สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คิดถึง ถวัลย์ ดัชนี

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

เมื่อได้ข่าวว่าศิลปินแห่งชาติ ถวัลย์ ดัชนี เสียชีวิตแล้ว ด้วยโรคตับอักเสบ เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 2 ก.ย. ผู้เขียนรู้สึกใจหายและคิดถึง ถวัลย์ ดัชนี เป็นอย่างมาก

จำได้ว่าผู้เขียนรู้จัก ถวัลย์ ดัชนี เมื่อปี 2512 ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เชิงสะพานหัวช้าง ปทุมวัน ขณะนั้น ถวัลย์ ดัชนี เพิ่งจบการศึกษามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ มาพำนักทำงานสร้างสรรค์ศิลปะที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน

เมื่อพบกันครั้งแรกผู้เขียนมีอายุ 20 ปี ถวัลย์ ดัชนี เป็นศิลปินหนุ่มอายุ 30 ปี สำหรับผู้เขียนความน่าสนใจของถวัลย์ ดัชนี ไม่ได้อยู่ที่งานศิลปะที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น หรือการแต่งกายอันแปลกประหลาดในชุดกางเกงยีนส์สีดำ และเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีชมพูแจ๊ด พร้อมหนวดเคราอันรุงรังและผมยาวเลยบ่าที่เขาม้วนเป็นจุกไว้ในบางครั้ง หากแต่ความเป็นตัวตนของถวัลย์ ดัชนี ที่ผู้เขียนได้สัมผัสในยามพูดคุยด้วยต่างหากที่เป็นสิ่งประทับใจมาก เพราะ ถวัลย์ ดัชนี ไม่มีใครเหมือน ในความเฉลียวฉลาดลึกซึ้ง รอบรู้ไปหมดในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปวัฒนธรรม ศาสนา วรรณกรรม เป็นผู้ที่มีความแหลมคมทางภาษา ที่แต่งแต้มไปด้วยอารมณ์ขันและความงดงามวิจิตรพิสดารไม่มีที่สิ้นสุด

การพบและได้พูดคุยกับถวัลย์ ดัชนี จึงเป็นความสุขสนุกสนานที่ได้ทั้งความรู้และอรรถรสอันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่ไม่อาจหาใครในโลกนี้เสมอเหมือน ถวัลย์ ดัชนี มีความจำเป็นเลิศกับวรรณกรรมไทยทุกชนิดในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรมของใคร ในสมัยใด ดูเหมือนจะอัดแน่นอยู่ในสมองอันล้ำเลิศของถวัลย์ ดัชนี ไปเสียสิ้น ทั้งยังสามารถถ่ายทอดมาสู่ผู้ฟังได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งอีกด้วย

เมื่อผู้เขียนไปมาหาสู่ถวัลย์ ดัชนี จนคุ้นเคยสนิทสนม ผู้เขียนก็ได้รับรู้ประวัติชีวิตของถวัลย์ ดัชนี ซึ่งต่อมาผู้เขียนเรียกอย่างเต็มปากว่า "พี่หวัน" จากปากคำของเจ้าตัวเองว่า

ถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2482 ที่ อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นบุตรคนสุดท้องของนายศรี ดัชนี ข้าราชการกรมสรรพสามิต และนางบัวคำ ดัชนี สกุลเดิม พรหมสา มีพี่ร่วมบิดามารดาอีก 3 คน คือ

1.พ.ต.สว่าง ดัชนี (ถึงแก่กรรม)
2.นายสมจิตต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม)
3.นายวสันต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม)

