สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้คอร์รัปชันไม่มีวันหน้า ต้องทำให้สำเร็จในวันนี้

แก้คอร์รัปชันไม่มีวันหน้า ต้องทำให้สำเร็จในวันนี้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"ประยุทธ์" ลั่นแก้คอร์รัปชันไม่มีวันหน้า ต้องทำให้สำเร็จในวันนี้

องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2557 "HAND IN HAND"...ปฏิรูปการต่อสู้ เพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน" เมื่อวานนี้ (6 ก.ย.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปาฐกถาในพิธีเปิด "กรุงเทพธุรกิจ" สรุปใจความสำคัญมานำเสนอ

"ปีนี้เป็นปีแห่งการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งทั้งรัฐบาล และ คสช.ให้ความสำคัญ และกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในทุกหัวข้อของการปฏิรูป ถือเป็นวาระแห่งชาติและเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูปประเทศอย่างที่คนไทยทุกคนต้องการ

การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม ซึ่งนับวันจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย หากปล่อยไว้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศ ความเป็นอยู่ของสังคม อีกทั้งเป็นการสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับเด็กและเยาวชน จึงต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนให้เป็นผลรูปธรรม โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

วันนี้ต้องสร้างระบบให้เข้มแข็งให้ได้โดยเร็ว ระบบราชการ ข้าราชการทุกคนต้องนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการปฏิบัติงาน ขั้นตอนการดำเนินการต้องมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ ไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นอกจากนี้จะต้องเริ่มด้วยการปลูกจิตสำนึกคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี ถ้าทุกคนรู้อะไรดี ไม่ดี จะลดปัญหาไปได้ในระดับหนึ่งจากนั้นก็สร้างองค์กรที่ดีมีจริยธรรม และนำคุณธรรมมาปฏิบัติให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ต้องเปลี่ยนจากการเมินเฉยในการทุจริตคอร์รัปชัน ให้มีความตื่นตัวให้มากขึ้น และไม่ยอมรับ มีการต่อต้านอย่างจริงจังโดยสันติวิธี ไม่ใช่เป็นการสร้างความขัดแย้ง

ภารกิจการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันนั้นมีหลายขั้นตอน โดยขั้นตอนแรก คือ นำแต่ละเรื่องที่เป็นปัญหา หรือเรื่องที่จะต้องทำก่อน มาทำให้จริง ทำให้เร็ว ต้องมีผลสัมฤทธิ์โดยเร็วทันที

หลังจากนั้นอะไรที่ต้องทำอย่างยั่งยืน อะไรก็ตามที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยเร็ว ก็ส่งต่อให้รัฐบาลหรือใครก็แล้วแต่ที่เข้ามาดูแลบ้านเมืองปฏิบัติต่อไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ฉะนั้นอย่ากังวลว่าทำแล้วจะทิ้งไว้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคนว่าจะช่วยกันอย่างไรต่อไปในอนาคต

หากเราสามารถนำงบประมาณแผ่นดินที่ต้องสูญเสียไปกับการทุจริตคอร์รัปชันมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เราจะพร้อมที่จะก้าวหน้าไปได้รวดเร็ว บางประเทศใช้เวลาไม่ถึง 6 ปีในการยกระดับประเทศ แต่บางประเทศน้อยกว่านั้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีอนาคตว่าจะกี่ปี เราจะต้องยกระดับกลางไประดับบนให้ได้

ส่วนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง คือ เราจะต้องดูกลไกต่างประเทศด้วย วันนี้เราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลก ไม่ว่าจะเข้มแข็งอย่างไร จะมีทรัพยากรมากเพียงใด หรือเก่งขนาดไหน เราไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกได้ อะไรก็ตามคิดแบบไทย อาจจะต้องเอาภายนอกมาร่วมด้วย ทำอย่างไรให้คนไทยปรับเปลี่ยนแนวคิดแนวทางของโลกตะวันตกให้เข้ากับสังคมไทย กับคนไทยที่น่ารัก

การดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุมีผล ถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่จะต้องเดินไปข้างหน้าให้ได้ เมื่อเข้มแข็งเพียงพอ คนไทยต้องพัฒนาตัวเอง ถ้าทุกคนไม่เรียนรู้ก็จะถูกชักนำชักพาไปในทางดีบ้างไม่ดีบ้าง นั่นแหละคือการทุจริตคอร์รัปชันโดยที่ไม่รู้ตัว

จะทำอย่างไรให้มีความเพียงพอในการดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติยศและศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ หรือพ่อค้า ต้องสร้างความเข้าใจ ตราบใดมีคนยากจนอยู่ก็จะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฉะนั้นต้องไปดูเรื่องการศึกษาว่าจะต้องทำอย่างไร

สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการจัดการคอร์รัปชันให้ได้ในอนาคต จะพูดเรื่องคอร์รัปชันอย่างเดียวย่อมไม่ได้ ดังนั้นจะต้องสร้างให้ทุกคนอยู่ดีกินดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถใช้ระยะเวลาอันสั้นทำเรื่องนี้ได้ ต้องให้ทุกภาคส่วนทำความเข้าใจ

สำหรับการแก้ปัญหาประเทศทั้ง 11 ด้านตามที่กำหนดกรอบการปฏิรูปเอาไว้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันทั้งสิ้น ต้องกำหนดเป็นหัวข้อย่อยในหน่วยงานของท่านว่าจะไปแก้ไขกันอย่างไร การแก้ไขมี 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ผู้ปฏิบัติ ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัจจัยภายนอกและองค์กรต่างๆ ระหว่างประเทศ

ถ้าประเทศไทยมีเสถียรภาพ เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะเป็นมหาอำนาจได้อย่างแน่นอน คนไทยมีคนมีความรู้มากมาย แต่ปัญหาคือทุกคนเป็นคนเก่ง แต่รวมกันเก่งไม่ได้ เคยเรียกมา 20-30 คนมาคุยกัน ก็ไม่มีข้อสรุป เพราะไม่มีใครยอมใคร

ฉะนั้นต่อจากนี้การประชุมสัมมนาต่างๆ ต้องมีผลสัมฤทธิ์ออกมาว่าจะทำอย่างไร หาตัวกำหนดชี้วัดให้ชัดเจน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากำหนดไว้แล้ว วันนี้ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ทำให้เร็ว ต้องรีบนำพาประเทศชาติให้พ้นจากความขัดแย้ง จากนั้นก็ทำให้เกิดความยั่งยืน

กฎหมายจะเป็นตัวทำให้สังคมสันติสุข กฎหมายไม่ได้เอื้อให้ทำร้ายใคร อย่าให้คนรู้สึกแบบนั้น อดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาในเรื่องกฎหมาย แต่ระยะไม่กี่ปีกฎหมายทำให้เกิดปัญหามากมาย วันนี้จะต้องรีบคิดพิจารณาอย่างมีเหตุมีผลว่าอะไรจะควรเดินไปอย่างไร เพื่อให้เกิดการยอมรับ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในภาคตุลาการ

ประเทศไทยเดินด้วยอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทั้ง 3 อำนาจเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นใครก็ตามที่เอาพระราชอำนาจที่พระราชทานแล้วไปใช้ในทางที่ผิด คนเหล่านั้นไม่เจริญ

แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ ท่านได้ต่อสู้สร้างแผ่นดินนี้ไว้ให้กับลูกหลานคนไทย วันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมต่างๆ เราจะต้องกลับเข้ามาสู่การเป็นวัฒนธรรมของคนไทยที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

สำหรับการแก้ปัญหาคอร์รัปชันนั้น ไม่ได้แก้โดยฝ่ายรัฐฝ่ายเดียว แต่จะต้องร่วมมือทุกภาคส่วน รัฐบาลในฐานะกำกับนโยบายก็ต้องมีหน่วยงานที่จะต้องขับเคลื่อน ต้องทำงานตามกรอบงบประมาณรายจ่าย ขณะเดียวกันส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนหรือระเบียบวิธีการที่จะต้องเอื้อให้กับฝ่ายเอกชน การลงทุนต่างๆ ก็ต้องทำให้สามารถเดินไปข้างหน้าให้ได้

