ว ต้องเรียนรู้ที่จะไม่พลาดซ้ำ ไม่ทำผิดเช่นเดิม

รีบเริ่มใหม่ ให้ผิดเป็นครู

โดยกรุณาอย่าใช้ครูคนเก่าซ้ำๆ

ลูกน้องขำไม่ออกค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำอย่างไร ตัดสินใจพลาด

view