เมื่อวัยเด็กพี่หวันเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนเชียงรายพิทยาคม แล้วไปเรียนต่อชั้นประถมที่โรงเรียนบุญนิธิ ซึ่งตั้งอยู่ริมกว๊านพะเยา และเรียนต่อมัธยมต้นที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม เมื่อคุณพ่อย้ายกลับไปรับราชการที่เชียงราย จึงย้ายไปเข้าเรียนที่โรงเรียนสามัคคีวิทยา จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ในสมัยนั้นพี่หวันเล่าว่าตนเองมีความชอบและมีความสามารถในทางวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก สามารถที่จะวาดรูปตัวละครรามเกียรติ์ได้เกือบทุกตัวตั้งแต่เรียนชั้นประถมต้น ทั้งยังมีความทรงจำเป็นเลิศสามารถจำชื่อเพื่อนร่วมชั้นทุกชั้นปีที่เรียนหนังสือร่วมกันมาทั้งที่โรงเรียนในเชียงรายและที่พะเยาได้หมดทุกคน พอโตขึ้นอายุได้ 7-8 ขวบ ความที่ชื่นชอบเรื่องของนายมั่น-นายคง จากวิทยุปลุกใจตอนปลายและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากฝีมือของ สังข์ พัธโนทัย พี่หวันก็มีความคิดแผลงๆ ด้วยการไปเที่ยวชวนเพื่อนฝูงให้มากรีดเลือกสาบานว่าจะไปอยู่ดงพญาเย็นเมื่อโตขึ้น และคิดอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่ไม่เหมือนคนอื่นมาตั้งแต่เด็ก พี่หวันจึงเป็นลูกชายคนเล็กที่แม่ไม่ค่อยรักใคร่ไยดีเหมือนลูกคนเล็กของบ้านอื่นๆ

หลังจากจบชั้นมัธยม 6 จากเชียงราย พี่หวันก็ได้รับทุนมาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ได้เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคม ฉับไว จึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้านจิตรกรรม ที่ผลงานได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นพี่หวันจึงเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เป็น "ศิษย์รุ่นท้ายๆ ของ ศ.ศิลป์ พีระศรี" พี่หวันเล่าว่าเป็นเด็กบ้านนอกเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ แม้จะได้ทุนเรียนแต่ไม่ได้มีที่อยู่อาศัย ต้องไปอยู่หอพักกับเพื่อนๆ บางทีก็นอนกันที่โรงเรียนเพาะช่างนั่นแหละ ชีวิตของนักเรียนศิลปะก็อยู่อย่างอิสรเสรีไม่ค่อยเป็นที่เป็นทาง จนกระทั่งมีเพื่อนชวนให้ไปอยู่ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน จึงอยู่ต่อมาเรื่อยๆ จนจบมหาวิทยาลัยศิลปากร ไปเมืองนอกเรียนจบกลับมาก็ยังมาอยู่ที่เดิม

เมื่อพี่หวันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากรชั้นปีที่ 1 พี่หวันทำคะแนนวาดรูปได้ถึง 100+ แต่เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 พี่หวันทำได้เพียง 15 คะแนน ด้วยเหตุผลที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ให้ไว้ว่า "ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ"

เมื่อได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี พี่หวันก็เปลี่ยนแปลงการทำงานศิลปะของตนเองใหม่หมด พยายามค้นหาพลังความสามารถและวิถีแห่งตนอย่างจริงจัง ในระหว่างที่เรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากรนี่เอง พี่หวันก็มีโอกาสได้พบและรู้จักกับผู้ใหญ่สองท่านที่พี่หวันมีความเคารพนับถือในใจมานาน คือ อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ซึ่งทั้งสองท่านนี้ได้เป็นกำลังใจและให้การสนับสนุนการทำงานศิลปะของพี่หวันตลอดมา

ความพยายามที่จะดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะของพี่หวัน อยู่ในสายตาของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี อย่างต่อเนื่อง เมื่อเห็นแววว่าลูกศิษย์ผู้นี้มีโอกาสจะประสบความสำเร็จในวิชาชีพศิลปะในอนาคต อาจารย์ศิลป์จึงสนับสนุนให้พี่หวันสอบชิงทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์วัฒนธรรมและการศึกษาเนเธอร์แลนด์ ไปศึกษาต่อด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ พี่หวันเรียนต่อจนได้ปริญญาเอกสาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ จากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งอัมสเตอร์ดัม พี่หวันเรียนจบกลับมาพร้อมกับการพูดภาษาดัตช์และภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่ว นอกเหนือไปจากภาษาอังกฤษที่พูดได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