วันนี้เข้ามาในนาม คสช.ประมาณ 4 เดือน แม้จะเป็นทหารส่วนใหญ่ เราก็จะต้องพัฒนา อย่ากังวลว่าจะรู้เรื่องเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะเราทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่จำเป็นต้องรักษาฐานเสียงที่ไหน

บางคนบอกว่าควบคุมอำนาจแล้วทำอะไรก็ได้ จริงๆ ไม่ใช่ เป้าหมายของการควบคุมอำนาจคือมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่จะไม่ไปก้าวล่วง จะถามว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ไหน จะแก้ไขอย่างไร นั่นคือการควบคุมอำนาจ ไม่ได้ควบคุมอำนาจมุ่งหวังประโยชน์เอามาให้ตนเองหรือ คสช.

ผมไม่ได้มุ่งหวังให้จะต้องมีการปฏิรูปกันใหม่ในปี 58, 59 หรือ 2560 ผมว่ามันช้าเกินไปแล้วแบบนั้น ผมเห็นว่าต่างประเทศเขาเลยหน้าเราไปแล้ว และเขาคอยดูเราอยู่ ขณะนี้ทุกประเทศในโลกมีความขัดแย้งเหมือนกันหมด บางประเทศสู้รบมากกว่าเรา ฉะนั้นเขาต้องยอมรับเราด้วย แต่เมื่อต่างประเทศเขาแก้ปัญหาเรียบร้อย แซงหน้าเราไปหมดแล้ว เราต้องขอโทษเพราะเราทำช้ากว่า คืออาจจะช้าไปสักร้อยปี เพราะฉะนั้นวันนี้ไม่มีเวลาอีกแล้ว อย่าคิดว่าจะมีวันหน้า มีครั้งนี้ก็ต้องทำให้สำเร็จ


ชู'5ปัจจัย'แก้คอร์รัปชัน

"ประยุทธ์"ห่วงใช้กฎหมายทำร้ายกัน-"บัณฑิต"เผยบทเรียนโลก "วีระศักดิ์"แนะเปิดแนวรบโซเชียลมีเดียสู้ทุจริต

งานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2557 สุดคึก ทุกภาคส่วนรวมทั้งราชการ เอกชน ประชาชนร่วมประสานมือประกาศจุดยืน "ไม่เอาคอร์รัปชัน" นายกฯประยุทธ์ ห่วงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเพื่อทำร้ายกัน ย้ำต้องปรับทิศทางเพื่อให้เกิดการยอมรับและความเข้มแข็งในภาคตุลาการ ขณะที่ "บัณฑิต นิจถาวร" ถอดบทเรียนโลกกับ 5 ปัจจัยสู้โกง ภาคธุรกิจต้องมีธรรมาภิบาล ภาคสังคมต้องตื่นตัว

วานนี้ (6 ก.ย.) ภาคีเครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ร่วมกันจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2557 ในหัวข้อ "HAND IN HAND…ปฏิรูปการต่อสู้ เพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน" ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

ทั้งนี้ บรรยากาศของงานเป็นไปอย่างคึกคัก ในช่วงเช้ามีตัวแทนจากภาคราชการ เอกชน และประชาชน ออกมารวมพลังที่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อถ่ายภาพ "HAND IN HAND ปฏิรูปการต่อสู้เพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน" และกล่าวคำปฏิญาณตนร่วมกันปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาการทุจริต โดยมี นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นำเดินขบวนจากลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ไปยังโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ

โอกาสนี้ผู้ที่เดินในขบวนได้พร้อมใจกันสวมเสื้อรูปมือไขว้กัน พร้อมกับคำว่า "HAND IN HAND" โดยตลอดการเดินมีการตะโกนว่า "คอร์รัปชันออกไป" เสียงดังกึกก้อง