ชีวิตในวัยหนุ่มของพี่หวันเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความหวังและความฝัน ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร พี่หวันก็แอบหลงรักสาวคนหนึ่งที่พี่หวันเปรียบว่า เธอเป็นเสมือนเทพเจ้าแห่งชีวิตและดวงวิญญาณของถวัลย์ แต่พี่หวันก็อกหักเพราะรักเขาข้างเดียว แม้เวลาจะผ่านไปเป็นเวลานานจนพี่หวันเรียนจบปริญญาเอกกลับมาแล้ว ก็ยังคงเก็บจดหมายรักที่ พี่หวันอุตส่าห์ทำสำเนาไว้ เอาออกมาให้ผู้เขียนดูให้เห็นพยานรักแรกของพี่หวัน แล้วก็พูดติดตลกว่า เธอที่พี่รักนั้นสูงส่งคงไม่อยากจะร่วมนามสกุลดัชนี ที่จริงดัชนีนี้ก็ยังเพราะกว่าดักชะนีเยอะแยะ แล้วพี่หวันก็หัวเราะและบอกว่า นามสกุลของพี่ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษคือดักชะนี เพราะทวดของพี่คือพ่อของปู่เป็นพรานดักชะนี นามสกุลเดิมของพี่จึงเป็นดักชะนี มาเปลี่ยนให้มันเพราะขึ้นเป็นดัชนี ขนาดนี้สาวยังไม่รักเลย...ถ้ายังใช้นามสกุลดักชะนีอยู่จะขนาดไหน แล้วเราสองคนก็หัวเราะกันอย่าง ครื้นเครง

เมื่อรู้จักคุ้นเคยกันมากพอแล้ว วันหนึ่งผู้เขียนก็ชวนไปเที่ยวบ้านที่ขอนแก่น โดยชักชวนให้พี่หวันนำภาพเขียนของพี่หวัน ซึ่งคนปัญญาน้อยอย่างผู้เขียนไม่เคยรู้สึกว่าเป็นงานศิลปะที่ต้องรสนิยมไปเปิดแสดงที่ขอนแก่นด้วย โดยผู้เขียนตั้งใจจะให้พี่หวันนำภาพไปแสดงที่โรงแรมโฆษะ โรงแรมชั้นหนึ่งแห่งแรกของ จ.ขอนแก่น ซึ่งเพิ่งจะเปิดดำเนินการในปี 2511 มีคุณสุพจน์ โฆษะวิสุทธิ์ วิศวกรหนุ่มลูกคหบดีชาวขอนแก่นเป็นผู้บริหาร พี่หวันคงคิดอยากจะไปเที่ยวบ้านของผู้เขียนอยู่แล้ว ก็ตอบตกลงทันทีพร้อมกับบอกว่า พี่ไม่เอางานของพี่ไปแสดงเพียงคนเดียวหรอก พี่จะพ่วงเอางานของประเทือง เอมเจริญ และประพันธ์ ศรีสุตา ไปด้วย

แล้วศิลปินหนุ่มทั้ง 3 คนก็ไปเปิดแสดงงานศิลปะที่โรงแรมโฆษะ เมื่อกลางปี 2512 ผู้ที่มาเปิดงานแสดงในครั้งนั้นคือ ผวจ.ขอนแก่น ชื่อคุณช่วย นนทะนาคร ซึ่งผู้เขียนมาทราบภายหลังว่าเป็นบิดาของคุณดุสิต นนทะนาคร นั่นเอง

พี่หวันมีความสุขสนุกสนานมากกับการไปเปิดการแสดงภาพเขียนที่โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น เพราะนอกจากจะได้รับการต้อนรับและสนับสนุนเป็นอย่างดีจากคุณสุพจน์ โฆษะวิสุทธิ์ เจ้าของโรงแรม ผวจ.ขอนแก่นแล้ว ขณะนั้นศูนย์ประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ ต่างก็ให้ความสำคัญกับงานแสดงศิลปะครั้งนี้ ได้มาทำข่าวและมาสัมภาษณ์เจ้าของงานศิลปะกันเป็นการใหญ่ ทำให้อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและใกล้เคียงพากันมาชมภาพเขียนที่นำไปจัดแสดงทุกวัน บางวันนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นคุยกับพี่หวันไม่จุใจที่โรงแรมโฆษะ ก็ขอไปคุยต่อที่บ้านของผู้เขียนที่ อ.น้ำพอง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 50 กิโลเมตร

พี่หวันชอบบรรยากาศของบ้านในโรงงานอัดปอของพ่อผู้เขียน ที่มีบริเวณกว้างขวางในพื้นที่ 13 ไร่กว่า ล้อมรอบด้วยต้นมะม่วงนานาพรรณที่ปลูกเรียงรายแทนรั้วบ้านและโรงงานประมาณ 40 กว่าต้น แล้วยังมีต้นมะพร้าวและไม้อื่นๆ ขึ้นอยู่รอบบ้าน ลักษณะของบ้านเป็นบ้านไม้ มี 3 ห้องนอน มีระเบียงกว้างขวางที่พี่หวันประทับใจมากที่สุด คือ เตียงนอนในบ้านนั้นทุกห้องปูด้วยหนังวัวทั้งตัวที่ฟอกแล้วแทนผ้าปูที่นอน ซึ่งนอนสบายมากหากอากาศร้อน ที่สำคัญโรงงานอัดปอนี้อยู่ติดกับท้องนาชาวบ้านที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ให้บรรยากาศความเป็นธรรมชาติที่สดชื่นงดงามทั้งในยามเช้าและเย็น พี่หวันและเพื่อนศิลปิน 2 คน จึงสมัครใจอยู่บ้านในโรงงานอัดปอมากกว่าที่จะไปพักที่โรงแรมในเมืองที่ใกล้สถานที่จัดแสดงงาน เพราะรู้สึกสุขสบายมากกว่า

 ในปี 2512 มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพิ่งเปิดการศึกษาอยู่เพียง 3 คณะ คือ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเกษตรศาสตร์ ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่แสดงงานศิลปะที่โรงแรมโฆษะ และอยู่ต่อที่บ้านในโรงงานอัดปอของพ่อผู้เขียนอีก 1 เดือนนั้น อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเฉพาะจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะไปร่วมคุยสนุกสรวลเสเฮฮากับพี่หวันเป็นประจำเกือบทุกวัน บุคคลที่พี่หวันจำได้แม่นยำและยังถามถึงเสมอ คือ นักศึกษาวิศวะที่ชื่อ พิลาศพงษ์ ทรัพย์เสริมศรี ที่ไปเล่นกีตาร์กับพี่หวันจนรู้จักรักใคร่คุ้นเคยกัน พี่หวันเป็นคนเล่นกีตาร์เก่งและร้องเพลงเพราะมาก ทั้งเพลงไทยและเพลงฝรั่ง ทุกเช้าเมื่อผู้เขียนหิ้วปาท่องโก๋จากบ้านของผู้เขียนในตลาด (น้ำพอง) ไปให้พี่หวันเพื่อกินกับกาแฟ หรือชา-โอวัลติน จะเห็น พี่หวันตื่นขึ้นมาเล่นกีตาร์ที่ระเบียงบ้าน บางวันก็เล่นพิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีของทางเหนือ ที่พี่หวันบอกว่าเป็นเครื่องดนตรีแห่งหัวใจ เพราะเวลาเล่นพิณเปี๊ยะจะต้องเอาขึ้นมาแนบกับหัวใจ เสียงดนตรีจากพิณเปี๊ยะจึงเป็นดนตรีที่ออกมาจากหัวใจของคนเล่นอย่างแท้จริง และพี่หวันก็เล่นพิณเปี๊ยะได้ไพเราะจริงๆ