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถามีเนื้อหาเน้นย้ำถึงจุดยืนของ คสช.และรัฐบาลในการปราบปรามคอร์รัปชัน โดยต้องทำทันที รอไม่ได้อีกแล้ว และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า คนไทยไม่ใช่คนน่ารังเกียจ คนไทยรักกันง่าย เกลียดง่าย ใจอ่อน ถ้าเกลียดกันก็เกลียดกันจนตาย ดังนั้นจะต้องมีหลักการ กฎหมายคือกฎหมาย โดยกฎหมายจะเป็นตัวทำให้สังคมสันติสุข กฎหมายไม่ได้เอื้อให้ทำร้ายใคร อย่าให้คนรู้สึกแบบนั้น

"อดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาในเรื่องกฎหมาย แต่ระยะไม่กี่ปีมานี้ กฎหมายทำให้เกิดปัญหามากมาย ฉะนั้นวันนี้จะต้องรีบคิดพิจารณาอย่างมีเหตุมีผลว่าอะไรจะควรเดินไปอย่างไร เพื่อให้เกิดการยอมรับ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในภาคตุลาการ"

"เอกชน-ราชการ"จับมือปราบโกง

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวว่า เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นผู้ที่ตั้งใจแน่วแน่ในการขจัดการทุจริตในประเทศ ทั้งนี้ ไทยกำลังก้าวสู่การต่อสู้กับการทุจริตอย่างเต็มตัว ดังนั้นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจึงมุ่งเน้นที่การปรองดองสมานฉันท์ของภาคธุรกิจและภาคราชการ เนื่องจากทั้งสองส่วนมีบทบาทอย่างมากที่จะช่วยป้องกันการทุจริตได้อย่างตรงจุดและได้ผลที่สุด

ต่อมาในช่วงบ่าย ได้มีการเปิดเวทีสัมมนาย่อย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.การปฏิรูปการเลือกผู้แทนราษฎร 2.การปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ และ 3.การเสวนาหาแนวทางใหม่เพื่อการต่อสู้คอร์รัปชัน

เสนอแยกคอร์รัปชันจาก11ด้านปฏิรูป

นายมานะ นิมิตมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวว่า การมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อปฏิรูป 11 ด้าน แต่ไม่มีการตั้งคณะแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นการเฉพาะนั้น องค์กรฯเห็นว่าควรแยกเรื่องคอร์รัปชันเป็นอีกคณะหนึ่งเพื่อความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ดี เมื่อ คสช.กำหนดสาขาต่างๆ ของการปฏิรูปเช่นนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯก็ได้ส่งตัวแทนเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. 2 คน คือ นายประมนต์ อยู่ด้านบริหารราชการแผ่นดิน และตนเองเสนอเข้ารับการสรรหาด้านปฏิรูปการเมือง

3สาเหตุเอกชนร่วมคอร์รัปชัน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนเป็นข้อต่อสำคัญของปัญหาคอร์รัปชันด้วยสาเหตุ 3 ประการ คือ 1.ความไม่สะดวกสบายของการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่ควรจะได้ 2.มีเจตนาทุจริตเพื่อให้ตัวเองได้ผลประโยชน์ และ 3.อยากประมูลได้งานของภาครัฐ

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ต้องอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาตต่างๆ ให้กับภาคเอกชน ปรับปรุงกระบวนการทำงานของภาครัฐให้มีความโปร่งใส และปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้มีการลงโทษที่จริงจัง ส่วนประชาชนสามารถมีส่วนในการขจัดคอร์รัปชันได้ด้วยการสนับสนุนสินค้าและบริการจากธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล

ข้าราชการข้อต่อสำคัญการทุจริต

ด้าน นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ในอดีตเคยมองว่าการคอร์รัปชันเล็กน้อยสามารถทำได้ เพื่อให้ระบบต่างๆ ลื่นไหล แต่ความคิดนี้ล้าสมัยไปแล้ว