เช้าวันหนึ่งเมื่อผู้เขียนไปถึงบ้านที่พี่หวันอยู่ พี่หวันออกมายืนตรงระเบียงมองดูพระอาทิตย์ยามเช้า แล้วพี่หวันก็เปล่งเสียงอันหนักแน่นแต่นุ่มลึก ร่ายบทกวีขอบฟ้าขลิบทองของอุเชนีให้ทุกคนฟัง ผู้เขียนรู้สึกว่ายังไม่เคยได้ยินใครร่ายบทกวีขอบฟ้าขลิบทองได้เข้ากับบรรยากาศธรรมชาติได้มาก เท่านั้น พระอาทิตย์ยามเช้ากับทุ่งนาเขียวขจีกับ บทกวีที่ว่า

เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น
เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูเขา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา
เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ

มันงดงามจริงๆ และความเป็นถวัลย์ ดัชนี ที่ผู้เขียนไม่เคยลืมก็คือ เย็นวันหนึ่งเมื่อพี่หวันกลับจากงานแสดงภาพเขียนที่ในเมืองมาถึงบ้าน พี่หวันบอกผู้เขียนว่าเห็นเด็กเล็กๆ เลิกจากโรงเรียนเดินผ่านรั้วบ้านไป อยากชวนเด็กๆ พวกนั้นมาเล่นร้องเพลงแล้วพี่หวันจะเล่นพิณเปี๊ยะ ใครมาเล่นร้องเพลงกับพี่หวันได้ พี่หวันจะให้เงินคนละสลึง ผู้เขียนจึงให้คนไปเกณฑ์เด็กๆ ลูกชาวบ้านแถวนั้นมาได้เกือบ 20 คน อยู่ในวัย 5-10 ขวบ แล้วเด็กก็มาเล่นร้องเพลงสนุกกับพี่หวัน เมื่อแจกเด็กตามสัญญาแล้ว พี่หวันก็ลุกไปหยิบกีตาร์มานั่งร้องเพลง As tears go by ท่อนที่บอกว่า

It is the evening of the day
I sit and watch the children play
Smiling faces I can see
But not for me
I sit and watch
As tears go by.

ผู้เขียนรู้สึกว่าพี่หวันร้องเพลงนี้ออกจากใจที่อ่อนโยนอ่อนหวาน บ่งบอกถึงความเป็นศิลปินผู้มีสุนทรีย์ในทุกสิ่งที่รอบตัว แม้การแสดงภายนอกในบางครั้งจะดูแข็งกร้าวไม่ถูกใจคน แต่เนื้อแท้แล้ว พี่หวันเป็นศิลปินทั้งชีวิตและจิตวิญญาณ

เมื่อเสร็จจากงานการแสดงภาพเขียนที่ขอนแก่น พี่หวันก็กลับมาทำงานต่อที่กรุงเทพฯ เราก็ยังได้พบปะพูดคุยกันเสมอ จนวันหนึ่งพี่หวันก็ แนะนำให้รู้จักแอร์โฮสเตสสาวสวยชาวมาเลเซีย ซึ่งต่อมาก็คือแม่ของลูกของพี่หวัน ชื่อมาร์กาเร็ต พี่หวันเรียกว่า แม๊กกี้

ในปี 2514 พี่หวันได้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างหนักจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อมีเด็ก นักเรียนกลุ่มหนึ่งเข้าไปกรีดทำลายรูปเขียนขนาดใหญ่หลายรูปที่จัดแสดงอยู่ ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ด้วยเหตุผลของการกรีดทำลายนั้นว่า งานของพี่หวันหมิ่นพระพุทธศาสนา โดยที่เด็กเหล่านั้นไม่เคยรู้เลยว่าพี่หวันเป็นศิลปินผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาปรัชญาพระพุทธศาสนาลึกซึ้งเพียงใด ภาพเขียนเหล่านั้นหากได้ฟังคำอธิบายจากพี่หวัน ก็จะรู้ได้ว่าภาพเหล่านั้นได้แฝงปรัชญาทางพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง

หลังจากเหตุการณ์นั้น ทำให้พี่หวันเลิกแสดงงานศิลปะในประเทศไทยอีกหลายปี หากแต่ได้ใช้เวลาทั้งหมดเดินทางไปหาประสบการณ์และถ่ายทอดศิลปะไทยและจิตวิญญาณตะวันออกในต่างประเทศอยู่เสมอ พี่หวันมีโอกาสได้ไปฝากผลงานศิลปะไว้ในหลายแห่งของโลก ผลงานบางส่วนได้เขียนไว้ที่ปราสาท 500 ห้อง ที่ประเทศเยอรมนี ชื่อปราสาทกอททอฟ (Gottorf Castle) ซึ่งพี่หวันบอกว่าเจ้าของปราสาทเขาเซ็นเช็คมาให้พี่กรอก ตัวเลขเอาเองว่าพี่จะคิดค่าเขียนรูปในปราสาทนั้นเป็นเงินเท่าไหร่ก็ตามใจ

พี่หวันใช้เวลาเกือบ 30 ปี ในการสร้างสรรค์ศิลปะจนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก เมื่อมีบรรดา มหาเศรษฐีของไทยเริ่มให้ความสนใจในงานศิลปะของพี่หวันกว้างขวางมากขึ้น มีการเก็บสะสมผลงานของพี่หวันในรูปแบบต่างๆ มากมาย พี่หวันจึงกลายเป็นศิลปินใหญ่ที่สังคมไทยให้การยอมรับ จนได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2544

หลังจากประสบความสำเร็จในงานรังสรรค์ศิลปะที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลกแล้ว พี่หวันก็กลับบ้านที่เชียงราย ไปอยู่ที่บ้านนางแล สร้างหมู่บ้าน ดำอันเป็นศิลปะเฉพาะตัวของถวัลย์ ดัชนี ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะถวัลย์ ดัชนี จำนวน 42 หลัง พี่หวันบอกว่าบ้านดำที่นางแลพี่จะไม่ยก ให้เป็นสมบัติของใคร พี่จะยกให้เป็นของโลก ของมวลมนุษยชาติ ทุกวันนี้บ้านดำของถวัลย์ ดัชนี ยังคงเป็นศูนย์ศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของเชียงรายที่เปิดให้ทุกคนเข้าชมฟรี และมีผู้สนใจเข้าชมไม่น้อยเลยทุกๆ วัน

เมื่อพี่หวันจากไปโดยไม่มีพินัยกรรม แน่นอนว่าทรัพย์สมบัติทุกชิ้นของพี่หวันต้องเป็นของลูกชายคนเดียวของพี่หวัน คือ ม่องต้อย หรือดอยธิเบศร์ ดัชนี ลูกชายที่พี่หวันรักดั่งดวงใจ และม่องต้อยเองก็ได้เขียนเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงพ่อ ความตอนหนึ่งว่า "... พ่อจะไม่ไปไหน พ่อจากไปแต่เพียงร่างกาย แต่ผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณและลมหายใจที่พ่อสร้างทิ้งไว้จะเป็นอมตะตลอดกาล พ่อคือผู้สร้างและลูกคือผู้รักษา ...

"พ่อคือผู้สร้างและลูกคือผู้รักษา ก็หวังว่าม่องต้อยจะยึดมั่นในทุกสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาจากใจให้กับพ่อผู้ล่วงลับไปแล้ว และจะเก็บรักษาบ้านดำที่นางแลไว้เป็นมรดกของโลก ของมวลมนุษยชาติ ตามเจตนารมณ์ของพ่อศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในใจของคนไทยและโลก ถวัลย์ ดัชนี"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คิดถึง ถวัลย์ ดัชนี

view