นายถวิล กล่าวว่า คำว่าเล็กน้อยวัดได้ยาก คำจำกัดความแต่ละคนก็ต่างกันไป โดยผลสำรวจในขณะนี้พบว่ามีผู้ประกอบการกว่า 40% ที่ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ และจำนวนเงินอยู่ในสัดส่วนตั้งแต่ 25-50% ของมูลค่าโครงการ

"ข้อต่อที่สำคัญของการคอร์รัปชัน คือ ข้าราชการ เพราะว่ามีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาออกใบอนุญาตต่างๆ และเป็นการพิจารณาโดยการใช้ดุลยพินิจ ถ้ายิ่งยอมอยู่ใต้อำนาจนักการเมืองขี้โกงแล้ว ก็จะเป็นเหมือนการพาโจรมาปล้นบ้าน ส่วนข้าราชการที่ไม่คอร์รัปชันก็อยู่ไม่ได้ ถูกรังแก" นายถวิล กล่าว

จี้ภาคประชาสังคมมีบทบาทมากขึ้น

ในวงเสวนาหัวข้อ "หาแนวทางใหม่เพื่อการต่อสู้คอร์รัปชัน" นั้น นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ในสังคมต้องลุกขึ้นมาเป็นตัวอย่างที่ดีและให้กำลังใจกับเด็กหรือเยาวชน เรามีคนที่ทำดีอยู่เยอะ แต่จะทำอย่างไรให้จับมือกันและเรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกันให้ได้ เราไม่ได้มีงบเยอะ และไม่ได้มีคนเยอะ ดังนั้นเราอย่าหวังที่จะทำเพื่อตนเอง แต่ขอให้หวังทำเพื่อสังคม โดยให้ประเทศไทยคือเป้าหมายของทุกคน

หลายอย่างไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ แต่เราต้องเริ่มจากการจับมือกันและกัน เพื่อเป็นพลังที่จะก้าวต่อไป เรามีแนวทางกันอยู่ แต่หากเราทำกันมากขึ้น ก็จะทำให้เราไปสู่ประเทศไทยที่ขาวสะอาด ขณะที่นวัตกรรมคอร์รัปชันไม่มีที่สิ้นสุด ไล่ไม่ทัน เราต้องไล่ไปเรื่อยๆ สิ่งที่เริ่มต้นจะต้องเริ่มที่คน สร้างคนให้ต้านทานความรู้สึกอยากให้ได้ น่าจะดีที่สุด

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องคอร์รัปชันคงไม่ได้หยุดแค่นำนักการเมืองมาลงโทษ หรือทำให้เห็นว่าคนที่มีอำนาจล้นฟ้าก็ยังไม่สามารถทำอะไรตามใจตนเองได้ทุกอย่างเท่านั้น แต่ต้องทำให้สังคมไทยมีฐานมีวัฒนธรรมไม่คอร์รัปชัน

ดังนั้นต้องสร้างค่านิยมที่ดี และรักความถูกต้อง โดยให้ทุกคนในสังคมเข้ามีบทบาทในการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น ต้องให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทมากกว่านี้ โดยเฉพาะการสร้างคนดีให้อยู่ในสังคม

"สื่อใหม่"คู่"ความดี"แก้คอร์รัปชันได้

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องของการจัดการคอร์รัปชันนั้น กระบวนการข่าวสารที่โปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญ จึงขอฝากสื่อมวลชนที่ขณะนี้มีสื่อเป็นจำนวนมาก หากมองว่าภาคประชาชนมีสิทธิที่จะเสนอข้อมูลข่าวสารออกไปได้ด้วยก็จะได้สิ่งใหม่ๆ

เขาบอกว่า คนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจ คนที่มีแค่มือถือราคาไม่แพง แต่สามารถอัปเดตข้อมูลข่าวสารได้ จึงน่าจะเป็นวิธีใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้

"เรามีระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีการสกัดกั้นข้อมูลข่าวสารใครได้เหมือนในอดีตอีกแล้ว เพราะฉะนั้นใช้เทคโนโลยีควบกับความดี เราก็จะได้อะไรอีกเยอะ" นายวีระศักดิ์ กล่าว

เตือนระวังคอร์รัปชันที่ไม่ใช้เงิน

ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ นักวิชาการจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราพบคอร์รัปชันแนวใหม่ทุกวัน เนื่องจากมี non cash คอร์รัปชัน (คอร์รัปชันที่ไม่ต้องใช้เงิน) ซึ่งวันนี้เราไล่ตามจำนวนเงินอาจจะไม่เจออะไรก็ได้ แต่อยากให้ทุกคนระวังไว้ และให้สังคมไทยช่วยกันจับตา เพราะคอร์รัปชันอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่เกี่ยวกับการเป็นเพื่อนกัน สนิทกัน แล้วเราจะให้หรือไม่ก็ได้

"บัณฑิต"ชู 5 ปัจจัยแก้ทุจริตยั่งยืน

นายบัณฑิต นิจถาวร ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) กล่าวในการเสวนาเรื่อง "การปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity Pact)" การคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข และหลายประเทศก็แก้ไขได้สำเร็จ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ หรือไต้หวันก็ทำได้มาแล้ว

โดยประเทศต่างๆ ข้างต้นทำเหมือนกัน 5 เรื่อง คือ 1.กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย 2.นโยบายเศรษฐกิจต้องเอื้อต่อการแข่งขันเสรี ไม่ใช่ผูกขาด 3.กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องตรวจสอบได้ โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ 4.ธุรกิจต้องมีธรรมาภิบาล และ 5.ประชาชนพร้อมใจใช้สิทธิ ไม่เห็นด้วยต่อการคอร์รัปชัน

ในส่วนของการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ทำได้ด้วยการนำวิธีการของต่างประเทศที่ใช้แล้วได้ผล นำมาปรับใช้ในไทย แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครนำมาใช้ เพราะจะทำให้การคอร์รัปชันแบบเก่าทำได้ยาก ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไข

ทั้งนี้ระบบในต่างประเทศที่ใช้ได้ผลนั้น จะแก้ไขใน 2 เรื่อง คือ 1.ทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายว่าการจัดซื้อจัดจ้างนั้นมาได้อย่างไร ทำให้ประชาชนพร้อมที่จะออกมาต่อต้านเมื่อพบเห็นความไม่ถูกต้อง และ 2.ให้บุคคลที่สาม หรือภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้าง สามารถยื่นมือคัดค้านได้หากพบว่าไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยให้มีแค่ผู้ซื้อกับผู้ขายเท่านั้น

"ทั่วโลกที่ใช้ระบบนี้ จะมีการให้ข้อมูลกับสาธารณะตลอดเวลา เป็นความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ รวมทั้งทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ฉะนั้นระบบที่ดีมีอยู่แล้ว เพียงแต่ไทยไม่ได้เอาเข้ามาใช้เท่านั้นเอง"

ขณะที่ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า ต้องมีกฎหมายพิเศษขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหาเป็นการเฉพาะ เพราะถ้ายังใช้แนวทางของกฎหมายอาญาปกติ ก็ยากที่จะนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ และใช้เวลานาน ซึ่งจะทำให้คนโกงไม่กลัวเกรง การป้องปรามก็ทำไม่ได้

แนวทางหนึ่งของคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 69/2557 (มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ) ถือเป็นเรื่องที่ดี และน่าจะมีการปรับใช้เป็นกฎหมายได้ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานของ ป.ป.ท.มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย จากเดิมที่ต้องไปดูข้าราชการทั้งหมด 2.6 ล้านคน ก็เหลือแค่ดูหัวหน้าส่วนราชการ 418 คน ให้คน 418 คนลงไปดูคนของตัวเอง 2.6 ล้านคน งานก็ลดไปมาก เพราะการคอร์รัปชั่นถือเป็นความผิดทางวินัย ผู้บังคับบัญชาสามารถเอาผิดได้เลย ไม่ต้องไปรอกระบวนการสอบสวนตามแนวทางเดิมอยู่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้คอร์รัปชัน ไม่มีวันหน้า ต้องทำให้สำเร็จ ในวันนี้

view